Creative Economy ของรัฐบาลไทย กับ Creative Park University ของมหาวิทยาลัยโยนก

Creative Economy  ของรัฐบาลไทย กับ Creative Park University   ของมหาวิทยาลัยโยนก

          นับว่าเป็นก้าวใหม่ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง    ที่มหาวิทยาลัยโยนกของเรากำลังกำหนดตำแหน่งครองตลาดของเราใหม่เป็น  Creative Park University  ผมจะขออนุญาตใช้ความรู้ภาษาอังกฤษแบบงู ๆ ปลา ๆ ที่สำเนียงเป็นไทยของผมแบบที่เขาเรียกกันว่า “ Tinglish” อย่างที่อาจารย์สอนภาษาอังกฤษตอนเด็กๆ  ของผมบอก โดยแปลเอาเองว่า  “อุทยานการศึกษาแห่งการสร้างสรรค์”  และจะเรียกอย่างนี้เรื่อยไปจนกว่าจะมีชื่อเป็นทางการออกมา   เราคงจะต้องคอยรอดูว่า  กลยุทธ์ และ แผนการปฏิบัติการที่จะเป็น Creative Park University  นั้นต้องทำอย่างไร ? และพวกเราทุกคนต้องช่วยกันคนละไม้ละมืออย่างสุดกำลังความสามารถอย่างไร ? แต่ในตอนนี้ผมคิดว่าหลาย ๆ ท่านที่ยังจับต้นชนปลายไม่ถูกว่าทำไมผมเอาไปเกี่ยวพันกับนโยบาย Creative Economy  ของรัฐบาลได้อย่างไร   ก่อนอื่นก็อยากจะปูพื้นฐานก่อนว่าขณะนี้ในวงราชการ คำว่า  “Creative”  กำลังเป็นคำ  Top Hit  ในยุครัฐบาลของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพราะตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2552 เป็นต้นมารัฐบาลประกาศเป็นวัน Kick Off เริ่มเดินเครื่อง  ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy)   ของประเทศ  โดยรัฐบาลได้ประกาศพันธสัญญา (Commitment) 12 ข้อและกำหนด เป้าหมายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศโดยโมเดลใหม่คือระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์นี้ มี   2 เป้าหมาย   คือ จะสร้างให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง (Hub) ของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในภูมิภาคอาเชียน (Asean) และ จะเพิ่ม GDP ของประเทศเฉพาะในอุตสาหกรรมประเภทขายการสร้างสรรค์ที่ยังเติบโตอยู่ในขณะนี้จากระดับ 10 % ไปให้ถึง 20 %  ภายใน 3 ปีนับจากวันที่ประกาศพันธสัญญา  โดยตกลงจะทุ่มงบประมาณใส่เข้าไปถึง 20,000 ล้านบาท เริ่มจากปีงบประมาณ 2553    จะเป็นการสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ให้ประเทศไทยโดยให้  สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติบรรจุนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์  เป็นแกนหลักของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11   และรัฐบาลชุดนี้จะเริ่มลงมือดำเนินการทันทีโดยให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการร่วมกันกำหนดให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและกระจัดกระจายอยู่ตามหน่วยงานต่าง ๆ  มาอยู่ในโครงสร้างเดียวกันจัดตั้งเป็นสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์โดยการตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง และปูทางให้เปลี่ยนเป็นองค์กรมหาชนในอีกสองปีข้างหน้าเพื่อสามารถทำงานต่อเนื่องตลอดไปไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนรัฐบาลหรือไม่   ภายใต้โครงสร้างเดียวกันการทำงานจะเป็นเอกภาพและสอดคล้องกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ จนบรรลุผลตามพันธสัญญา 12 ข้อของรัฐบาลที่ประกาศไว้   โดยกำหนดจะให้การรวมโครงสร้างหน่วยงานนี้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือนนับจากวันประกาศ   และจะร่วมมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติกับภาคีภาคเอกชน เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งชาติภายใต้หลักการของ  Public Private Partnership (PPP)   นายอลงกร  พลบุตร  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์  แกนหลักของนโยบายนี้ประกาศว่าจะพยายามเตรียมการทุกอย่างให้เสร็จก่อนภายในสิ้นปี 2552

          เกริ่นนำมาพอสมควรแล้ว   ผมจะขอผ่านรายละเอียดเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างอื่น ๆ ไปก่อน  เพราะมิเช่นนั้นจะเป็นเรื่องยาว ขอเก็บเอาส่วนของ 12  พันธสัญญาของรัฐบาล  ขอเอาส่วนของ 15 สาขาอุตสาหกรรมที่จัดเป็นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์  รวมทั้งโครงสร้างการบริหารจัดการและกำหนดนโยบายเอาไว้ก่อน  ค่อยเล่าสู่กันฟังวันหลัง    วันนี้ขอเอาเฉพาะส่วนของโครงสร้างการปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับการศึกษามาเล่าสู่กันฟังเพื่อที่จะได้เห็นภาพว่าเขาจะเกี่ยวกันกับเรา  หรือเราจะไปเกี่ยวกันกับเขาอย่างไรเสียก่อนโดยจะสรุปก่อนเข้าเรื่องถึงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ดังนี้

          Creative Economy  เป็น  economic model ใหม่ที่รัฐบาลมุ่งจะเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยในรูปแบบใหม่บนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโดยมุ่งเน้นการเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าที่ผลิตในประเทศไทยด้วยความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย  หรือสร้างธุรกิจรูปแบบใหม่ที่เพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าที่มีอยู่เดิมในกลุ่มอุตสาหกรรม      หรือกลุ่มสินค้าที่ต้องแข่งขันด้วยการขายความคิดสร้างสรรค์  แล้วใส่  Branding  ตราสินค้าของไทยเราลงไป  เช่น ในอุตสาหกรรมการ   ขายไอเดีย ขายดีไซน์  ขายนวัตกรรม  หรืออุตสาหกรรมภาพยนตร์  หรือการผลิต Animation  เพราะรัฐบาลมองเห็นว่า เศรษฐกิจตามโครงสร้างและรูปแบบปัจจุบันนั้นทำให้ประเทศไทยแข่งขันกับใครไม่ได้  เพราะปัญหาการที่เราลงทุนในเรื่อง R&D ต่ำไม่สามารถที่จะต่อสู้ในเรื่องการพัฒนา Technology ต่าง ๆกับประเทศที่พัฒนาแล้วได้   ครั้นจะแข่งขันกับประเทศที่ด้อยพัฒนากว่าเราก็มีปัญหาในเรื่องแรงงานที่เขาถูกกว่าเรา และมิหนำซ้ำทรัพยากรบางอย่างก็มีต้นทุนการได้มาที่ต่ำกว่า ทางเลือกในอนาคตที่เหลืออยู่สำหรับการสร้างความเติบโตฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วก็คือการเปลี่ยนแปลงไปสู่การมุ่ง เน้นพัฒนาสินค้าที่เพิ่มมูลค่าเพิ่ม ด้วย  Creative Economy  เพื่อสร้างตลาดใหม่ของเรา

          Creative  Economy  นั้นเป็นการปฏิรูปสังคม  ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปแนวคิดแห่งชาติเลยทีเดียว  ดังนั้นการที่จะให้พันธสัญญา 12 ข้อของรัฐบาลนั้นจะขับเคลื่อนได้ต้องมีโครงสร้างหลักๆ    สนับสนุนการดำเนินงานเพื่อผลักดันเศรษฐกิจ สร้างสรรค์  4 หลักเสียก่อน   แต่ผมก็จะยังไม่ลงลึกบอกรายละเอียดของทั้งสี่โครงสร้างเลยในขณะนี้ แต่จะบอกเพียงว่า   หนึ่งในสี่หลักที่เป็นเหตุให้  Creative Park University  ของโยนกเราเข้าไปเกี่ยวโยงด้วยก็คือโครงสร้างด้าน  Creative Education & Human Resource  ของปฏิบัติการ Creative Economyนั่นเอง 

          ในแผนงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของรัฐบาลกำหนดไว้ว่าในปีการศึกษา 2553  จะต้องมีการปรับเปลี่ยนทั้ง ตำรา  การเรียนการสอนในระบบการศึกษาทุกระดับทั้ง ประถม  มัธยม อาชีวะ และอุดมศึกษา   จะต้องเตรียมอบรมครู เพื่อเปลี่ยนการสอนในรูปแบบเดิมเป็นการสอนใน  Creative Class    ในระดับต้นประมาณการไว้ว่าจะต้องมีการ  Training  บรรดาครูทั่วประเทศทุกระดับ จำนวนประมาณ  500,000 คนก่อน  เพื่อจะให้สามารถสอนให้เด็กไทยให้หลุดออกจากกรอบเดิม  สามารถแสดงออกในเรื่องความคิดสร้างสรรค์  จินตนาการ และใช้ความสามารถของเขาเองได้อย่างเต็มที่  ไม่ใช่ในกรอบที่อาจารย์ผู้สอนกำหนดหรือต้องการให้เป็นในชั้นเรียนประเภท  Creative class  เพราะประเทศไทยต้องการสร้างสังคมใหม่ที่เป็น   Creative Society  ตำแหน่งครองตลาดของมหาวิทยาลัยโยนกก็จะเป็น   Creative Park University   “อุทยานการศึกษาแห่งการสร้างสรรค์”  ก็คงจะชัดเจนแก่ทุกท่านว่าเราจะเป็นมหาวิทยาลัยแรก ๆ ทีเดียวที่ประกาศตนว่าเราจะสอนแบบ Creative Class ของรัฐบาลที่ว่าไว้ข้างต้น   เราจะบ่มเพาะให้นักศึกษาของเรามีความคิดสร้างสรรค์  มีจินตนาการ  มีความสามารถอย่างเปี่ยมล้นที่จะคิด  หรือทำสิ่งแปลกใหม่ให้เกิดขึ้น  เพื่อให้สำเร็จการศึกษาออกไปสู่สังคม  Creative Society   ที่ต้องการกองกำลังทรัพยากรมนุษย์พันธ์ใหม่เข้าไปช่วยเพิ่มมูลค่าเข้าไปให้กับสินค้า หรือผลิตภัณฑ์

          จะทำภารกิจนี้ให้ลุล่วงและสำเร็จได้  มหาวิทยาลัยโยนกของเราคงต้องเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ยิ่งกว่าการเปลี่ยนของ Business Process  Re-Engineering  อย่างที่ตำราการบริหารจัดการพูดถึง   การปรับเปลี่ยนกระบวนการทางการบริหารจัดการองค์กรในยุคที่ผ่านมา  เพราะการเปลี่ยนคราวนี้จะเป็นการเปลี่ยนทั้งหมดทั้งองค์กรอย่างพลิกฝ่ามือจากหน้ามือเป็นหลังมือในรูปแบบที่เรียกว่า  Business Process  Transformation  คือเปลี่ยนทั้งแนวคิด โครงสร้าง  วัฒนธรรมองค์กร คุณค่าหลัก  แนวทาง และกระบวนการบริหารจัดการใหม่โดยสิ้นเชิง      บุคลากรทุกคนทุกระดับต้องเตรียมตัว  ปรับตัวยิ่งกว่าคิดใหม่ ทำใหม่  ถ้าเปรียบเป็นน้ำที่อยู่ในแก้ว  บัดนี้รูปทรงของแก้วต้องเปลี่ยนไปแล้ว  รูปทรงของน้ำที่มองเห็นใหม่ก็จะต้องเปลี่ยนแปลงตามกันไปด้วย  โปรดเตรียมตัวให้พร้อม.  และมหาวิทยาลัยคงจะต้องใช้เทคนิค 3 E เพื่อการเปลี่ยนแปลงของ Prof. W Chan Kim   เจ้าของแนวคิดกลยุทธ์ท้องทะเลสีคราม ( Blue Ocean Strategy ) ที่ผมเคยเขียนไว้ครั้งหนึ่งแล้ว คือ  Engagement  ดึงพนักงานทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการเปลี่ยนแปลง  และ Explanation  คือให้คำอธิบายถึงวิธีการที่จะทำการเปลี่ยนแปลงจนเป็นที่เข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง  และสุดท้าย Expectation  คือการบอกเป้าหมายสุดท้ายที่คาดหวังให้ชัดเจนเพื่อที่ทุกคนจะได้พยายามก้าวไปให้ถึงเป้าหมายที่คาดหวังไว้ให้ได้

นิยม  จันทกูล

คณะบริหารธุรกิจ

27/ 11 / 52

(ที่มาของข้อมูล : จากบทความเรื่อง “ระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สร้างอย่างไรจึงจะสร้างชาติ” ในวารสาร SMEs Today  ปีที่ 7  ฉบับที่ 84  ประจำเดือนตุลาคม 2552 ).

เกี่ยวกับ Niyom Juntakool

Dean of Faculty of Business Administration Yonok University, Lampang Thailand
เรื่องนี้ถูกเขียนใน คณะบริหารธุรกิจและรัฐประศาสนศาสตร์, บริหารธุรกิจ และติดป้ายกำกับ , , , , คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น