เทคนิคการทวนสอบ

คู่มือทวนสอบรายวิชา-ตาม มคอ.1 มคอ.2 และ มคอ.3

 

การทวนสอบมาตรฐานผลการเรียนรู้ หมายถึงกระบวนการหาหลักฐานด้วยวิธีการใด ๆ เช่น การสังเกต การตรวจสอบ การประเมิน การสัมภาษณ์ ฯลฯ เพื่อยืนยันหรือสนับสนุนว่า นักศึกษาทุกคนมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาตรงตามมาตรฐานผลการเรียนรู้เป็นอย่างน้อย ซึ่งอาจได้ผลจากการประเมินข้อสอบว่าครอบคลุมมาตรฐานผลการเรียนรู้ การให้คะแนนตรงตามความเป็นจริง การให้ข้อมูลย้อนกลับของผู้สำเร็จการศึกษา การประสบความสำเร็จในการทำงานของผู้สำเร็จการศึกษา

กลยุทธ์โดยทั่วไปที่ใช้ในการทวนสอบมาตรฐานผลการเรียนรู้ ได้แก่ การตรวจสอบคะแนนจากกระดาษคำตอบข้อสอบของนักศึกษา และงานที่มอบหมาย การประเมินหลักสูตรโดยนักศึกษาและผู้สำเร็จการศึกษา การประเมินคณะวิชาและหลักสูตรโดยบุคลากรภายนอก และการรายงานเกี่ยวกับทักษะของบัณฑิตโดยผู้ใช้บัณฑิต ให้อธิบายกระบวนการที่ใช้ในการทวนสอบมาตรฐานผลสัมฤทธิ์ของนักศึกษา ตามมาตรฐานผลการเรียนรู้แต่ละรายวิชา เช่น ทวนสอบจากคะแนนข้อสอบ หรืองานที่มอบหมาย หรือประเมินหลักสูตรจากผู้เกี่ยวข้อง

ดังนั้นสิ่งที่แต่ละหลักสูตรจะต้องทำ คือ ให้คณาจารย์ผู้สอนทุกท่าน มีการบันทึกการสอนของตนในรายวิชาที่ตนสอนทุกครั้ง ตั้งแต่เทคนิคที่อาจารย์ใช้ในการสอน ตัวอย่างที่ยกให้นักศึกษา ปฏิกิริยาของผู้เรียน รวมถึงบันทึกหลักการเหตุผลของอาจารย์ในการออกข้อสอบ แนวคำตอบ วิธีการตรวจข้อสอบ เกณฑ์การให้คะแนน

คณะวิชา จะต้องมีการประชุมคณะกรรมการวิชาการ เพื่อตรวจสอบแลกเปลี่ยนปัญหา กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย พิจารณาเกณฑ์การวัดและประเมินผลของนักศึกษาให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริง กรณีในรายวิชาที่มีผู้สอนหลายท่าน เมื่อสอนให้อาจารย์ผู้ร่วมสอนท่านอื่น ๆ เข้าสังเกตการสอนร่วมด้วยตาม มคอ.3 เพื่อช่วยตรวจสอบ แก้ไข

ทั้งนี้ คณะวิชา และหลักสูตรต้องจัดให้มีการประชุมก่อนการจัดการเรียนการสอนเพื่อพิจารณาแนวทางการจัดการเรียนการสอน มีการประชุมระหว่างการสอน และหลังการสอน โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องของแต่ละวิชา (เช่นอาจารย์ผู้สอนนอกคณะ) มาประชุมก่อนสอน ระหว่างสอน และหลังการสอน และมีการจัดการความรู้ แลกเปลี่ยน การติดตามและการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

 

รุ่งรัตน์ ธนบดีธาดา

เรื่องนี้ถูกเขียนใน KM:ด้านการวิจัย, ทั่วไป และติดป้ายกำกับ คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น