ประชาสัมพันธ์ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
คงเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่า สังคมสมัยนี้เป็นสังคมข่าวสารอย่างแท้จริง ข่าวสารกระจายไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเรามีเทคโนโลยีทางการสื่อสารที่พัฒนาความรวดเร็วขึ้นเรื่อย ๆ กอร์ปกับลักษณะนิสัยของคนไทยที่พัฒนาเป็นผู้บริโภคข่าวสารอย่างจริงจัง ข่าวสารก็มีลักษณะเช่นเดียวกับบรรดาสรรพสิ่งต่าง ๆ ทั้งหลาย นั่นคือ หากปล่อยให้กระจายหรือเติบโตไปตามธรรมชาติแล้วมันก็จะกระจายไปอย่างไม่ เป็นระเบียบ ข่าวสารบางส่วนอาจก่อให้เกิดประโยชน์ แต่อีกบางส่วนก็อาจจะเป็นโทษได้ หากเราจัดระเบียบข่าวสารได้เป็นอย่างดี เราก็สามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มที่จากข่าวสาร
ผู้เขียนมีความเห็นว่า ปัจจุบันนี้ข่าวสารไม่ได้เป็นเรื่องของผู้ประกอบอาชีพด้านสื่อสารมวลชนที่จะสรรค์สร้างแต่เพียงฝ่ายเดียวแล้ว หากแต่เป็นเรื่องที่บุคคลแต่ละคนสามารถสรรค์สร้างเพื่อส่งเสริมตนเองหรือหน่วยงานของตนเองได้
หลักสากลของงานประชาสัมพันธ์ มีเพียงวัตถุประสงค์เดียวในอันที่จะให้ข่าวสารมีส่วนสนับสนุน ส่งเสริมให้ไปถึงจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้ สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ “ใครจะใช้วิธีการใดในการประชาสัมพันธ์”
ผู้เขียนเชื่อมั่นว่า นักบริหารในปัจจุบันให้ความสำคัญยิ่งต่อการประชาสัมพันธ์เพราะถือว่าเป็น หัวใจของการดำเนินงานขององค์การเลยทีเดียว องค์การไหนที่อ่อนในด้านประชาสัมพันธ์องค์การนั้นก็ต้องแพ้คู่แข่งในด้านการตลาด ไม่เว้นแม้กระทั่งสถาบันการศึกษาที่มีการแข่งขันกันดุเดือด บางสถาบันปิดประตูไม่ให้สถาบันที่คิดว่าจะเป็นผู้แข่งขันในอุตสาหกรรมเดียวกันกับตนเองเข้าไปพบหรือพูดคุยแนะแนว ทางการศึกษาต่อให้กับนักศึกษาในสถาบันของตนเองด้วยซ้ำไป ดังนั้นคงจะเห็นได้ว่าหากสถานการณ์ มีการแข่งขันที่รุนแรงและไม่อาจเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยง่ายแล้วล่ะก็ การประชาสัมพันธ์จะเป็นเรื่องสำคัญ ในระดับต้น ๆ ที่องค์กรทุกองค์กรต้องให้ความสำคัญ
การจัดการกับข่าวสารไม่ใช่เรื่องยาก การทำตนให้เป็นข่าวเป็นเรื่องที่ไม่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายมากมายอย่างที่หลายคนเข้าใจ หากคุณแน่ใจว่าคุณมีความสามารถมากพอที่จะให้ผู้คนทั่วไปได้รับรู้ในด้านใดด้านหนึ่งขององค์การของคุณ คุณไม่จำเป็นต้องเป็นนักประชาสัมพันธ์มืออาชีพเลยก็ได้
“ทำไมต้องประชาสัมพันธ์”
องค์กรหลายองค์กรก็สามารถดำเนินงานได้โดยปราศจากการประชาสัมพันธ์ แต่มีองค์กรอีก มากมายที่หวังผลลัพธ์ที่ดีกว่าและมีชื่อเสียงที่ขจรขจายมากกว่า ถ้าพวกเขามีแผนประชาสัมพันธ์ ไม่มีการประชาสัมพันธ์ใดที่สามารถปกปิดคุณภาพสินค้าที่ไม่ดี หรือปกป้ององค์กรที่ไม่มีจริยธรรม เพราะการประชาสัมพันธ์จะสำเร็จได้ก็เพราะองค์กรนั้น ๆ เชื่อถือได้ การใช้ประชาสัมพันธ์เพียงอย่างเดียวไม่สามารถรักษาองค์กรที่ฟอนเฟะได้ การประชาสัมพันธ์ทำได้เพียงช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์เชิงบวก และลดทอนความเสียหายที่เกิดขึ้นเมื่อมีการกระทำผิดพลาดไป
ทุกองค์กรต้องมีลูกค้า ถึงแม้ว่าองค์กรนั้นไม่ได้เป็นผู้ผลิตสินค้าก็ตาม และนี่ก็เป็นเพียงบางส่วนที่ผู้เขียนเห็นว่าน่าจะเป็นกลยุทธ์สู่ความเป็นเลิศในงานประชาสัมพันธ์ยุคใหม่ได้
………. โดยอาจารย์ศิรินธร อุทิศชลานนท์
คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยโยนก
ทดสอบการคอมเมนต์
Pingback: good food guide