นิเทศนักศึกษาฝึกงานเกี่ยวกับการประมูลทางอิเล็กทรอนิกส์

กสท

เยี่ยมนักศึกษาฝึกงานที่ กสท.ลำปาง

      บ่ายวันหนึ่งผู้เขียนไปนิเทศนักศึกษาฝึกงาน คือการตรวจเยี่ยมนักศึกษาและผู้ประกอบการที่รับนักศึกษาเข้าไปฝึกปฏิบัติงานหลังจากศึกษาเล่าเรียนจนมีความรู้ติดตัวไปส่วนหนึ่ง จากการฝึกงานจะทำให้พวกเขาได้สัมผัสกับงานจริง และฝึกทำงานร่วมกับผู้อื่น หลังฝึกงานต้องนำประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับอาจารย์และเพื่อน ก่อให้เกิดการจัดการความรู้ระหว่างนักศึกษา และอาจารย์ สำหรับอาจารย์จะพิจารณานำประเด็นที่ได้เรียนรู้ไปปรับหลักสูตรเพื่อบ่มเพาะนักศึกษาให้เหมาะกับความต้องการของผู้ประกอบการ นำไปจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรเพื่อเติมเต็มศักยภาพของนักศึกษาที่ยังมีเวลาอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยหลังกลับจากการฝึกงาน
       บ่ายวันนั้นได้เข้าไปที่บริษัท กสท โทรคมนาคมจำกัด พบกับคุณพิมพ์ศิริ จันทรราช สำนักงานบริการลูกค้า และคุณวสุพล พวงสุวรรณ ผู้ดูแลงาน CAT2Call & e-Auction ซึ่งดูแลลูกศิษย์ และนำออกไปทำงานนอกสำนักงานหลายครั้ง จึงได้รู้ว่าส่วนราชการในปัจจุบันนำการประมูลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) ไปใช้อย่างจริงจังตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2549 เพื่อความสะดวก โปร่งใส ใช้งบประมาณแผ่นดินอย่างคุ้มค่า โดยกสท.ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ให้บริการตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์จากกระทรวงการคลัง ตั้งแต่มกราคม 2549
       บริษัทจะนำเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไปติดตั้งในที่ทำการของส่วนราชการ สำหรับการคัดเลือกผู้เสนอราคา (ฺBidder) แบบ Real Time โดยเปิดให้เสนอราคาได้ทั้งแบบประมูลซื้อ และประมูลขายตามแต่กรณี ในช่วงเวลาที่นัดหมายผู้เสนอราคาสามารถส่งราคาของตนผ่านระบบอินเทอร์เน็ตจากที่ใดก็ได้เข้าไปยังเครื่องบริการที่ตั้งอยู่ในสำนักงานใหญ่ของ กสท. ส่วนคณะกรรมการจะเลือกผู้ชนะการประมูลที่เสนอราคาที่ดีที่สุดผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ที่กสท.จัดเตรียมไว้ และประกาศผลอย่างรวดเร็วผ่านเว็บไซต์ของกรมบัญชีกลาง คือ gprocument.go.th นี่เป็นวัตกรรมในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กร และประเทศชาติ เป็นตัวอย่างการทำธุรกรรมทางอินเทอร์เน็ตแบบภาครัฐถึงภาคธุรกิจ (G-to-B) ที่จำกัดวงการใช้บริการเพียงกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องบนระบบความปลอดภัยที่เหมาะสม หากนักศึกษาฝึกงานเข้าใจในระบบและกลไกก็สามารถนำหลักการไปปรับใช้กับธุรกรรมในลักษณะใดก็ย่อมได้ กรณีนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่นักศึกษาฝึกงานได้รับประสบการณ์และนำกลับไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยจนเกิดการพัฒนาคนแบบต่อยอดต่อไป ( http://www.gprocument.go.th )
http://www.thaiall.com/blog/burin/214/

เกี่ยวกับ บุรินทร์ รุจจนพันธุ์

เป็นอาจารย์ฺประจำสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะบริหารธุรกิจและรัฐประศาสนศาสตร์ สอนด้านสื่อและเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ ระบบปฏิบัติการ ระบบฐานข้อมูล การโปรแกรม การพัฒนาระบบสารสนเทศ รับผิดชอบงานบริการวิชาการ สนใจงานวิจัยเกี่ยวกับ การวิจัยเพื่อท้องถิ่น การประกันคุณภาพการศึกษา การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม การวิจัยในชั้นเรียน และระบบสารสนเทศ
เรื่องนี้ถูกเขียนใน คอมพิวเตอร์ธุรกิจ และติดป้ายกำกับ , คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น