เหลียวหลังแลตนเมื่อวิกฤติมาถึง (1)

          บทความนี้รวบรวมจากการบรรยายในหัวข้อ “การวางแผนการดำเนินงานโลจิสติกส์อย่างเป็นระบบ” โดย ผศ.ปุ่น   เที่ยงบูรณธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านโลจิสติกส์ในระดับผู้บริหารจัดโดยศูนย์วิจัยด้านโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ภายใต้การสนับสนุนในโครงการพัฒนาหลักสูตร และการฝึกอบรมโลจิสติกส์ และซัพพลายเชนของสำนักการอุดมศึกษาแห่งชาติ

          คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยโยนกกำลังดำเนินการขอเปิด หลักสูตร “การจัดการโลจิสติกส์ และ โซ่อุปทาน” ขึ้นภายในปีการศึกษา 2552 ที่จะมาถึงนี้ก็พอดีประจวบกับการเกิดวิกฤติการทางเศรษฐกิจที่ประเทศพัฒนาแล้ว และมีขนาดของเศรษฐกิจเป็นอันดับหนึ่งของโลกทำให้เชื่อแน่ว่าผลกระทบจะส่งออกเป็นวงกว้างไปทุกประเทศทั่วโลก

           “แฮมเบอร์เกอร์ดีซีส” กำลังระบาดจากประเทศสหรัฐอเมริกา และระบาดออกไปทั่วโลกด้วยขนาดที่ใหญ่โตของเศรษฐกิจของประเทศของเขา และภายใต้สภาวะโลกาภิวัตน์ที่ทุกประเทศมีกิจกรรมทางธุรกิจปฏิสัมพันธ์ต่อกัน และกันทันที (Real Time) อย่างกว้างขวาง และในขณะนี้พวกเราทุกคนคงทราบกันดีว่าทั่วทั้งโลกกำลังเตรียมตัวรับมือกับผลกระทบ ทำให้คิดขึ้นมาว่าแล้วองค์กรธุรกิจล่ะครับ แต่ละองค์กรเตรียมการหรือยังว่าต้องทำอย่างไร

          ผมว่าเราต้องเตรียมตัวเตรียมความพร้อมขององค์กรของเราเพื่อรับมือกับสถานการณ์แวดล้อมภายนอกที่กำลังจะเปลี่ยนไปเช่นกัน เพราะมันจะเป็นการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ เราจะอยู่สู้วิกฤติได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ก็ถึงคราววัดฝีมือของ CEO หรือเจ้าของกิจการกันแล้วครับ

          ผมจึงนึกขึ้นมาได้ว่ากิจกรรมโลจิสติกส์ แลธโซ่อุปทานจะเป็นกุญแจสำคัญต่อไปนี้ถ้าเจ้าของกิจการท่านไหน หรือ CEO ขององค์กรธุรกิจใดไม่ตระหนัก หรือเข้าใจในหลักการ และระบบของ          โลจิสติกส์ และโซ่อุปทานแล้วละก็โอกาสอยู่รอด หรือแข่งขันกับคนอื่นเขาได้ในสภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่กำลังจะคืบคลานมาถึงละก็ โอกาสคงจะลดลงไปมากทีเดียวเลยครับ เพราะต่อจากนี้ไปความเก่งที่มีเท่าเดิมนั้นจะไม่พออีกต่อไปแล้ว ต้องคิดใหม่ และติดอาวุธใหม่เข้ากับองค์กรเพื่อที่จะได้แข่งขันแย่งชิงโอกาสที่เหลืออยู่ หรือที่เปิดให้มาเป็นของท่านให้ได้ โลกโลกาภิวัฒน์ใบนี้ท่านก็ทราบดีว่าท่านไม่ต้องกระโดดออกไปแข่งกับใคร อยู่ดีดีก็จะมีคนกระโดดเข้ามาแข่งกับท่าน

          อย่าว่าอื่นไกลเลยครับบางท่าน บางวันเปิดร้านขายโชว์ห่วยอยู่ในซอยดี ๆ จู่ ๆ ก็จะมีร้านเซเว่นมาเปิดที่ปากซอย และเผลอ ๆ ในไม่ช้าก็จะมีข่าวว่า โลตัส หรือคาร์ฟู หรือยักษ์ใหญ่ตนอื่น ๆ จะมาก่อสร้างแถวหัวมุมถนนก็จะตามมาอีกก็ได้ ตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ไม่ถึงคราวสู้ก็ต้องถูกบังคับให้สู้ หรือมิเช่นนั้นก็คงจะต้องเตรียมตัวเลิก หรือเปลี่ยนกิจการไปเลยละครับ

          ผมจะเริ่มลำดับให้ทราบว่า โลจิสติกส์ และโซ่อุปทาน คืออะไร และถ้ามีการบริหารจัดการที่ดี ๆ แล้วจะเกิดผลอะไรขึ้นกังองค์กร ซึ่งทำได้ทั้งนั้นครับไม่ว่าเล็ก หรือใหญ่ยิ่งทำเร็วเท่าไรก็จะเริ่มสร้างความได้เปรียบ และความสามารถในการแข่งขันให้กิจการของท่านได้เร็วเท่านั้น “ปราชญ์ หรือผู้รู้ทางการบริหารจัดการโลจิสติกส์ และโซ่อุปทาน” ในประเทศไทยกล่าวกันว่า “บริษัทไทยของเราใช้ทรัพยากรทุก ๆ อย่างไปกับกิจกรรมการตลาดจนถึง หรือเกือบจะถึงที่สุดไปเกือบทุก ๆ องค์กรแล้ว โอกาสสร้างความแตกต่างที่พยายามจะหนีออกจากกันด้วยเทคนิค หรือกลยุทธการตลาดก็เกือบจะหมด หรือมิเช่นนั้นก็เรียกว่ารู้ทันกันจนเกือบจะหมดแล้ว”

          ดังนั้นใครมองเห็นลู่ทางการบริหารจัดการโลจิสติกส์ และโซ่อุปทานได้เร็วกว่าใครจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลดียิ่งกว่าใครคนอื่น ก็จะสร้างความได้เปรียบ และความสามารถในการแข่งขันได้ก่อน เพราะว่าโลจิสติกส์ และโซ่อุปทานนั้นเป็นแนวทางที่จะส่งผลดียิ่งกว่าที่ใคร ๆ จะคาดคิดว่าเป็นเพียงแค่ขอบเขตของการบริหารจัดการวัตถุดิบ และสินค้าที่เราผลิตเพื่อขายให้แก่ลูกค้าของเราให้ต้นทุนต่ำ ๆ เท่านั้น

          หากแต่ลึกซึ้งยิ่งกว่าเพราะหมายถึง การจัดการเคลื่อนย้ายของวัตถุดิบต่าง ๆ เพื่อการผลิต และตัวสินค้า หรือบริการที่ผลิตขึ้นมาได้ ตลอดจนถึงข้อมูลต่าง ๆ และรวมถึงด้านการเงินอันเป็นหัวใจของธุรกิจในระหว่างผู้ประกอบการจนถึงผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล โดยมิใช่ทำเพียงแต่เพื่อให้ได้ต้นทุนต่ำสุดอย่างเดียว เนื่องจากภายใต้เงื่อนไขของโซ่อุปทานในยุคนี้นั้น พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ผู้ประกอบการต้องมีสินค้าคุณภาพที่ลูกค้าต้องการ และสามารถส่งมอบอย่างถูกต้องเรียบร้อยทันเวลา ในสภาพ และราคาที่พอใจ ณ สถานที่ที่ลูกค้ากำหนด ดังนั้นการบริหารวัตถุดิบ และการบริหารการผลิตที่ส่งผลถึงคุณภาพที่แตกต่างกันของสินค้าที่จะผลิตออกมา การบริหารจัดการทางด้านตลาด และช่องทางการจัดจำหน่ายเพื่อสร้างอำนาจต่อรองจนเปิดโอกาสในการ เสนอสินค้าที่ผลิตขึ้นต่อลูกค้าได้เท่านั้นจึงจะขายสินค้า และบริการที่ผลิตขึ้นมาได้มิใช่ราคาถูกแต่เพียงอย่างเดียว

          ว่ากันง่าย ๆ ครับว่า เราต้องเข้าใจ และเห็นภาพของการบริหารจัดการ เพื่อใช้ทรัพยากรของเราอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดตั้งแต่ให้ผู้จัดส่งวัตถุดิบเข้าสู่องค์กรแล้วจัดเก็บ เคลื่อนที่ เคลื่อนย้ายภายในองค์กรเพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตออกมาเป็นสินค้าสำเร็จรูป ทำการเคลื่อนย้ายจัดเก็บ จัดเตรียมเพื่อส่งภายในองค์กร ดำเนินการจัดส่งในรูปแบบต่าง ๆ ให้ถึงมือลูกค้าอย่างประหยัด มิใช่บริหารจัดการให้ต้นทุนต่ำที่สุดเพราะ CEO ต้องไม่มองแค่ประสิทธิภาพ (Efficiency) เท่านั้น แต่ต้องเล็งให้เกิดประสิทธิผล (Effectiveness) ที่ลูกค้าพอใจด้วย

          ลูกค้าสมัยนี้จะบริหารแค่หลักการ การตลาด 4Ps เท่านั้นไม่พอ ต้องสนองความพึงพอใจของลูกค้าให้ได้ คือต้องมีแถมอีก 5Rs คือเป็นสินค้าที่ลูกค้าต้องการ (Right Product) นำไปในที่ที่มีความต้องการ (Right Place) ในเวลาที่ต้องการ (Right Time) ในสภาพที่สมบูรณ์ (Right Condition) และต้นทุนถึงลูกค้าที่เหมาะสม (Right Cost) มิเช่นนั้นลูกค้าก็จะเลือกสินค้าทดแทนอย่างอื่น! ถ้า CEO ท่านใด เจ้าของกิจการท่านไหนมองไม่ทะลุก็ยากละครับ

           ในฉบับต่อไปผมจะเล่าต่อว่าจะเริ่มทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้ให้เกิดขึ้นให้เป็นจริงได้อย่างไร?

เกี่ยวกับ Niyom Juntakool

Dean of Faculty of Business Administration Yonok University, Lampang Thailand
เรื่องนี้ถูกเขียนใน คณะบริหารธุรกิจและรัฐประศาสนศาสตร์, บริหารธุรกิจ และติดป้ายกำกับ , , , คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

2 ตอบกลับไปที่ เหลียวหลังแลตนเมื่อวิกฤติมาถึง (1)

  1. atichart พูดว่า:

    ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณและชื่นชมที่ท่านอาจารย์นิยม คณบดีคณะบริหารธุรกิจ ได้เข้ามาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ผ่าน Yonok Blog ซึ่งคาดว่าอาจารย์ในคณะของท่านทุกๆ คน ก็คงจะได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบนี้เช่นกัน

    ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่สนใจในเรื่อง Logistics อยู่ไม่น้อยเช่นกัน อยากจะพูดเรื่องใกล้ตัวแต่สอดคล้องกับเนื้อหาที่อาจารย์พูดถึง คือ ความรู้ ถือเป็นต้นทุนที่สำคัญขององค์กร ผมพูดบ่อยครั้ง คนเก่งๆ มีคุณภาพของเราออกจากโยนกไป แต่ไม่ทิ้งอะไรไว้ให้โยนกเลย เราลงทุนไปกับเขาเท่าไร การจัดการความรู้ก็น่าจะเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนและเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการ Yonok Logistics ในด้านของการแบ่งปันและถ่ายเทความรู้ ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่สำคัญในการสร้างและผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ ด้วยต้นทุนที่ต่ำ รวดเร็ว ทุกสถานที่ ในสภาพที่เป็นปัจจุบัน และหากมองในฝั่งของลูกค้า จะได้รับบริการทั้งด้านข้อมูลข่าวสารที่ทันต่อเหตุการณ์ และตรงประเด็น ด้วยช่องทางผ่าน Web, Blog, E-mail และ FAQ เป็นต้น

    ผมเองปัจจุบันขอลาศึกษาเพื่อเขียนวิทยานิพนธ์ 2 เดือน แต่ยังต้องสอนนักศึกษา BBA อยู่ 1 รายวิชา ทุกวันอังคาร และ E-learning ก็ช่วยให้ผมกับนักศึกษาเสมือนยังคงได้พูดคุยกันอยู่ทุกวัน และถ้านับเป็นชั่วโมงเรียนก็น่าจะมากกว่า 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ด้วยซ้ำไป หากเปรียบนักศึกษาเป็นลูกค้าและความรู้เป็นสินค้าที่ต้องส่งมอบซึ่งต้องได้ทั้งคุณภาพ ความรวดเร็ว ในราคาที่เหมาะสม ตามหลักการของ Logistics แล้ว E-learning น่าจะแสดงให้เห็นถึงความสามารถของ IT ที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ Logistics ได้ดีประเภทหนึ่ง แม้ในช่วงที่ผมไปทำงานร่วมวิจัยที่ฝรั่งเศส เรายังมีการประชุมหรือให้คำแนะนำอาจารย์ในคณะฯ ผ่าน MSN หรือ E-mail อยู่บ่อยครั้งเช่นกัน

    ผมยังคงยืนยันว่า ความรู้ที่ฝังลึก (Tacit Knowledge) ในตัวคนถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญในลำดับต้นๆ เป็นวัตถุดิบที่อาจไม่มีราคาหรืออาจมีค่ามากด้วยต้นทุนที่องค์กรต้องเสียเท่ากัน จึงเป็นเรื่องของการบริหารจัดการคนที่ต้องมีระบบหรือกลไกเพื่อแปลง Tacit ให้เป็น Explicit เพื่อนำไปถ่ายทอดต่อให้ผู้อื่นได้ และในเรื่องของระบบ HRM ก็เช่นกัน ต้องไม่หย่อนและไม่ตึงจนเกินไป เพราะผมไม่อยากให้เหตุการณ์เดิมๆ ดังเช่นคณะวิทยาศาสตร์ฯ ที่ต้องสูญเสียคนเก่งๆ ดีๆ ที่เราฟูมฟักมานานนับสิบปี ไปให้สถาบันอื่น ด้วยเหตุผลที่ไม่เอาไหนซะเลย

  2. บันทึกแรกของ อ.นิยม เขียนได้สมบูรณ์มากครับ อาทิ 1)การใส่รายละเอียดในประวัติ 2)ขนาดและคุณภาพบทความยอดมากครับ เนื้อหากับหัวข้อก็สอดรับกัน 3)กำหนด category และ tag ได้ชัดเจน 4)เห็นมี วงเล็บหนึ่ง แสดงว่าจะมีต่อเป็น series สรุปว่าโดยรวมแล้วยอดมาก แล้วผมจะติดตามบันทึกของอาจารย์ครับ

ใส่ความเห็น