ผลการสังเคราะห์ความรู้จากการจัดการความรู้

1) อาจารย์อติชาต  ให้รายละเอียดว่าวิชาโครงงานระบบสารสนเทศที่ตนเองมีหน้าที่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษานั้นมีกระบวนการคือ นักศึกษาได้เข้ามาขอคำปรึกษาโดยแต่ละคนมีกรณีศึกษางานในภาคธุรกิจเฉพาะบุคคลที่แตกต่างกันไป เป็นการเรียนที่อิงพัฒนาการของผู้เรียนอย่างชัดเจน นักศึกษาต้องนำเอกสารมาแสดงความก้าวหน้าในการค้นคว้า และนำเสนออย่างเข้าใจ หากมีความพร้อมก็จะขอรับการสอบหัวข้อจากคณะกรรมการ ถ้าหัวข้อผ่านแล้วก็จะพัฒนาโปรแกรม แล้วนำโปรแกรมมานำเสนอขอคำแนะนำจากอาจารย์ที่ปรึกษา เมื่องานสำเร็จตามนโยบายที่เคยกำหนดไว้และอาจารย์ที่ปรึกษาเห็นว่ามีความพร้อม นักศึกษาก็จะขอสอบกับคณะกรรมการสอบป้องกันเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งนักศึกษาได้ค้นคว้าในหัวข้อที่ตนเองสนใจ เมื่อสำเร็จการศึกษาก็จะสามารถไปสมัครงานและตอบคำถามผู้สัมภาษณ์ได้อย่างชัดเจน เพราะเคยลงมือปฏิบัติด้วยตนเองมาแล้ว
2) อาจารย์ศศิวิมล ให้ความคิดเห็นว่าปัจจุบันมหาวิทยาลัยสนับสนุนให้อาจารย์ได้ทำวิจัยในชั้นเรียน สนับสนุนให้ออกไปบริการวิชาการ และนำมาบูรณาการกับการเรียนการสอน แต่ยังมีอาจารย์ในมหาวิทยาลัยไม่มากนักขอรับการสนับสนุน ส่วนในคณะวิทย์ฯ ยังไม่มีอาจารย์ที่สนใจ หากเป็นไปได้ในภาคเรียนที่ 2 หรือปีการศึกษาต่อไปควรมีแผนให้อาจารย์ขอรับการสนับสนุน แล้วนำมาพัฒนาการเรียนการสอนในลำดับต่อไป ซึ่งเรื่องนี้มีผลต่อการประกันคุณภาพการศึกษา หากในคณะมีระบบและกลไกการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมก็จะดียิ่ง เพราะจะสอดรับกับการประกันคุณภาพของคณะ และของมหาวิทยาลัยไปพร้อมกัน
3) อาจารย์วิเชพ เล่าว่าในฐานะที่ตนเองมีหน้าที่เป็นคณะกรรมการผู้สอบโครงงานนักศึกษาเห็นด้วยกับกระบวนการที่อาจารย์อติชาต หาญชาญชัยนำเสนอ  แต่มีประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือนักศึกษายังขาดวินัยในการทำงาน มาพบอาจารย์ที่ปรึกษาน้อยไป หรือไม่เข้าไปพบหน่วยงานทางธุรกิจอย่างจริงจัง จึงเก็บรายละเอียดได้ไม่ครบ ทำให้ไม่เข้าใจระบบงานมากพอที่จะนำกลับมาเขียนข้อเสนอ เมื่อสอบหัวข้อก็ตอบข้อซักถามจากคณะกรรมการไม่ได้ เมื่อสอบถามจากนักศึกษาแล้วก็ได้ข้อมูลว่าอาจารย์ที่ปรึกษายังคุมวินัยของนักศึกษาไม่เข้มงวด บางคนบอกว่าอาจารย์ที่ปรึกษาไม่สนใจ ไม่มีเวลาให้ หรือให้มาสอบโดยไม่ให้คำปรึกษาอย่างจริงจัง เป็นปัญหาที่เกิดจากตัวบุคคล แต่การมีระบบสอบสองชั้นคือสอบหัวข้อ และสอบป้องกันก็ทำให้คัดกรองนักศึกษาที่มีคุณภาพได้ หากสอบไม่ผ่านก็ต้องให้นักศึกษากลับไปพบอาจารย์ที่ปรึกษาใหม่ ทำให้การทำโครงงานมีคุณภาพตามที่หลักสูตรกำหนดไว้ และเป็นเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษา
4) อาจารย์ทนงศักดิ์ เล่าว่าการสอนวิชาคอมพิวเตอร์สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ได้ใช้เทคนิค การอภิปรายกลุ่มย่อย (Small – Group Discussion) ซึ่งนักศึกษาที่ชื่อกร มาเล่าว่าตนเองเปลี่ยนไปจากการที่ไม่กล้าพูด ขี้อาย ไม่กล้าทักเพื่อน ก็ทำให้ตนมีเพื่อน กล้าเป็นผู้นำ เพราะกิจกรรมแบบนี้จัดขึ้นบ่อย ทำให้มีโอกาสเปลี่ยนกันเป็นหัวหน้ากลุ่มและออกมานำเสนอหน้าชั้น ส่วนนักศึกษาที่ชื่อปราง บอกว่าประทับใจในการเข้ากิจกรรมกลุ่ม เพราะได้เรียนรู้เรื่องใหม่ผ่านการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อน การเรียนตามตัวหนังสือเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่การเรียนรู้ที่จะอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข ถ้อยทีถ้อยอาศัยเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นกว่า
5) อาจารย์เกศริน  เล่าว่านักศึกษาชอบการเรียนด้วย กรณีศึกษา (Case Studies) มีนักศึกษาชื่อดุล มาเล่าว่าชอบเรียนวิชาอีคอมเมอร์ซ เพราะลองนำความรู้จากในชั้นเรียนไปทำเว็บไซต์ขายกระเป๋าหนังทำมือเผยแพร่สินค้าทางอินเทอร์เน็ตแล้วมียอดสั่งซื้อจากอินเทอร์เน็ตเดือนละหลายหมื่นบาท ถ้าไม่ได้เห็นกรณีตัวอย่างการใช้เว็บไซต์ tarad.com ก็คงไม่ทำให้เขามั่นใจและเข้าใจมากพอที่จะทำเรื่องนี้ให้สำเร็จได้ นอกจากนี้ยังสังเกตว่าในระหว่างเรียนนายดุล ตั้งใจเรียนเพิ่มขึ้นจากช่วงแรกที่เรียนแนวคิดพื้นฐาน ก็มักจะนั่งหลับบ่อย แต่เมื่อได้เรียนกรณีศึกษาแล้ว นายดุลก็ไม่เคยนั่งหลับอีกเลย เพราะเห็นประโยชน์ที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิต ใช้ในธุรกิจครอบครัวของตนได้อย่างแท้จริง

เกี่ยวกับ บุรินทร์ รุจจนพันธุ์

เป็นอาจารย์ฺประจำสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะบริหารธุรกิจและรัฐประศาสนศาสตร์ สอนด้านสื่อและเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ ระบบปฏิบัติการ ระบบฐานข้อมูล การโปรแกรม การพัฒนาระบบสารสนเทศ รับผิดชอบงานบริการวิชาการ สนใจงานวิจัยเกี่ยวกับ การวิจัยเพื่อท้องถิ่น การประกันคุณภาพการศึกษา การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม การวิจัยในชั้นเรียน และระบบสารสนเทศ
เรื่องนี้ถูกเขียนใน KM:ด้านการผลิตบัณฑิต, คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ, คอมพิวเตอร์ธุรกิจ, วิทยาการคอมพิวเตอร์ และติดป้ายกำกับ คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น