15 ปี สภาการหนังสือพิมพ์ จากอดีตผ่านปัจจุบันสู่อนาคต

โดย อาจารย์อัญญาวีร์ อุนสวัสดิ์อาภา
อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์

การสัมมนา 15 ปี สภาการหนังสือพิมพ์ฯ เรื่อง “จากอดีตผ่านปัจจุบันสู่อนาคต” เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมา นายมานิจ สุขสมจิตร อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์ฯ สมัยที่ 1 ได้กล่าวถึง ถึงเหตุการณ์ในยุคก่อตั้งสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ว่า ได้มีความพยายามในการแทรกแซงและควบคุมการทำงานของสภาการณ์หนังสือพิมพ์โดย อำนาจรัฐในยุคแรก ซึ่งสภาการหนังสือพิมพ์ได้พยายามต่อสู้ในทุกรูปแบบ เพื่อให้สภาการหนังสือพิมพ์ฯ ไม่ขึ้นกับการกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐ โดยนำหลักจริยธรรมมาใช้ในการดำเนินการ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีการหลอมรวมสื่อและการสื่อสารผ่าน social media ยิ่งต้องมีจริยธรรมมากำกับ มิฉะนั้น สื่อมวลชนก็จะเป็นเสมือน “โจรถือปากกา” ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับสังคม


นายพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์ฯ สมัยที่ 4 ได้กล่าวถึงจริยธรรมดังกล่าวว่า อาจเรียกว่า “อาชีวปฏิญาณ” ซึ่งเป็นจิตสำนึกในการอุทิศตนเพื่อประโยชน์สังคมและส่วนรวม โดยมีระบบระเบียบและศีลธรรม หรือ มีธรรมมะเป็นตัวกำกับดูแล เนื่องจากสื่อมวลชนเป็นองค์กรที่มีผลกระทบต่อคนโดยส่วนใหญ่ พร้อมกับได้เน้นย้ำว่า หากอดีต ถึงปัจจุบัน และมุ่งสู่อนาคต เราในฐานะสื่อมวลชนยังไม่รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่และอาชีวปฏิญาณก็ยังไม่รู้ ก็อาจไม่ถือว่าเป็นสื่อมวลชนที่ดี หรือเป็นสื่อมวลชนที่มุ่งเน้นด้าน “เกียรติยศ”(ชื่อเสียง) แต่ไม่ได้มี“เกียรติศักดิ์”(ศักดิ์ศรี) ของนักหนังสือพิมพ์ที่แท้จริง ดังนั้น สถาบันการศึกษาและอาจารย์มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องหล่อหลอมนักศึกษาให้มี คุณลักษณะที่พึงประสงค์ โดยเฉพาะในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อครั้งสำคัญและมีการเปลี่ยนแปลงหลากหลายในวง การสื่อสารมวลชน ซึ่งนายจักร์กฤษ เพิ่มพูล มีความคิดเห็นว่า กองบรรณาธิการคงไม่ใช่ทำหนังสือพิมพ์อย่างเดียว แต่เป็นการผลิต Content เพื่อป้อนออกช่องทางสื่อต่างๆ เป็น “multi journalist” รวมทั้งจิตสำนึกด้านความรับผิดชอบของสื่อมวลชนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้ผ่านประวัติ ศาสตร์เหมือนคนรุ่นเก่า และปัจจัยด้านเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัยและธุรกิจที่ส่งผลกระทบค่อนข้าง สูง ส่งผลให้มีความผิดพลาดในการนำเสนอข่าวสารข้อมูลและมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นความท้าทายว่า เราจะมีแนวทางในการดำเนินงานต่อเรื่องนี้อย่างไร

นายพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ได้ให้แนวคิดกับผู้เข้าร่วมสัมมนาว่า สื่อมวลชนเปรียบเสมือนกับโรงงานผลิตน้ำประปา ก็ต้องเป็นแหล่งผลิตน้ำบริสุทธิ์ให้กับประชาชน เพราะถ้าหากคนสงสัยในกรรมวิธีการผลิตว่ามีการปนเปื้อน หรือไม่บริสุทธิ์ จะทำให้คนไม่เชื่อถือ ซึ่งเราต้องพยายามป้องกันไม่ให้เกิดการปนเปื้อน ทั้งจากสถาบันธุรกิจ หรือสถาบันทางการเมือง และแม้ว่าสื่อมวลชนจะปฏิเสธการบริหารจัดการเชิงธุรกิจไม่ได้ จึงจำเป็นต้องมีอุดมการณ์ หรือ อาชีวปฏิญาณกำกับอยู่เสมอ และจงอย่า “ทอดธุระ” แต่ต้องทำ “เป็นธุระ” เพื่อสร้างภูมิต้านทานให้กับวงการสื่อสารมวลชน ซึ่งนายสุวัฒน์ ทองธนากุล ได้กล่าวเพิ่มเติมในประเด็นดังกล่าวว่า องค์กรสื่อและคนสื่อจะต้องมี “ดีเอ็นเอพิเศษ” และต้องตระหนักถึงจริยธรรมในการทำหน้าที่ เพราะในอนาคตแม้จะมีการแข่งขันทางธุรกิจ แต่สังคมก็คาดหวังและเรียกร้องต่อการทำหน้าที่สื่ออย่างมีคุณภาพและมี คุณธรรม ซึ่งสภาการหนังสือพิมพ์ฯ นับว่าเป็นตัวอย่างองค์กรดังกล่าว เพราะทำหน้าที่สื่อมวลชนที่เป็นที่พึ่งของสังคมและคอยตรวจสอบจริยธรรมสื่อ มวลชน แต่ในขณะเดียวกันสถาบันการศึกษาก็ควรจะทำหน้าที่สร้างคนรุ่นใหม่ หรือ “ว่าที่นักข่าว” ให้มีดีเอ็นเอพิเศษเหล่านี้

นายจักร์กฤษ เพิ่มพูน ได้กล่าวทิ้งทายในการสัมมนาครั้งนี้ว่า แม้สภาการหนังสือพิมพ์ไม่ได้รับการแต่งตั้งโดยกฎหมายแต่ก็ได้รับการยอมรับ จากสังคมตลอดมา และเมื่อได้เข้ามาทำหน้าที่ท่ามกลางบริบทสังคมที่เปลี่ยนไปก็คงต้องขอความ ร่วมมือจากหลายๆ ฝ่าย เช่น สถาบันการศึกษาควรช่วยใส่โปรแกรมจิตสำนึกเชิงจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อ สังคมให้นักศึกษาที่จะกลายเป็นสื่อมวลชนรุ่นใหม่ต่อไป เพราะถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้การทำหน้าที่ในการผลิตคนหนังสือพิมพ์รุ่นใหม่ก็ ไร้ความหมาย

……………………………………………………………………………………
อ้างอิงข้อมูล: งานสัมมนา 15 ปี สภาการณ์หนังสือพิมพ์แห่งชาติ, 4 กรกฎาคม 2555

ข้อความนี้ถูกเขียนใน คณะนิเทศศาสตร์ คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น