รายงานจากการไปเข้า focus group ที่ กศน.

ได้รับอนุมัติให้ไปร่วมประชุมที่ กศน. จึงมีเรื่องมาขียนลงหนังสือพิมพ์ฅนเมืองเหนือ
ในคอลัมไอทีในชีวิตประจำวัน # 188 หัวข้อการศึกษาตามอัธยาศัยกับคำว่ากศน.
     จากการประชุมร่วมกับผู้บริหารของกศน. อาทิ ดร.สุชิน เพ็ชรรักษ์ ดร.ณราวัลย์ นันต๊ะภูมิ ผอ.จรณชัย วรรณทอง ผอ.จรรยา จิรชีวะ และครูกศน.อีกหลายท่าน ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการทำงานในชุมชน และมองไปถึงอนาคตของการพัฒนาการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งเป็นการประชุมในลักษณะกลุ่มสนทนา (Focus Group) เพื่อศึกษาข้อมูล และนำไปพัฒนารูปแบบการศึกษาตามอัธยาศัยในระดับชุมชน ทั้งผู้เขียนและคุณภัทรา มาน้อยอยู่ในกลุ่มเครือข่ายที่ทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ส่วนนายกอบต.พิชัย คุณศิริพร ปัญญาเสน เป็นอีกหนึ่งเครือข่ายที่เข้าใจบริบทของกศน.
     ในช่วงเช้ามีการนำเสนอภาพถ่ายแสดงการพัฒนาชุมชนของบ้านสามขาผ่านโปรแกรม Microsoft PowerPoint ที่แสดงถึงการประยุกต์ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ OLPC กับการเรียนรู้ในพื้นที่ป่าต้นน้ำ การใช้ไอทีในห้องสมุดของประเทศญี่ปุ่น และการใช้องค์ความรู้มาพัฒนาการปลูกผักปลอดสารพิษในชุมชน แล้วเปิดเวทีให้ทุกคนได้ร่วมนิยามความหมายของคำว่าการศึกษาตามอัธยาศัย ด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ ทุกคนได้บอกเล่าถึงการทำงานที่ผ่านมาด้วยความภูมิใจ เพราะทุกคนทำงานเพื่อชุมชนระดับรากหญ้า พัฒนาชุมชนโดยใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือที่ตอบความต้องการเพื่อการดำรงชีวิตของคน เช่น อบรมกลุ่มอาชีพ บริการศูนย์การเรียนรู้ จัดการศึกษานอกระบบ บริการห้องสมุดหลายรูปแบบ บริการเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เอื้อให้คนในชุมชนสามารถสืบค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตในหลายรูปแบบ ร่วมจัดวิทยุชุมชน ร่วมพัฒนาที่พักแรมในชุมชนแห่งการเรียนรู้ โครงการชุมชนรักการอ่าน เป็นต้น มีคำหนึ่งที่ผุดขึ้นในเวทีแล้ว อ.บุษบา มาลินีกุล สังเกตได้ว่าผู้เขียนทำหน้าฉงน จึงกรุณาอธิบายว่า กรต. มาจาก การเรียนรู้ต่อเนื่อง เป็นกิจกรรมหนึ่งในการพัฒนาการเรียนรู้ของนักศึกษากศน. ส่วนคำว่า กศน. มาจากชื่อเดิม การศึกษานอกโรงเรียน ที่เปลี่ยนเป็น การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย มีผลบังคับใช้วันที่ 4 มีนาคม 2551
      ข้อสงสัยหลายเรื่องเริ่มคลี่คลายในช่วงบ่าย โดยเฉพาะความหมายของ การศึกษาตามอัธยาศัย ที่ถูกอธิบายผ่านการบอกเล่าประสบการณ์จากการทำงานของแต่ละคน ในทัศนะของผู้เขียนมองว่าการศึกษาตามอัธยาศัยสำคัญต่อการพัฒนาชุมชนระดับรากหญ้าของประเทศ แต่หากจะไม่บรรลุตามเป้าหมายของการพัฒนาแล้วก็น่าจะมีปัญหาจาก 3 ประเด็น คือ 1) คนหมายถึงครูและนักเรียนที่ต้องมีการพัฒนาควบคู่กันไปอยู่ตลอดเวลาให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและเทคโนโลยี 2) งานหมายถึงการจัดกิจกรรม ส่งเสริม สนับสนุน และการพัฒนาหลักสูตรอย่างเพียงพอ ทันสมัย ตอบความต้องการของสังคม มีจำนวนและคุณภาพที่เหมาะสม 3) งบประมาณหมายถึงการสนับสนุนเงินจากรัฐที่มักเป็นข้อจำกัดในการมีครูมาทำงานพัฒนาที่เพียงพอ จึงทำให้ครูกศน.เปรียบเสมือนยอดมนุษย์ต้องทำได้เกือบทุกอย่าง ต้องทำหลายหน้าที่ มักขาดความชำนาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ช่วงสุดท้ายของการประชุมเปิดให้มีการนำเสนอสิ่งที่น่าชื่นชมจากการทำงาน แต่ละคนสะท้อนให้เห็นความภูมิใจในการทำงาน ได้รับการยอมรับจากชุมชนผ่านบทบาทในการพัฒนาชุมชนด้วยมือของตน

เกี่ยวกับ บุรินทร์ รุจจนพันธุ์

เป็นอาจารย์ฺประจำสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะบริหารธุรกิจและรัฐประศาสนศาสตร์ สอนด้านสื่อและเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ ระบบปฏิบัติการ ระบบฐานข้อมูล การโปรแกรม การพัฒนาระบบสารสนเทศ รับผิดชอบงานบริการวิชาการ สนใจงานวิจัยเกี่ยวกับ การวิจัยเพื่อท้องถิ่น การประกันคุณภาพการศึกษา การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม การวิจัยในชั้นเรียน และระบบสารสนเทศ
เรื่องนี้ถูกเขียนใน ทั่วไป และติดป้ายกำกับ , คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น