http://www.manager.co.th/lite/ViewNews.aspx?NewsID=9560000046526
ผู้ใช้เฟสบุ๊คหลายคนคงเชื่อฝังหัวว่า เฟสบุ๊คคือพื้นที่ส่วนตัว จะบ่น จะด่าอะไรก็ได้ เป็นที่ระบายอารมณ์ให้เพื่อนฟังอย่างเสรี ไร้ปัญหาแน่นอน จะถ่มน้ำลายขึ้นฟ้า โทษฟ้า โทษดินก็ทำได้ เพราะไม่ใช้ชื่อจริง ไม่ใช้ภาพจริง แล้วหลายคนก็ประกาศไว้ว่าถ้าไม่อยากติดต่อ ไม่พอใจในการเป็นเพื่อนก็ให้กดปุ่ม unfriend ยกเลิกความสัมพันธ์ได้ทันที ซึ่งความจริงไม่เป็นเช่นนั้นไปทั้งหมด มีกรณีปัญหาจากการโพสต์ไม่คิดเกิดขึ้นมาแล้ว อาทิ ด่าเจ้านายก็ถูกไล่ออก ครูชายชมนักเรียนหญิงก็ถูกไล่ออก พนักงานด่าลูกค้าก็ถูกไล่ออกแม้ใช้ชื่อปลอม หรือภาพประจำตัวปลอมก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้ ซึ่งสามกรณีข้างต้นเกิดขึ้น และถูกแบ่งปันกันอย่างแพร่หลาย
ในต่างประเทศเมื่อเกิดข้อพิพาทก็จะผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน แต่ที่ประเทศไทยเกิดข้อพิพาทระหว่างผู้จัดการโรงภาพยนตร์กับลูกค้าย่านพระราม 3 เมื่อกลางเดือนเมษายน 2556 เป็นเหตุให้ผู้จัดการพิจารณาตนเองแล้วลาออกไป จากนั้นอีก 2 วันพนักงาน 2 คนก็ถูกให้ออก แบบประกาศผ่านเครือข่ายสังคม เพราะมีเหตุมาจากเครือข่ายสังคมที่พนักงานไปแสดงความเห็นว่าเบื่องาน และพูดถึงลูกค้าด้วยวาจาไม่เหมาะสม ซึ่งเชื่อว่าผู้ถูกพิจารณาให้ออกงานจะไม่ยื่นอุทธรณ์ แล้วโรงภาพยนตร์ก็ประกาศเป็นการแสดงความรับผิดชอบ และแก้ไข เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ลูกค้าในการให้บริการที่มีคุณภาพต่อไป
เคยมีคนกล่าวว่า การเขียนในเครือข่ายสังคม โดยเฉพาะเฟสบุ๊คเสมือนเขียนด้วยปากกา ไม่ใช่ดินสอ เพราะเกิดเรื่องมาแล้วลบด้วยยางลบไม่ได้ แล้วมากกว่าครึ่งหนึ่งของคนไทยก็จะเขียนด้วยสำนวนที่เป็นกันเองมากเกินไป เหมือนเขียนไว้อ่านคนเดียว ไม่คำนึงว่าเพื่อนนับร้อยนับพันที่เคยรับไว้เป็นเพื่อน นั้นมีเพื่อนของเพื่อน ญาติ ครู อาจารย์ ลูกค้า เจ้านาย หรือผู้สูงอายุอยู่ในกลุ่มได้รับข้อความเหล่านั้น เมื่อเคยชินกับการใช้ถ้อยคำที่ไม่ได้กลั่นกรอง ก็อาจมีบางครั้งเขียนข้อความที่ผู้อ่านบางคนยอมรับไม่ได้ แล้วถ้าผู้อ่านคือหัวหน้า เจ้านาย หรือลูกค้าก็อาจนำไปเขียนซ้ำ (repost) แบ่งปัน (share) หรือเก็บจอภาพ (capture) ไปเผยแพร่ต่อ ย่อมเป็นความเสียหายที่ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้ ก็หวังว่าเพื่อนชาวไทยจะใช้ความระมัดระวังในการเขียนเรื่องราวลงไปในเครือข่ายสังคมเพิ่มขึ้น