รับน้องใหม่…ด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์

รับน้องใหม่…ด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ .. http://bit.ly/12KoMUr

จะเป็นไปได้หรือไม่ที่ “รุ่นพี่ยุคใหม่” จะพัฒนาระบบโซตัสใหม่ที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์และดูแลรุ่นน้องเสมือนครอบครัวภายใต้รั้วสถาบันเดียวกัน

อัญญาวีร์ อุนสวัสดิ์อาภา
อัญญาวีร์ อุนสวัสดิ์อาภา

คุมเข้ม! อาชีวะรับน้อง“ พงศ์เทพ ” สั่ง สอศ.กำชับวิทยาลัยทุกแห่งจัดกิจกรรมตามมาตรการ ส่วนตามสถาบันอุดมศึกษาสั่งห้ามรับน้องนอกสถานที่ ห้ามมีของมึนเมา ห้ามละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและทางเพศ เน้นกิจกรรมสร้างสรรค์ ย้ำผู้บริหารและครูดูแลใกล้ชิด พร้อมเปิดสายด่วน 1156 ให้แจ้งเหตุตลอด 24 ชม.
ข้อความที่ปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์ออนไลน์ในช่วงเดือนพฤษภาคมได้สะท้อนถึงนโยบายและการเตรียมความพร้อมในเทศกาลรับน้องที่กำลังจะมาถึง โดยกระทรวงศึกษาธิการ (สธ.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีคำสั่งยังสถานศึกษาทุกระดับ ทุกสังกัดทั่วประเทศโดยมีใจความสำคัญว่า ห้ามรุ่นพี่และสถาบันการศึกษาจัดกิจกรรมรับน้องนอกสถานศึกษาโดยเด็ดขาด หากมีการจัดกิจกรรมรับน้องจะต้องอยู่ในการดูแลรับผิดชอบร่วมกันของผู้บริหารและครู นอกจากนี้การรับน้องควรมีลักษณะสร้างสรรค์ส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมและไม่ขัดต่อระเบียบของสถาบันการศึกษาและประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงามของสังคม รวมทั้งเคารพเสรีภาพส่วนบุคคลและห้ามล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคลทั้งทางร่างกายและจิตใจ

รับน้อง รักน้อง ต้องเต็มที่กันหน่อย

เป็นที่น่าสังเกตว่า มาตรการการคุมเข้มเกี่ยวกับการรับน้องดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่มีความพยายามที่จะควบคุมและกำกับดูแลการรับน้องให้อยู่ภายใต้กฎระเบียบมาเป็นระยะเวลายาวนาน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจาก “รุ่นพี่” ในหลายสถาบันการศึกษายังคงจัดกิจกรรมการรับน้องทั้งในและนอกสถานที่อย่างต่อเนื่อง และเมื่อใดก็ตามที่เกิดเหตุการณ์ “น้องใหม่” ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตระหว่างเข้าร่วมกิจกรรมการรับน้องรุ่นพี่ก็จะกลายสภาพเป็น “ผู้ร้าย” หรือ “พี่ว๊ากจอมโหด” ผ่านสื่อมวลชนทุกแขนง บ่อยครั้งที่กระแสวิพากษ์วิจารณ์ได้ขยายวงกว้างจนกลายเป็น “ความขัดแย้ง” หรือ “ความรุนแรง” เนื่องจากความคิดเห็นที่แตกต่าง โดยเฉพาะประเด็นการรับน้องด้วยระบบโซตัส (SOTUS) ที่มักพูดถึงบ่อยครั้งในช่วงเทศกาลการรับน้อง
จากการศึกษาที่มาของระบบโซตัส (SOTUS) หรือ ระบบว๊าก ในประเทศไทยพบว่า การรับน้องด้วยระบบโซตัสเริ่มเผยแผ่เข้ามาในสังคมไทยครั้งแรกที่โรงเรียนป่าไม้ภาคเหนือ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นวิทยาลัยเกษตรกรรมแม่โจ้ หรือ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ในปัจจุบัน ในช่วงปี 2486 ระบบโซตัสถูกนำไปใช้ในการรับน้องมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ซึ่งกลุ่มคนที่นำเข้าแนวคิดการรับน้องระบบโซตัสมาใช้ในประเทศไทยยุคแรก คือ อาจารย์ที่จบจากวิทยาลัยเกษตรกรรมลอสบานยอส (Los Banos) แห่งฟิลิปปินส์ มหาวิทยาลัยออริกอนสเตต (Oregon State University) และมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ (Cornell University) แห่งสหรัฐอเมริกา โดยมีเป้าหมายเพื่อละลายพฤติกรรมและลดทอนความต่างของฐานะ รวมทั้งให้นิสิตใหม่รู้สึกเท่าเทียมและมีความรักสามัคคี ผ่านการกดดันกลั่นแกล้ง เช่น การปีนเสา การคลุกโคลน เป็นต้น ซึ่งระบบโซตัสดังกล่าวได้ถูกผลิตซ้ำและสืบทอดในสังคมไทยเป็นระยะยาวนานกว่า 60 ปี

อย่างไรก็ดี ระบบโซตัสที่ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นการรับน้องที่มีลักษณะที่ใช้ความรุนแรงและแปลกพิสดาร เช่น การตะโกนด่าทอรุ่นน้องด้วยถ้อยคำหยาบคาย การบังคับให้กลั้นหายใจใต้น้ำตามเวลาที่กำหนด การให้รุ่นน้องนอนกลิ้งไปบนพื้นหินกรวดกลางแดด การสั่งให้โชว์หรือจับอวัยวะเพศของกันและกัน การบังคับให้กินของแปลก หรือดื่มสุราจนขาดสติ เป็นต้น หากรุ่นน้องคนใดไม่ปฏิบัติตามรุ่นพี่ก็จะใช้อำนาจในการ “ควบคุม” “ข่มขู่” หรือ “ลงโทษ” เพื่อให้รุ่นน้องเกิดความเกรงกลัว หรืออับอายขายหน้า ซึ่งการกระทำของรุ่นพี่ดังกล่าว หากพิจารณาจากมุมมองด้านสิทธิมนุษยชน อาจถือได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้าน “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” (Right to Human Dignity) และกฎหมายรัฐธรรมนูญ ปี 2540 และ ปี 2550 มาตรา 4 ได้บัญญัติไว้ว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง
การรับน้องในปีนี้ แม้ว่ารุ่นพี่หลายคนยังศรัทธาระบบโซตัสก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ หากกิจกรรมดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานการเคารพสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และมีเป้าหมายที่จะทำให้น้องใหม่เกิดความ “ประทับใจ” มากกว่า “ความสะใจ” ของรุ่นพี่ เพราะปัญหาที่ผ่านมาของการรับน้องในระบบโซตัสโดยส่วนใหญ่มักเกิดจากการสืบทอดและผลิตซ้ำ “อำนาจและความรุนแรง” ในสังคม มากกว่าเป้าหมายในเชิงคุณค่าทางจิตใจ เช่น การสร้างความรักและความสามัคคีระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง

จะเป็นไปได้หรือไม่ที่ “รุ่นพี่ยุคใหม่” จะพัฒนาระบบโซตัสใหม่ที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์และดูแลรุ่นน้องเสมือนครอบครัวภายใต้รั้วสถาบันเดียวกัน ไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจจะได้เห็นนวัตกรรมใหม่ในการรับน้องเช่น พี่ว๊ากที่ทำหน้ารักษากฎระเบียบโดยไม่ใช้ความรุนแรง หรือ รุ่นพี่ที่ทำโทษรุ่นน้องด้วยวิธีการที่สนุก สร้างสรรค์ และสร้างความสัมพันธ์อันดี หากเป็นเช่นนี้มาตรการคุมเข้มของกระทรวงศึกษาธิการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็คงไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป

โดย : อัญญาวีร์ อุนสวัสดิ์อาภา ในกรุงเทพธุรกิจ

เกี่ยวกับ บุรินทร์ รุจจนพันธุ์

เป็นอาจารย์ฺประจำสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะบริหารธุรกิจและรัฐประศาสนศาสตร์ สอนด้านสื่อและเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ ระบบปฏิบัติการ ระบบฐานข้อมูล การโปรแกรม การพัฒนาระบบสารสนเทศ รับผิดชอบงานบริการวิชาการ สนใจงานวิจัยเกี่ยวกับ การวิจัยเพื่อท้องถิ่น การประกันคุณภาพการศึกษา การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม การวิจัยในชั้นเรียน และระบบสารสนเทศ
เรื่องนี้ถูกเขียนใน งานประชาสัมพันธ์ รับนักศึกษา และติดป้ายกำกับ , , , คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น