กระบวนการเขียนบทความวิชาการที่มีคุณภาพ
สุจิรา หาผล*
ความหมายของบทความ ความเรียงที่เขียนขึ้นมีหลักฐานข้อเท็จจริง ที่ผู้เขียนได้แทรกข้อเสนอแนะเชิงวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์เอาไว้ด้วยในเนื้อหา
ลักษณะเฉพาะของบทความ
1. เป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจในขณะนั้น อาจเป็นปัญหาที่ต้องการคำตอบว่าจะดำเนินต่อไปอย่างไร หรือมีผลอย่างไร
หรือเป็นเรื่องที่อยู่ในยุคสมัย (In trend)
2. มีแก่นสาร มีสาระ ได้ความรู้ หรือแนวคิดเพิ่มเติม มีลักษณะเชิงคิดวิพากษ์ (Critical Thinking)
3. มีทัศนะ ข้อคิดเห็น ตลอดจนแนวทางข้อเสนอแนะของผู้เขียนแทรกด้วย โดยอาจยกแนวคิดทฤษฎีต่างๆ ประกอบ
4. วิธีการเขียนน่าอ่าน ชวนติดตาม ท้าทายความคิด สนุก เพลิดเพลินจากความคิดที่นำเสนอในเชิงโต้แย้ง
5. เนื้อหาสาระและสำนวนภาษาเหมาะสมกับบทความเชิงวิชาการ
ชนิดของบทความ แบ่งออกเป็น 2 แบบใหญ่ ดังนี้
1. บทความเชิงสาระ (Formal Essay) เน้นเรื่องวิชาการ ผู้เขียนต้องการถ่ายทอดความรู้อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นสำคัญ
2. บทความเชิงปกิณกะ (Informal Essay) เน้นความรู้สึกสนุกสนานเพลิดเพลินแก่ผู้อ่าน ด้วยบทความที่มีแก่นสาร ซึ่งมีเนื้อหาสาระประกอบกับการใช้สำนวนโวหารให้เกิดอรรถรส
บทความวิชาการ เป็นงานเขียนซึ่งผู้เขียนได้กำหนดวัตถุประสงค์ตามหลักวิชาการที่ชัดเจน วิเคราะห์ประเด็นปัญหา รวมทั้งสรุปประเด็นดังกล่าว โดยอาจนำความรู้จากแหล่งข้อมูลต่างๆ มาวิเคราะห์ และอาจแทรกทัศนะต่างๆ ทางวิชาการของผู้เขียนไว้อย่างชัดเจนและอาจมีการเสนอแนะการแก้ปัญหาหรือวิเคราะห์คาดการณ์ประเด็นต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตไว้ด้วยก็ได้
องค์ประกอบบทความวิชาการ ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน คือ ส่วนนำ (Introduction) ส่วนเนื้อหา (Body) และส่วนท้าย (Conclusion)
ประเภทบทความวิชาการ สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้
ประเภทที่ 1 บทความวิชาการทั่วไป บทความที่นำเสนอความรู้ทางวิชาการและประสบการณ์ของผู้เขียน งานเขียนลักษณะนี้เป็นการนำข้อมูลความรู้ต่างๆ มาเรียบเรียง สอดแทรกความคิดเห็น เป็นลักษณะบทความกึ่งวิชาการ
ประเภทที่ 2 บทความปริทัศน์ บทความที่นำเสนอเนื้อหาเชิงวิชาการที่มีการสังเคราะห์ โดยการวิเคราะห์ เปรียบเทียบ สรุปประเด็น วิจารณ์ และมีข้อเสนอแนะ เป็นต้น
ประเภทที่ 3 บทความวิจัย นำเสนอผลการค้นคว้าวิจัยใหม่ๆ ด้วยการนำเสนอความเป็นมา การทบทวนวรรณกรรม ระเบียบวิธีวิจัย บทสรุป และข้อเสนอแนะ
กระบวนการเขียนบทความวิชาการ
ประกอบด้วย 1) การกำหนดแนวคิด 2) การวิเคราะห์แนวคิด 3) การกำหนดชื่อเรื่อง 4) การวางโครงเรื่อง 5) การลงมือเขียน 6) การทบทวน การประเมินผลงานเขียน และ7) การกำหนดสาระสังเขป
1) การกำหนดแนวคิด ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้อ่านสนใจ และต้องเป็นเนื้อหาผู้เขียนมีความรู้และเชี่ยวชาญ สามารถศึกษา ค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อนำมาแสดงความคิดเห็นหรือเสนอแนวทางได้อย่างเหมาะสม
2) การวิเคราะห์แนวคิด พิจารณาถึงประเด็นที่จะเขียน มีการทบทวนขอบเขตของแนวคิดอย่างละเอียด เพื่อวางโครงเรื่อง
3) การกำหนดชื่อเรื่อง การตั้งชื่อเรื่องต้องครอบคลุมเนื้อหาและสื่อถึงแนวคิดอย่างชัดเจน เพื่อให้การตั้งชื่อเรื่องดูเหมาะสม อาจต้องไปสำรวจชื่อหนังสือ ชื่อบทความต่างๆ ของวารสารต่างๆ จากฐานข้อมูลห้องสมุดรวมถึงแหล่งสารสนเทศอื่นๆ เช่น จากเว็บไซต์ต่างๆ
4) การวางโครงเรื่อง คือ การวางแผนการเขียนเนื้อหา โดยการลำดับเนื้อหา อาจลำดับตามเวลา ตามความสำคัญ หรือจากการตั้งประเด็น ซึ่งคล้ายคลึงกับการตั้งโจทย์คำถาม แล้วตอบคำถามทีละประเด็น การลำดับแบบใดแบบหนึ่งควรจะพิจารณาร่วมกับวัตถุประสงค์การเขียนและขอบเขตเนื้อหาด้วย
5) การลงมือเขียน ประกอบด้วยการเขียน ส่วนนำ เนื้อเรื่อง และบทสรุป
6) การทบทวนและการประเมินผลงานเขียน อาจกระทำได้ด้วยตัวเอง หรือเชิญผู้ทรงคุณวุฒิประเมินงานเขียน
7) การกำหนดสาระสังเขป เป็นขั้นตอนการมองภาพรวมทั้งหมดของผลงานการเขียนตั้งแต่ต้นจนจบ (overview)
วิธีการหาข้อมูลเนื้อหา
ก่อนที่เขียนบทความ ผู้เขียนต้องสืบเสาะหาสาระจากความรู้และเรื่องราวอันเป็นข้อมูลต่างๆ เพื่อเป็นแก่นและเนื้อหาสำหรับการเขียน เพราะเป็นการเขียนประเภทที่ไม่ใช่แต่งหรือสมมติขึ้นเองได้ อาจหาข้อมูลได้จากแหล่งต่างๆ ดังนี้
1. จากการสัมภาษณ์ สอบถามผู้รู้
2. จากการสืบค้น เสาะแสวงหาว่าที่ใดมีข้อมูลที่ต้องการ ลงไปดูสถานที่จริง ไปพบบุคคล สังเกตเหตุการณ์ต่างๆ ที่มีข้อมูลเหล่านั้น
3. จากข่าวสารตามหนังสือพิมพ์รายวัน ข่าวสดทั้งใหม่และเก่า ตั้งแต่เรื่องที่เป็นประเด็นจนถึงเรื่องสามัญทั่วๆ ไป นักเขียนบทความ สามารถหยิบยกเรื่องจากประเด็นข่าวสดต่างๆ มาเขียนอ้างได้
4. จากหนังสือและบทความในวารสารต่างๆ
5. จากบุคคลต่างๆ เริ่มจากบุคคลที่อยู่ใกล้ตัวเรา จนถึงบุคคลที่มีการแนะนำอ้างถึง
6. จากการเดินทางท่องเที่ยว สามารถเก็บภาพต่างๆ ออกมาเขียนเป็นข้อมูล และสามารถนำมาเขียนอ้างอิง เสนอแนะต่างๆ ได้
7. จากปฏิทินในรอบปีซึ่งมีถึง 12 เดือน มีเทศกาลมากมายหลากหลาย ตั้งแต่พระราชพิธีต่างๆ จนถึงงานเทศกาลของแต่ละจังหวัด
8. จากแวดวงไม่ว่าจะเป็นบันเทิงคดี การเมือง การศึกษา ครอบครัว กีฬา และสถานบันต่างๆ
วิธีเขียนบทความ
การเขียนบทความที่มีคุณภาพ ผู้เขียนต้องรู้จักวางโครงเรื่องให้ดี เพราะโครงเรื่องจะช่วยควบคุมการเขียน ให้เป็นไปตามแนวคิดที่กำหนดไว้ เป็นการป้องกันมิให้เขียนวกวนกลับไปกลับมา โครงเรื่องของบทความแบ่งเป็น 3 ตอน ได้แก่
– เกริ่นนำ (Introduction) เป็นการขึ้นต้นบอกกล่าวให้รู้ว่าจะเขียนเรื่องอะไร การขึ้นเกริ่นนำมีอยู่ 2 แบบ คือ 1) การกล่าวขึ้นต้นทั่วไป ก่อนที่จะเข้าสู่เนื้อหาที่จะเขียน 2) กล่าวเจาะลงไปให้ตรงกับชื่อเรื่องที่จะเขียนเลย
การเขียนบทนำต้องเขียนน่าอ่านชวนติดตาม เพราะผู้อ่านส่วนใหญ่นิยมอ่านย่อหน้าแรกก่อน หากอ่านแล้วไม่น่าติดตามก็จะไม่อ่านส่วนต่อไป
– เนื้อเรื่อง (Body) แบ่งเป็น 2 ตอน คือ 1) ส่วนแรกเป็นการขยายความ ที่ได้เกริ่นในบทนำแล้ว หากผู้อ่านยังติดตามความคิดที่ผู้เขียนได้เกริ่นไว้ ยังไม่เข้าใจดีพอ ก็ต้องขยายความออกไป เพื่อช่วยให้เข้าใจได้มากขึ้น 2) ส่วนที่สองเป็นรายละเอียด มีสถิติ การเก็บรวบรวมข้อมูล การเปรียบเทียบ ยกตัวอย่างประกอบ แต่ต้องอย่าให้มากจนผู้อ่านอาจไม่อยากติดตาม ต้องดูความเหมาะสม แต่ถ้าเป็นบทความจากงานวิจัยก็นำเฉพาะประเด็นที่สำคัญเท่านั้น เพราะจะทำให้เนื้อหามากจนดูเฝือ
– บทสรุป (Conclusion) เป็นส่วนที่แสดงทัศนะข้อคิดเห็นของผู้อื่นที่นำมาอภิปรายเพื่อให้ภาพรวมของบทความดูมีความน่าเชื่อถือ รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะในการแก้ไขประเด็นปัญหาต่างๆ
วิธีการเขียนเกริ่นนำ
การเขียนเกริ่นนำถือว่าเป็นบทที่ยากที่สุด ถ้าเริ่มได้ดีก็จะช่วยให้การเขียนในส่วนต่อไปไหลลื่น การเขียนบทนำจึงเป็นส่วนที่ต้องการความละเมียดละไมอย่างมากเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับผู้อ่าน ทำให้ส่วนต่อไปซึ่งเป็นเนื้อหาของเรื่องน่าชวนติดตาม การเขียนบทนำ มีหลากหลายวิธีดังต่อไปนี้
1. นำด้วยข่าว
2. นำด้วยการอธิบาย
3. นำด้วยการเสนอความคิดเห็น
4. นำด้วยการใช้คำที่ทำให้ผู้อ่านเกิดความสนใจ
5. นำด้วยการเล่าถึงความสำคัญ
6. นำด้วยการประชดประชันหรือเสียดสี
7. นำด้วยการตั้งคำถาม
8. นำด้วยการสรุปใจความสำคัญของเรื่อง
9. นำด้วยสุภาษิต คำพังเพย คำคม บทกวี ที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับเรื่อง
10. นำด้วยสุนทรพจน์ของผู้นำ บุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคม
วิธีการเขียนเนื้อเรื่อง
เนื้อเรื่องเป็นส่วนเนื้อหาสาระที่สำคัญ เป็นส่วนที่ยาวที่สุด รวมความคิดและข้อมูลทั้งหมด ย่อหน้าแต่ละย่อหน้าในเนื้อเรื่องจะต้องสัมพันธ์เป็นเนื้อเดียวกัน (Coherence) มีการเรียงลำดับขั้นตอนไม่วกวนไปมา (Organization without Circumlocution) ก่อนเขียนบทความผู้เขียนต้องหาข้อมูลความรู้ที่จะนำมาเขียน การหาข้อมูลดูวิธีการหาข้อมูลเนื้อหาข้างต้น
การเขียนเนื้อเรื่องควรคำนึงถึงความสำคัญดังต่อไปนี้
1. ใช้ถ้อยคำที่ถูกต้องตามความหมาย ตัวสะกดถูกต้องตามพจนานุกรม
2. ใช้สำนวนโวหารให้เหมาะกับเรื่อง ใช้ถ้อยคำที่เป็นทางการ ใช้ศัพท์เฉพาะในการเขียนบทความทางวิชาการ ใช้ถ้อยคำที่สำนวน คำแสลงได้ สำหรับการเขียนบทความทั่วไป
3. ข้อมูล เหตุผล สถิติและการอ้างอิงประกอบเรื่อง ที่เข้าใจง่ายและเชื่อถือได้
วิธีการเขียนสรุป
การเขียนบทความในส่วนสรุปหรือบทลงท้าย ส่วนนี้ผู้เขียนต้องการบอกเล่าให้ผู้อื่นทราบว่า ข้อมูลทั้งหมดที่เสนอมาทั้งหมดจะจบลงแล้ว ผู้เขียนควรมีกลวิธี ที่จะทำให้ผู้อ่าน พอใจ ประทับใจ ตอนสรุปนี้เป็นส่วนที่ผู้เขียนจะฝากความคิดและประเด็นปัญหาไว้กับผู้อ่านหลังจากที่อ่านแล้ว การเขียนสรุปหรือบทลงท้ายมีหลายแบบดังนี้
1. สรุปด้วยใจความสำคัญ (Main Idea or Theme)
2. สรุปด้วยการแสดงความประสงค์ของผู้เขียน (Writer’s Intention)
3. สรุปด้วยคำถามที่ชวนให้ผู้อ่านคิดหาคำตอบ (Questions)
4. สรุปด้วยการใช้คำกล่าว คำคม บทกวี สุนทรพจน์ ที่ประทับใจ (Sayings, Quotes, or Speeches)
5. สรุปด้วยการใช้สำนวนโวหาร การเล่นคำ (Rhetorical Expressions)
อ้างอิง
http://elearning.spu.ac.th/content/thi114/write5.html. เข้าถึงเมื่อ 11 พ.ค. 2557
http://stks.or.th/wiki/doku.php?id=academic-writing:academic-article. เข้าถึงเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2557