วิทยากร ศ.ดร.วัลลภ ลำพาย
23 มิถุนายน 2558 เวลา 10.30 – 16.30 น.
สรุปองค์ความรู้ที่ได้รับ
ศาสตราจารย์ ดร. วัลลภ ลำพาย บรรยายถึงการทำวิจัยทางสังคมศาสตร์ โดยเริ่มต้นจากนิยามคำว่าการวิจัยคืออะไร วิธีการหาเหตุผลวิธีต่าง ๆ ทั้งแบบนิรนัย Deductive Reasoning และแบบอุปนัย Inductive Reasoning ต่อมาก็เป็นเรื่องขั้นตอนการทำวิจัย การเขียนรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ โดยให้ผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้ทำโครงร่างของการวิจัย เสนออาจารย์ผู้สอน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการทำวิจัยโดยเน้นการทำวิจัยเชิงปริมาณในทางสังคมศาสตร์
การวิจัย ดร.วัลลภ ลำพาย ได้ให้นิยามไว้ว่า การวิจัยเป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ Scientific process ในการเก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล และตีความข้อมูล เพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ ความจริง ความเข้าใจ เพื่ออธิบายปรากฎการณื หรือปัญหาต่าง ๆ
ทั้งนี้การหาเหตุผลแบบนิรนัย เป็นการหาความรู้ที่เริ่มจากข้อเท็จจริงใหญ่ที่มีลักษณะกว้างๆ ไปหาข้อเท็จจริงย่อย แล้วจึงหาข้อสรุปที่เป็นเหตุผลระหว่างข้อเท็จจริงใหญ่กับข้อเท็จจริงย่อย
ส่วนการหาเหตุผลแบบอุปนัย เป็นการสรุปความจริงที่จะต้องอาศัยการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อหาข้อเท็จจริงย่อยๆ เพื่อนำมาสรุปเป็นข้อเท็จจริงใหญ่ซึ่งเป็นข้อสรุปโดยทั่วไป
การเขียนเค้าโครงการวิจัย เริ่มต้นจากการเลือกหัวข้อวิจัย ซึ่งหัวข้อที่ดีจะต้องมีลักษณะที่ไม่กว้างหรือแคบจนเกินไป เป็นหัวข้อที่มีประโยชน์ อยู่ในวิสัยที่ผู้วิจัยทำได้ และสอดคล้องกับสาขาที่ศึกษา
ต่อมาก็คือการเขียนความสำคัญของปัญหา Problems Statement ซึ่งจะต้องเป็นประเด็นที่น่าสนใจ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน โดยเขียนให้ตรงประเด็น รวมทั้งมีข้อมูลเชิงเหตุผล มีสถิติ ข้อมูล อ้างอิงให้น่าเชื่อถือ ไม่ยืดยาวจนน่าเบื่อ ใช้ภาษาที่ง่ายต่อความเข้าใจ และเขียนแค่ 4 ย่อหน้าก็เพียงพอ
ลำดับต่อมาคือการกำหนดวัตถุประสงค์ของการวิจัย โดย จะต้องกำหนดเป็นข้อ ๆ ให้ชัดเจน ควรขึ้นต้นวัตถุประสงค์ด้วยคำว่า “เพื่อ” และตามด้วยข้อความที่แสดงการกระทำในการวิจัย มีการจัดลำดับก่อนหลังของวัตถุประสงค์
ต่อมาคือเรื่องขอบเขตของงานวิจัย ต้องครอบคลุม 4 มิติ กล่าวคือ 1) ขอบเขตด้านเนื้อหา ศึกษาเรื่องอะไร 2) ขอบเขตด้านประชากร ศึกษากับใคร 3) ขอบเขตด้านภูมิศาสตร์ ศึกษาที่ไหน และ 4) ขอบเขตด้านเวลา ศึกษาในช่วงเวลาใดถึงช่วงเวลาใด
สุดท้ายของการเขียนเค้าโครงการวิจัยคือ ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ซึ่งจะต้องเป็นประโยชน์จริงๆ ที่คาดว่าจะได้รับจากงานวิจัยนี้ โดยอาจจะเป็นประโยชน์ในทางทฤษฎี หรือประโยชน์ในการประยุกต์ใช้ และห้ามเขียนล้อวัตถุประสงค์ของงานวิจัย
โดยครั้งนี้อาจารย์มีเวลาบรรยายเพียงแค่การเขียนเค้าโครงการวิจัย ส่วนต่อมาเพื่อให้งานวิจัยสมบูรณ์อาจจะต้องบรรยายในครั้งหน้า
อาจารย์รุ่งรัตน์ ธนบดีธาดา
ผู้วิเคราะห์ และสรุปองค์ความรู้