ตกม้าตายเรื่องฟอนต์ (itinlife586)

font

เริ่มต้นตัวอย่างภาพยนตร์เรื่องแฟนเดย์ ก็ยิงประโยคเด็ด คุณเคยรู้สึกเป็นหมาเหมือนผมไหมครับ ตามมาด้วย เป็นหมารับใช้ด้านไอที และ ไม่ต้องขอบคุณก็ได้ครับ สมัยนี้เด็กประถมเค้าก็ทำได้กันหมดแล้ว รู้สึกว่าที่พระเอกเทียบตัวเองเป็นหมา อาจเทียบกับนางเอกที่เป็นเครื่องบินก็ได้ เพราะนางเอกดูงดงามสูงส่งเหมือนเครื่องบิน แต่พระเอกดูต่ำต้อยเหมือนหมา ก็ไม่รู้ว่าคนไอทีทั่วไปจะคิดว่าตนเองเป็นอะไร เวลาที่คนในองค์กรสนใจ มักเป็นเวลาที่มีปัญหา หากไม่มีปัญหาก็ไม่เรียกหา แล้ววันหนึ่งก็มีเพื่อนส่งแฟ้มมาสอบถามเรื่องสีตัวอักษรในเอกสารที่ต้องการเผยแพร่

แฟ้มเวิร์ด (DOC) และแฟ้มพีดีเอฟ (PDF) ที่ส่งมามีหลายสิบหน้า แต่ละหน้ามี 1 กล่องข้อความ (Text Box) เป็นเนื้อหา ทำให้การจัดหน้าในแต่ละหน้า เป็นอิสระออกจากกันโดยสิ้นเชิง เพื่อนแจ้งว่าต้องเปลี่ยนสีทั้งเอกสารเป็นสีดำ เพราะกดเลือกทั้งหมด (Ctrl-A) แล้วไม่เปลี่ยน เนื่องจากการใช้กล่องข้อความจะต้องเข้าไปปรับสีในแต่ละกล่อง แนวคิดการใช้กล่องข้อความในแฟ้มเอกสารแบบนี้มักใช้กับการออกแบบหน้าของนิตยสารที่แต่ละหน้ามีรูปแบบแตกต่างกัน ระหว่างปรับสีในเครื่องของผม ก็พบว่ามีปัญหาเรื่องช่องไฟ และแท็บ จึงช่วยจัดใหม่เล็กน้อย ก่อนส่งออกเป็นแฟ้มพีดีเอฟ เพื่อนำไปใช้ หลังเสร็จงานแล้วส่งที่ปรับแก้กลับไปให้เพื่อน แล้วเค้าก็โทรกลับมาถามว่าทำไมตัวเลขไม่เป็นเลขไทย กลับเป็นเลขอาราบิก ไม่เหมือนต้นฉบับ

กลับไปตรวจสอบในรายละเอียดของแฟ้ม พบว่า แฟ้มต้นฉบับใช้ฟอนต์ TH NiramitIT๙ ซึ่งเป็นเหตุให้ผมพลาด เพราะเครื่องของผมไม่มีฟอนต์นี้ เวลาเพื่อนจัดทำเอกสาร แล้วใช้ฟอนต์ข้างต้น จะพิมพ์เลขอาราบิก หรือเลขไทย ก็จะเห็นเป็นเลขไทย แต่เวลาส่งแฟ้มนี้ให้ใคร ที่ไม่ติดตั้งฟอนต์นี้ก็จะมองเห็นว่าเป็นเลขอาราบิก หรือเลขไทย สรุปว่าการทำเอกสารที่ต้องส่งให้ใครเค้าเห็นเลขไทยเหมือนเราทำได้ 2 วิธี คือ วิธีแรก พิมพ์เลขไทยทั้งหมด ไม่พิมพ์สลับไปมาระหว่างเลขอาราบิกและเลขไทย วิธีที่สอง พิมพ์สลับไปมาผ่านฟอนต์ข้างต้น แต่ถ้าส่งแฟ้มเวิร์ดไปให้ใคร ต้องแจ้งว่าใช้ฟอนต์ข้างต้น เพราะผู้รับอาจตกม้าตายเหมือนผมที่ไม่ได้ติดตั้งฟอนต์ไทยสำหรับแปลงเลขไทย

http://www.scdc5.forensic.police.go.th/fonts.htm

https://www.youtube.com/watch?v=OPp2CoLdXcc

เกี่ยวกับ บุรินทร์ รุจจนพันธุ์

เป็นอาจารย์ฺประจำสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะบริหารธุรกิจและรัฐประศาสนศาสตร์ สอนด้านสื่อและเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ ระบบปฏิบัติการ ระบบฐานข้อมูล การโปรแกรม การพัฒนาระบบสารสนเทศ รับผิดชอบงานบริการวิชาการ สนใจงานวิจัยเกี่ยวกับ การวิจัยเพื่อท้องถิ่น การประกันคุณภาพการศึกษา การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม การวิจัยในชั้นเรียน และระบบสารสนเทศ
เรื่องนี้ถูกเขียนใน KM:ด้านการผลิตบัณฑิต และติดป้ายกำกับ คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น