กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

จากนิยามของการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นแนวการจัดการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนสร้างความรู้ โดยการใช้กระบวนการทางปัญญา(กระบวนการคิด) กระบวนการทางสังคม (กระบวนการกลุ่ม) และให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์และมีส่วนร่วมในการเรียนสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้ โดยผู้สอนมีบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวกจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้ผู้เรียน การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญต้องจัดให้สอดคล้องกับความสนใจ ความสามารถและความถนัดเน้นการบูรณาการความรู้ในศาสตร์สาขาต่างๆ ใช้หลากหลายวิธีการสอนหลากหลายแหล่งความรู้สามารถพัฒนาปัญญาอย่างหลากหลายคือ พหุปัญญา รวมทั้งเน้นการวัดผลอย่างหลากหลายวิธี (พิมพันธ์ เดชะคุปต์, 2554)

วิธีการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
1.การจัดการเรียนการสอน ให้ผู้เรียนมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้เรียนรู้ โดยพยายามจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้สร้างความรู้ ได้มีปฏิสัมพันธ์กับบุคคล สื่อ และสิ่งแวดล้อมต่างๆ โดยใช้กระบวนการต่างๆ เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้และผู้เรียนมีโอกาสนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์อื่น ผู้สอนจึงต้องมีหน้าที่เตรียมจัดสถานการณ์และกิจกรรมต่างๆ นำทางไปสู่ การเรียนรู้ โดยไม่ใช้วิธีบอกความรู้โดยตรง
2.การจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนทำงานร่วมกับคนอื่น ด้วยการใช้การสอนโดยให้ผู้เรียนเรียนรู้ร่วมกัน(Cooperative Learning) เป็นการจัดการเรียนการสอนที่แบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่มย่อยๆ กลุ่มละ 4-5 คน โดย สมาชิกในกลุ่มมีระดับความสามารถแตกต่างกัน สมาชิกทุกคนมีบทบาทหน้าที่ร่วมกันในการปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมาย วิธีการแบบนี้ผู้เรียนจะมีโอกาสสร้างปฏิสัมพันธ์ร่วมกันในเชิงบวก รับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมายจากกลุ่ม เพื่อพัฒนาทักษะทางสังคมและได้ใช้กระบวนการกลุ่มในการทำงานเพื่อสร้างความรู้ให้กับตนเอง

การติดตามผลลัพธ์การเรียนรู้ผ่านกระบวนการจัดการเรียนการสอน
ตัวบ่งชี้ผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักศึกษา
1.นักศึกษาทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกลุ่ม แสดงความคิดเห็นในการนำเสนอ อภิปรายอย่างมีเหตุผล
2.นักศึกษาได้ฝึกค้นคว้า รวบรวม วิเคราะห์ และ สังเคราะห์ ข้อมูล จากรายงานที่ได้รับมอบหมาย
3.นักศึกษาได้ฝึกตนเองให้มีวินัย และ รับผิดชอบในการทำงาน

ข้อมูลอ้างอิง
พิมพันธ์ เดชะคุปต์.2554.ทักษะ5Cเพื่อการเรียนรู้และการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ. พิมพ์ครั้งที่ 6,กรุงเทพฯ,สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ข้อความนี้ถูกเขียนใน การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ, คณะนิเทศศาสตร์, คณะบริหารธุรกิจและรัฐประศาสนศาสตร์ คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น