แนวทางการพัฒนารายได้สู่ชุมชน : การพัฒนาแป้งเพื่อสุขภาพ

                ในปัจจุบันภาครัฐมีนโยบายในการสนับสนุนงานวิจัยเพื่อนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรให้มีมูลค่าเพิ่มในเชิงการค้าอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นด้านการแปรรูปสินค้าเกษตรเป็นผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการนำพาประเทศที่จะพัฒนาไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตามแนวทางการพัฒนาประเทศสู่ Thailand 4.0 ให้สามารถขยายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวก่ำเป็นนวัตกรรมอาหารเพื่อสุขภาพได้มากยิ่งขึ้น

                 แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นผู้ส่งออกข้าวในระดับโลก แต่ประเทศไทยก็ไม่มีอำนาจในการกำหนดราคาข้าวในตลาดโลกเลย ประกอบกับมีคู่แข่งขันในตลาดโลกเป็นจำนวนมาก อาทิ เวียดนาม สหรัฐอเมริกา ออสเตรเรีย ปากีสถาน และจีน โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีเทคโนโลยีในการการพัฒนาพันธุ์ การเพาะปลูก และการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากข้าวในรูปแบบต่างๆ ดังนั้น การสร้างความแตกต่างให้กับข้าวไทย จึงมีความจำเป็นอย่างมากสำหรับประเทศไทยในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในด้านต่างๆ เช่น การปลูกข้าวอินทรีย์ การเพิ่มผลผลิต และการแปรรูปข้าว เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลกและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวไทย

             ศาสตราจารย์ ดร. อรอนงค์ นัยวิกุล เมธีส่งเสริมนวัตกรรม และอาจารย์ประจำคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทำการศึกษา วิจัย และพัฒนาเกี่ยวกับการ แปรรูปข้าวมามากกว่า 30 ปี ได้ให้มุมมองในการพัฒนานวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์ข้าว โดยได้มองถึงความคุ้นเคยและความสัมพันธ์ของข้าวที่มีต่อชาวไทยตั้งแต่สมัยอดีต ทั้งในด้านวัฒนธรรม ประเพณี สังคม และเศรษฐกิจ อันนำมาซึ่งความเจริญของประเทศไทย จวบจนปัจจุบันข้าวก็ยังคงเป็นสินค้าเศรษฐกิจหลักที่นำรายได้มาใช้เพื่อการพัฒนาประเทศอยู่ตลอดมา แต่ถ้าจะสร้างให้ข้าวมีความสำคัญต่อประเทศเช่นที่มีมาแต่เดิมตลอดไป เราคงต้องมองว่าเรากำลังทำอะไรกับข้าวอยู่ ปัจจุบันมีความแตกต่างจากอดีตมากน้อยแค่ไหน และทิศทางของอนาคตของข้าว ควรจะเป็นอย่างไร

           ในอดีตบรรพบุรุษของชาวไทยได้คิดค้นสูตรอาหารมากมายจากข้าว ทั้งที่คิดทำเพื่อเป็นอาหารสำหรับพระมหากษัตริย์ เช่น อาหารตำรับชาววัง หรืออาหารชาวกรุง ชาวบ้าน และอาหาร พื้นบ้านท้องถิ่นต่างๆ โดยผลิตภัณฑ์อาหารจากข้าวที่เรายังพอรู้จัก และซื้อหาได้ อาทิ ข้าวแช่ ข้าวยำ ข้าวหมก ข้าวหลาม ข้าวเส้น (ขนมจีน) ข้าวซอย ข้าวเม่าราง ข้าวเม่าหมี่ ข้าวเม่าทอด ข้าวเกรียบ และข้าวแตน หลายคนอาจไม่รู้จัก ไม่เคยทาน ไม่รู้ว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมีกระบวนการผลิตอย่างไร สิ่งนี้เองเป็นสิ่งที่ชี้ ให้เห็นว่าภูมิปัญญาของบรรพบุรุษของเรากำลังจะสูญหายไป ดังนั้น เราจึงควรนำอดีตของผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมาพัฒนาจนเกิดเป็นนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารจากข้าวในปัจจุบัน เพื่อสร้างโอกาส ทางการค้า อีกทั้งยังเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาของประเทศ

           การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวให้เป็นอุตสาหกรรมข้าวหลากหลายรูปแบบต้องดำเนินการศึกษาในทุกทาง ตั้งแต่งานวิจัยพื้นฐาน เริ่มตั้งแต่การสร้างรากฐานการผลิตข้าวด้วยพันธุ์ที่ หลากหลาย จนถึงการพัฒนากระบวนการแปรรูปข้าว ตลอดจน ผลิตภัณฑ์จากข้าว ผลิตภัณฑ์หมักดอง และผลพลอยได้จากข้าว ดังที่เห็นในปัจจุบัน เช่น ผลิตภัณฑ์ข้าวหุงสุกเร็ว ข้าวสำเร็จรูปบรรจุกระป๋องหรือบรรจุภัณฑ์อ่อนตัว ข้าวแช่เยือกแข็ง ก๋วยเตี๋ยว เส้นหมี่ ขนมจีน ข้าวเกรียบ ข้าวอบกรอบ น้ำมันรำข้าว เชื้อเพลิงจากแกลบ ทั้งนี้ เราควรดำเนินการพัฒนานวัตกรรมจากข้าว อย่างต่อเนื่องจนประเทศไทยได้ชื่อว่า “ ไทยเป็นผู้ผลิต ผู้ส่งออกข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าว ”

แนวทางการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมข้าวไทย 

จากการศึกษาพบว่าการพัฒนานวัตกรรมข้าวไทยสามารถพัฒนาได้ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรม ดังนี้

  1. กลุ่มการพัฒนานวัตกรรมในระบบการเพาะปลูกข้าว โดยการพัฒนาพันธุ์ข้าวให้มีผลผลิตและมีสารอาหารเพิ่มขึ้น เช่น Golden Rice เป็นข้าวที่มีสารเบต้า-แคโรทีนสูง รวมถึงการนำระบบเกษตรอินทรีย์เข้ามาใช้ในการปลูกข้าว และเทคโนโลยีต่างๆ ที่ใช้ในการปลูกข้าว
  2. กลุ่มนวัตกรรมข้าวไทยกับอุตสาหกรรมอาหารเช่น ข้าวที่ผ่านกระบวนการเพิ่มคุณค่าสารอาหาร (nutrient-enriched rice) และแป้งข้าวเจ้าที่เหมาะสำหรับการควบคุมน้ำหนัก (resistant starch) เป็นต้น
  3. กลุ่มนวัตกรรมข้าวไทยกับอุตสาหกรรมยาหรืออาหารเสริม เช่น การสกัดสารสำคัญออริซานอล (oryzanol) ไฟโตสเตอรอล (phytosterol) จากข้าว และการใช้ประโยชน์จากข้าวแดงได้จากการหมักข้าวด้วย red yeast (Monascus purpureus)
  4. กลุ่มนวัตกรรมข้าวไทยกับอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง การนำสารสกัดจากข้าวไปใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เช่น การนำกรดโคจิก (kojic acid) ที่มีคุณสมบัติในการยับยั้งการสร้างเม็ดสี (melanin) ของผิวหนัง และโปรตีนข้าว (hydrolyzed rice bran protein) เมื่อถูกนำผสมกับโปรตีนถั่วเหลืองจะมีคุณสมบัติในการลดรอยขอบตาดำ เป็นต้น
  5. กลุ่มนวัตกรรมข้าวไทยกับอุตสาหกรรมอื่นๆเช่น การนำแกลบซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการสีข้าวไปใช้ในอุตสาหกรรมยางรถจักรยานเพื่อให้มีลักษณะเบาและมีความยืดหยุ่นดี การนำแกลบไปเป็นส่วนผสมในการทำพื้นผิวถนน ตลอดจนการนำแกลบหรือฟางข้าวไปใช้ในอุตสาหรรมการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้

             จากที่กล่าวมาทั้งหมด กลุ่มเป้าหมายของการส่งออกผลิตภัณฑ์อยู่ที่ตลาดยุโรปสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อ และมีความตื่นตัวในการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในทุกอุตสาหกรรม ดังนั้น จึงเป็นโอกาสอันดีของประเทศไทยและคนไทยซึ่งมีวัตถุดิบที่มี คุณค่าอยู่ในมือ อันจะสามารถนำมาใช้เพื่อการสร้างให้เกิด เป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมด้านข้าว ทั้งนี้ เราจึงควรให้ความสำคัญ กับการพัฒนาจากสิ่งที่เรามีอยู่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่เพื่อใครแต่เพื่อตัวท่านเองและลูกหลาน ให้สมกับคำกล่าวที่ว่า “นวัตกรรมข้าวไทย คนไทยทำได้”

               ดังนั้นแนวทางการพัฒนารายได้สู่ชุมชน : การพัฒนาแป้งเพื่อสุขภาพ ถือเป็นทางเลือกหนึ่งในการขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารเพื่อสุขภาพ โดยสามารถนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเผยแพร่ให้กับชุมชน ซึ่งเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมนวัตกรรมอาหารสุขภาพ เป็นการาส่งเสริมสุขภาพในชุมชน และนำมาซึ่งรายได้เข้าสู่ชุมชนต่อไป 

เรื่องนี้ถูกเขียนใน ทั่วไป และติดป้ายกำกับ , , คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น