การเตรียมความพร้อมนักศึกษาก่อนเข้าฝึกงานในสถานประกอบการ (ชั้นปีที่ 1)

การเตรียมความพร้อมนักศึกษาก่อนเข้าฝึกงานในสถานประกอบการ (ชั้นปีที่ 1)
โดย อาจารย์ชีวิน สุนสะธรรม

การฝึกงานตั้งแต่ชั้นปีที่หนึ่งนั้นเป็นแนวคิดและนโยบายของมหาวิทยาลัยเนชั่น มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง เพื่อเป็นการตอบสนอกงนโยบายดังกล่าว คณะนิเทศศาสตร์ จึงได้ส่งนักศึกษาเข้าฝึกงานในชั้นปีที่ 1 มาโดยตลอด

ช่วงแรกของการส่งนักศึกษาเข้าฝึกงานนั้น คณะนิเทศศาสตร์ จะได้รับกับ คำตำหนิติเตียน จากองค์กรที่นักศึกษาไปฝึกงานอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจาก นักศึกษา ยังไม่ได้เรียนรู้ศาสตร์ใดใดของนิเทศศาสตร์ เพราะในชั้นปีที่ 1 นักศึกษาเรียนรู้แต่วิชาพื้นฐาน ดังนั้น เมื่อไปฝึกงาน จึงทำให้นักศึกษายังไม่รู้เรื่องใดๆเลยโดยเฉพาะเรื่องการใช้อุปกรณ์หรือศาสตร์ด้านการสื่อสาร ไม่เพียงแค่นั้น นักศึกษายังขาดประสบการณ์ และวินัยรวมถึง การพบปะพูดคุยกับผู้ใหญ่ จึงทำให้นักศึกษาได้รับคำตำหนิกลับมาอยู่เป็นประจำ และเนื่องจากนักศึกษายังไม่มีความรู้ด้านนิเทศศาสตร์ ในการไปฝึกงานตั้งแต่ตี 1 ทำให้นักศึกษาหลายคนไม่ได้รับมอบหมายงานใดๆ จึงทำให้ขาดโอกาสที่จะได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง สรุปได้ว่าการเรียนรู้ จากประสบการณ์จริงหรือการไปฝึกงานตั้งแต่ปีที่ 1 นั้น ไม่ได้ทำให้เกิดผลดีต่อนักศึกษามากอย่างที่คาดหวังไว้

คณะนิเทศศาสตร์จึงได้จัดทำโครงการ Media Training ขึ้น เพื่อให้นักศึกษาปี 1 ได้เรียนรู้ เรื่องการฝึกงาน และเรียนรู้ เรื่องของนิเทศศาสตร์ การใช้เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ในงานนิเทศ จากอาจารย์และรุ่นพี่ที่เคยไปฝึกงานมาก่อน เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่จะต้องฝึกงานจริงในปี 2

การจัด Media Training Program โดยคณะนิเทศศาสตร์นั้นจัดขึ้นมาแล้วทั้งหมด 3 ครั้งด้วยกันซึ่งแต่ละครั้งก็ได้มีการปรับปรุงพัฒนาไปอยู่เรื่อยๆ เริ่มจากครั้งที่ 1 คณะให้ตัวแทนจากฝ่ายต่างๆในเครือเนชั่น เข้ามาอบรมให้กับนักศึกษาพร้อมมอบหมายงานให้ทำและกลับมาตรวจงานของนักศึกษา ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นจากการอบรมในครั้งแรกนั้น คือ ตัวแทนจากฝ่ายต่างๆที่มาจากเครือเนชั่นนั้นไม่มีเวลาพอที่จะอบรมให้กับนักศึกษา และไม่มีเวลาพอที่จะตรวจงานให้กับนักศึกษา จึงสามารถจัดได้เพียงหนึ่งปีเท่านั้น การอบรมแบบนี้จึงต้องสิ้นสุดไป

เมื่อเข้าถึงปีที่ 2 คณะนิเทศศาสตร์ ต้องการจะให้นักศึกษาได้ทดลองทำงานจริง คณะจึงได้จัดตั้ง ช่องยังเท (Young Te) ซึ่งเป็นสถานีสำหรับวัยรุ่นขึ้นมา เพื่อให้นักศึกษาได้ทำรายการให้กับช่องดังกล่าว โดยนักศึกษาจะต้องทำรายการทั้งสิ้น 4 รายการภายใน 5 สัปดาห์เฉลี่ยสัปดาห์ละ 1 รายการโดยสัปดาห์แรก คณะได้จัดให้เป้นการอบรมเท่านั้น จากการอบรมและทำรายการ ทำให้นักศึกษามีประสบการณ์ในการทำรายการ และมีประสบการณ์ในการใช้กล้อง และเครื่องมือต่างๆอย่างมากมาย แต่เนื่องจากเวลาน้อย และเร่งรัดเกินไป นักศึกษายังไม่คุ้นชินกับการทำรายการจึงทำให้บางกลุ่ม ไม่สามารถ ทำรายการได้ตามกำหนด

เมื่อมาถึงปีล่าสุด การอบรม Media Training ก็ได้เปลี่ยนรูปแบบ ให้มีการดูงานมากขึ้น และยังจัดให้มีการอบรมจากรุ่นพี่ที่สำเร็จการศึกษาไปแล้วที่ทำงานในด้านสื่ออีกด้วย นอกจากนั้นยังให้นักศึกษาจัดทำรายการ Facebook Live รายการ วาไรตี้ รวมถึง จัดทำเสวนาและคลิปท่องเที่ยวเมืองไทยและโปสเตอร์โฆษณามหาวิทยาลัยอีกด้วย การที่ให้นักศึกษา ได้ทำชิ้นงานหลากหลายแบบนี้ ทำให้นักศึกษา มีความรู้ด้านนิเทศศาสตร์กว้างมากขึ้นและเข้าใจว่างานด้านนิเทศศาสตร์นั้น ไม่ใช่เป็นเพียงแต่งานบรอดคาสติ้งเท่านั้น

สรุปได้ว่า การจัดโครงการ Media Training นั้น สร้างความพร้อมให้กับนักศึกษาก่อนที่จะไปฝึกงานได้เป็นอย่างดีไม่เพียงเท่านั้นยังสร้างความพร้อม ก่อนที่นักศึกษาจะขึ้นเรียนชั้นปีที่ 2 อีกด้วย นักศึกษาที่ผ่านการอบรม Media Training มานั้นจะมีวินัยและมีความตรงต่อเวลามากขึ้น พร้อมสู่การเป็นนักนิเทศศาสตร์มืออาชีพได้มากขึ้น

ข้อความนี้ถูกเขียนใน KM:ด้านการผลิตบัณฑิต, การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ, คณะนิเทศศาสตร์, ทั่วไป คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น