คู่มือการพัฒนาการผลิตผลงานวิจัย-ผลงานวิชาการ ปีการศึกษา 2563

สถาบันอุดมศึกษามีพันธกิจหลักที่สําคัญในด้านการผลิตบัณฑิต การวิจัย การบริการวิชาการแก่สังคม และการทํานุบํารุงศาสนาและศิลปวัฒนธรรม ภายใต้พันธกิจด้านการวิจัย สถาบันอุดมศึกษาควรสนับสนุนและส่งเสริมให้บุคลากรของสถาบันให้มีการดําเนินการวิจัย เพื่อค้นหาองค์ความรู้ใหม่และสามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติงานเพื่อพัฒนาองค์กรในด้านต่างๆ การทำวิจัยและเผยแพร่องค์ความรู้เชิงวิชาการถือเป็นพันธกิจหลักอย่างหนึ่งของอาจารย์ในมหาวิทยาลัย และเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดสำคัญด้านคุณภาพของมหาวิทยาลัย ซึ่งผลที่เกิดจากการศึกษา คิดค้น วิจัยและพัฒนา อย่างถูกต้องและเป็นระบบ จะสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และผลงานวิจัยที่แล้วเสร็จควรนำไปเผยแพร่ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า

เพื่อให้ทราบถึงแนวทางในการพัฒนาการผลิตผลงานวิจัย/ผลงานวิชาการเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูล TCI 2 อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพของอาจารย์และส่งผลต่อคุณภาพของมหาวิทยาลัย คณะบริหารธุรกิจและรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเนชั่น จึงได้จัดทำแผนการจัดการความรู้ (Knowledge Management: KM) ในประเด็นการพัฒนาการผลิตผลงานวิจัย/ผลงานวิชาการเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูล TCI 2 โดยได้จัดให้มีกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อเป็นเวทีในการถ่ายทอดองค์ความรู้จากอาจารย์ที่มีความรู้ ความชำนาญและมีประสบการณ์ในการผลิตผลงานวิจัย/ผลงานวิชาการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูล TCI 2 เพื่อเป็นประโยชน์ต่ออาจารย์ท่านอื่น ที่จะนำความรู้ที่ได้รับจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปใช้เป็นแนวทางในการเตรียมความพร้อมเพื่อให้ได้รับการตอบรับเข้าร่วมการตีพิมพ์/เผยแพร่ผลงานวิจัยต่อไป ซึ่งสามารถสรุปเป็นแนวทางในการพัฒนาการผลิตผลงานวิจัย/ผลงานวิชาการเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูล TCI 2 ดังนี้

หลักการเขียนบทความวิจัย

การเขียนบทความวิจัยในเชิงวิชาการที่ถูกต้อง จะต้องครอบคลุมสาระตามกระบวนการวิจัย  โดยเขียนให้กระชับ  ครบถ้วน ชัดเจน  และศึกษารูปแบบการเขียนตามที่แหล่งเผยแพร่กำหนด เช่น ใช้ตัวอักษร (Fonts) อะไร ขนาดเท่าใด (Point) ตั้งค่าขอบกระดาษอย่างไร ซึ่งต้นฉบับมักใช้เป็น Word (*.doc) รวมทั้งสิ้นไม่ควรเกิน  8  หน้ากระดาษ  A4  ภาษาไทยใช้ตัวอักษร Angsana  New  ขนาด  16  Point ซึ่งการปฏิบัติตามข้อกำหนดเป็นสิ่งสำคัญและส่งผลต่อการรับพิจารณาบทความ จึงควรตรวจสอบรูปแบบรายละเอียดการเขียนของแต่ละวารสารจากหัวข้อ “Guide for authors” ซึ่งส่วนประกอบของบทความวิจัยทั่วไป มีดังนี้

1.ชื่อเรื่อง ให้มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยการกำหนดชื่อเรื่องต้องน่าสนใจ เป็นเรื่องที่กำลังอยูในความสนใจ สมบูรณ์แต่กระชับ ประกอบด้วยคำสำคัญ ตัวแปรต้น ตัวแปรตาม

2.ชื่อผู้วิจัย ให้ระบุชื่อเต็ม – นามสกุลเต็ม  ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ  รวมทั้งระบุหลักสูตร สาขาวิชา  หน่วยงานหรือสถาบันที่สังกัด  หมายเลขโทรศัพท์/โทรสาร  และ E-mail  address  ที่สามารถติดต่อได้ (ตามรูปแบบที่สารสารกำหนด) ในกรณีที่เป็นนักวิจัยหน้าใหม่ ควรมีชื่อนักวิจัยร่วมที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ

3.บทคัดย่อ ให้มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ควรศึกษาว่าบทคัดย่อให้เขียนได้ทั้งหมดกี่คำ โดยทั่วไปความยาวไม่เกินอย่างละ 250 คำ หรือ 10 บรรทัด โดยมีเฉพาะสาระสำคัญ ครบถ้วน ตรงประเด็น สั้นแต่กระชับ บทคัดย่อควรประกอบด้วย

3.1 วัตถุประสงค์การวิจัย

3.2 ตัวแปร/ประชากร และกลุ่มตัวอย่าง

3.3 เครื่องมือการวิจัย

3.4 วิธีดำเนินการรวบรวมข้อมูล

3.5 วิธีการ/สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล

3.6 ผลการวิจัยและข้อเสนอแนะ (ผลต้องตอบวัตถุประสงค์อย่างชัดเจน)

4.คำสำคัญ ให้ระบุคำสำคัญที่เหมาะสมสำหรับการนำไปใช้เป็นคำค้นในระบบฐานข้อมูลให้ระบุทั้งคำในภาษาไทยและภาษาอังกฤษใส่ไว้ท้ายบทคัดย่อของแต่ละภาษาอย่างละไม่เกิน 5 คำ

5.บทนำ (Introduction) อธิบายภูมิหลังที่มา ความสำคัญของปัญหาและเหตุผล (Background/ Significance and Rationale) ที่นำไปสู่การศึกษาวิจัย หรือการปรับปรุง พัฒนา ให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่จะก่อให้เกิดประโยชน์อะไรบ้าง และผู้ได้รับประโยชน์คือใคร มีแนวคิดอย่างไร ในการแก้ปัญหา หรือพัฒนาปรับปรุงแก้ไข และแนวคิดดังกล่าวได้มาอย่างไร (อาจได้มาจากการศึกษาเอกสาร หรือจาก ประสบการณ์ตรงที่ได้จากการสังเกต การสัมภาษณ์ เป็นต้น) พร้อมระบุแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือและตรวจสอบได้

6.วัตถุประสงค์ของการวิจัย ระบุว่าต้องการทำอะไร กับใคร และจุดหมายปลายทางหรือผลลัพธ์สุดท้ายที่ผู้วิจัยต้องการคืออะไร

7.ขอบเขตของการวิจัย ให้ระบุทั้งขอบเขตด้านเนื้อหา และด้านประชากร/กลุ่มเป้าหมาย/ผู้ให้ข้อมูลหลัก/        ตัวแปรที่ศึกษา (อย่างใดอย่างหนึ่ง)

8.กรอบแนวคิดในการวิจัย/สมมติฐานการวิจัย ให้เสนอกรอบแนวคิดการวิจัย หรือสมมติฐานการวิจัย

9.วิธีดำเนินการวิจัยและระเบียบวิธีวิจัย

9.1  ชนิดหรือประเภทการวิจัย

9.2  ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง  (รวมทั้งการได้มาของกลุ่มตัวอย่าง)

9.3  เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย  พร้อมวิธีการตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือ

9.4  วิธีดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูล

9.5  การวิเคราะห์ข้อมูล  และสถิติที่ใช้ (สำหรับข้อมูลเชิงปริมาณ)

10.ผลการวิจัย (Results) เสนอผลการวิจัยอย่างชัดเจน สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ ถ้าเป็นข้อมูลเชิงปริมาณที่มีตัวเลขหรือตัวแปรจำนวนมาก ควรนำเสนอด้วยตารางหรือแผนภูมิ ทั้งนี้ไม่ควรเกิน 3 ตาราง โดยมีการแปลความหมายและวิเคราะห์ผลที่ค้นพบร่วมด้วย

11.การอภิปรายผล หรือการวิจารณ์และสรุป (Discussions) เป็นการชี้แจงผลการวิจัยว่าตรงกับวัตถุประสงค์ / สมมติฐานการวิจัย สอดคล้อง หรือขัดแย้งกับหลักทฤษฎี  หรือผลการวิจัยของผู้อื่นที่มีอยู่ก่อนหรือไม่ การที่ผลการวิจัยออกมาเป็นเช่นนั้นเพราะเหตุใด

12.ข้อเสนอแนะ ให้ข้อเสนอแนะในการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์และให้แนวทางสำหรับการวิจัยต่อไป

13.บรรณานุกรม (References) ควรระบุรายการแหล่งข้อมูลในการอ้างอิงเนื้อหา (cite index) และการอ้างอิงท้ายเล่ม (reference) โดยเลือกแหล่งข้อมูลที่สำคัญซึ่งใช้อ้างอิงบ่อยจำนวน 5-10 รายการ ตามรูปแบบของแหล่งเผยแพร่นั้นๆ กำหนด

รูปแบบการเผยแพร่บทความวิจัย :

โดยทั่วไปแล้วการเผยแพร่ผลงานวิจัยนั้นสามารถแบ่งเป็น 2 ลักษณะคือ

  1. การเผยแพร่ในที่ประชุมวิชาการระดับชาติหรือนานาชาติ (Conference) เป็นการส่งบทความวิจัยเข้าร่วมการนำเสนอในการประชุมวิชาการ ในรูปแบบโปสเตอร์ (poster) หรือแบบปากเปล่า (oral) โดยบทความวิจัยจะต้องผ่านการพิจารณาประเมินคุณค่าและความถูกต้องจากบรรณาธิการ และบทความที่ได้รับอนุมัติให้เข้าร่วมการนำเสนอจะได้รับการตีพิมพ์รวมเล่มในเอกสารประกอบการประชุมวิชาการ (Proceedings) ซึ่งผู้วิจัยจะต้องพิจารณาหน่วยงานที่จัดประชุม คณะกรรมการ บรรณาธิการ ตลอดจนพิจารณาความเกี่ยวข้องของสาขาที่ประชุมวิชาการให้ตรงกับความเชี่ยวชาญของนักวิจัย ข้อดีของการเผยแพร่รูปแบบนี้คือ ผลงานวิจัยได้รับการเผยแพร่สู่ผู้สนใจได้อย่างรวดเร็ว สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักวิจัยท่านอื่นได้ และเป็นการสร้างเครือข่ายกับนักวิจัยในสาขาเดียวกันเพิ่มขึ้น แต่มีข้อจำกัดในกรณีผู้เข้าร่วมการประชุมจำนวนมากทำให้การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเป็นไปได้ยาก โดยสรุปการเผยแพร่ในงานประชุมวิชาการ เป็นรูปแบบการเผยแพร่ผลงานไปยังผู้ที่สนใจซึ่งเป็นรูปแบบที่ง่ายและรวดเร็ว โดยจะมีการกำหนดช่วงระยะเวลาที่ชัดเจนแน่นอน แต่ผลงานที่เผยแพร่อาจยังไม่เป็นที่ยอมรับในวงกว้างเท่าที่ควร
  2. การเผยแพร่ในวารสารวิชาการ เป็นรูปแบบการเผยแพร่งานวิจัยที่ได้รับการยอมรับและมีความน่าเชื่อถือมากที่สุด ซึ่งวารสารวิชาการนั้นจะต้องมีระยะการตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอซึ่งอาจพิจารณาได้จากค่า impact factor ของวารสารนั้น ๆ โดยจะต้องมีกระบวนการตรวจพิจารณาผลงานจากคณะผู้เชี่ยวชาญ สำหรับแต่ละสาขานั้น ๆ โดยเฉพาะ (Peer review) ซึ่งผู้วิจัยสามารถที่จะลงทะเบียนและส่งต้นฉบับผลงานเข้าสู่กระบวนการพิจารณาเพื่อประเมินคุณภาพของผลงาน โดยบรรณาธิการจะเป็นผู้แจ้งผลการพิจารณามาให้ผู้วิจัยทราบ ผลของการพิจารณาจากบรรณาธิการเป็นไปได้ทั้งการตอบรับให้ตีพิมพ์ (Accept) หรือส่งกลับมาแก้ไข (Revise) หรืออาจถูกปฏิเสธ (Reject)

กรณีได้รับการตอบรับให้ตีพิมพ์ นักวิจัยจะได้รับบทความเสมือนจริงส่งกลับมาให้ตรวจทานอีกครั้ง นักวิจัยควรรีบดำเนินการตรวจแก้ไขและส่งกลับคืนอย่างรวดเร็ว กรณีส่งกลับมาให้แก้ไข นักวิจัยควรรีบดำเนินการตรวจแก้ไขและส่งกลับตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งอาจต้องแก้ไขหลายรอบแต่จะมีโอกาสได้รับการตีพิมพ์มากกว่า 50% กรณีที่บทความถูกปฏิเสธ นักวิจัยควรแก้ไขตามที่ผู้พิจารณาผลงาน (Reviewer) แนะนำและสามารถส่งไปวารสารอื่นได้

การตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยในวารสารระดับชาติและนานาชาติ

ขั้นตอนการเตรียมบทความวิจัย (manuscript) เพื่อตีพิมพ์ในวารสาร

1.วางแผนเตรียมการเรื่องตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยในวารสารไว้ล่วงหน้าตั้งแต่วางแผนทำวิจัย และศึกษาข้อมูลวารสารที่สนใจ เป็นวารสารที่ได้รับการรับรองในระดับใด ตรงตามเกณฑ์ที่ต้องการหรือไม่  หัวข้อเรื่องที่ทำวิจัยและระเบียบวิธีวิจัยสอดคล้องกับแนวทางของวารสารที่ต้องการหรือไม่ การสมัครตีพิมพ์ในวารสารจะต้องใช้งบประมาณเท่าไร ค่าสมัครเป็นสมาชิกของวารสารเท่าไร เพื่อวางแผนของบประมาณไว้ล่วงหน้า

2.เมื่อดำเนินการวิจัยแล้วเสร็จควรเตรียมบทความเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ตามแนวทางที่วารสารที่ต้องการตีพิมพ์กำหนด  ซึ่งควรปฏิบัติตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัดเพราะมีผลต่อการพิจารณาตอบรับการตีพิมพ์

3.เขียนบทความวิจัยให้มีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกันทั้งเรื่อง และเน้นสาระสำคัญที่โดดเด่นที่ต้องการเสนอให้ผู้อ่านทราบ

4.อ่านทบทวนตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหา ระเบียบวิธีวิจัย การเขียนอ้างอิง และบรรณานุกรมตามระบบที่วารสารกำหนด หรือให้ผู้อื่นทั้งในและนอกสาขาอ่านเพื่อตรวจสอบเนื้อหาและภาษาที่ใช้ในงานวิจัยก่อนส่งรายงานการวิจัย

5.ส่งบทความไปตีพิมพ์เผยแพร่ และมีการติดตามผลจากบรรณาธิการของวารสารเป็นระยะๆ ถ้ามีการแก้ไข บรรณาธิการของวารสารจะส่งต้นฉบับกลับมา ผู้เขียนควรรีบดำเนินการแก้ไขตามข้อเสนอแนะของผู้เชี่ยวชาญ (reviewer) ของวารสาร และส่งตามเวลาที่วารสารกำหนด และติดตามผลการตอบกลับ ซึ่งอาจจะมีการส่งกลับมาให้แก้ไขอีกครั้ง ทั้งนี้ผู้เขียนจะต้องให้กำลังใจตนเองในการแก้ไขเพื่อให้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่ได้รับการรับรอง แม้ว่าบทความจะถูกปฏิเสธ แต่มีความเป็นไปได้ที่จะได้รับการตอบรับจากวารสารอื่นๆ เมื่อบทความได้รับการแก้ไขปรับปรุงแล้ว

6.วิธีการส่งบทความ  ควรศึกษาวิธีการส่งบทความ เช่น ส่งข้อมูลเป็นไฟล์ทั้งหมดผ่านอีเมล์ หรือส่งในระบบออนไลน์ (Submit Online) และส่งไฟล์รูปผู้ทำวิจัย และภาพกิจกรรมจากการวิจัยพร้อมคำบรรยายใต้ภาพเป็นภาคผนวกเพิ่ม (ถ้ามี)

การเลือกแหล่งตีพิมพ์เผยแพร่

ควรเลือกวารสารในสาขาที่ตรงกับสาขาที่ดำเนินงานวิจัย และลองค้นหาบทความที่มีลักษณะใกล้เคียงกับบทความของนักวิจัยที่จะขอตีพิมพ์ เพื่อนำมาพิจารณาแนวทางเกี่ยวกับวิธีการเขียน รูปแบบการนำเสนอเนื้อหา รูป กราฟ ตาราง เพื่อสร้างความมั่นใจในการส่งผลงานตีพิมพ์และพิจารณาโอกาสการตอบรับของวารสาร

ควรเลือกวารสารที่ได้รับการยอมรับในระดับชาติหรือนานาชาติ ซึ่งสามารถพิจารณาจากองค์กรหรือสถาบันที่เป็นผู้จัดทำวารสาร กรณีที่ต้องการนำบทความตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับชาติและนานาชาติ สามารถศึกษารายชื่อวารสารวิชาการที่ได้รับการยอมรับจากฐานข้อมูล  ICT ของ สกอ. ดังนี้

2.1 วารสารวิชาการระดับชาติ

1) การตรวจสอบรายชื่อวารสารวิชาการระดับชาติ ในฐานข้อมูล TCI สามารถค้นหาได้จาก http://www.kmutt.ac.th/jif/public_html/search.html

2) การตรวจสอบค่า Impact Factor สามารถตรวจสอบได้ตามที่อยู่เว็บไซต์    http://www.kmutt.ac.th/jif/Impact/impact_h.php การตรวจสอบ Ranking วารสารตามสาขาที่หน้าแรกของ TCI คลิก ที่ Thai-Journal Impact Factors

2.2 วารสารวิชาการระดับนานาชาติ

1) การตรวจสอบรายชื่อวารสารวิชาการระดับนานาชาติ

ก. การตรวจสอบชื่อวารสารวิชาการ (Journal) สายสังคมศาสตร์ (Social Science) จากฐานข้อมูล SJR SCImago Journal & Country Rank เมื่อต้องการสืบค้นจากฐานข้อมูล SJR www.scimagojr.com ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากฐานข้อมูล Scopus  สามารถค้นหาได้จากเว็บไซต์https://www.scimagojr.com/journalrank.php?area=3300&category=3301&country=all&year=2012&order=sjr&min=0&min_type=cd

ข. การตรวจสอบวารสารวิชาการสายวิทยาศาสตร์ ในฐานข้อมูล SCOPUS ฐานข้อมูล SCOPUS ส่วนใหญ่จะเป็นวารสารสายวิทยาศาสตร์ มีการจัดแบ่งหมวดวิชาออกเป็น 4 หมวด คือ Life Sciences, Physical Sciences, Health Sciences, and Social Sciences & Humanities ซึ่งแบ่งเป็นหมวดย่อยๆอีก 27 วิชาหลัก และมากกว่า 300 วิชารอง สำหรับสังคมศาสตร์  ตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ http://www.elsevier.com/subjects/social-sciences หน้าเว็บไซต์จะระบุหัวข้อ subject  ที่มีหลายหมวดวิชา สามารถเลือกคลิกดูตามหมวดวิชาที่ต้องการได้ เช่น Arts and Humanities  และ Social Science เข้าไปที่เว็บไซต์ http://www.elsevier.com/journals/subjects/social-sciences/%20title/s  เมื่อเข้าไปในหมวดวิชาแล้วจะพบรายชื่อหนังสือและวารสารวิชาการด้านสังคมศาสตร์ เรียงตามลำดับตัวอักษร A –Z

ค. การตรวจสอบวารสารวิชาการในฐานข้อมูลของ Thompson Reuters การตรวจสอบวารสารวิชาการจากฐานข้อมูล Web of Science ของ Thompson Reuters สามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ http://ip-science.thomsonreuters.com/mjl/  จะพบข้อความ Master Journal List บนหน้าเว็บด้านล่างจะพบข้อความ Journal Lists for Researchable Databases ระบุฐานข้อมูลต่างๆที่เข้าไปสืบค้นรายชื่อวารสารวิชาการ เช่น Arts & Humanities Citation Index, Social Sciences Citation Index, Current Contents / Social & Behavior Science ฯลฯ

ควรเลือกวารสารที่มีค่า Impact Factor สูง

การพิจารณาคุณภาพของวารสาร สามารถพิจารณาได้จากดัชนีอ้างอิงของวารสารว่าอยู่ในฐานข้อมูลใด  ซึ่งฐานข้อมูลซึ่งเป็นที่นิยมในปัจจุบันคือ ฐานข้อมูลที่มีการคิดค่าดัชนีอ้างอิง (Impact Factor) หรือ Journal Impact Factor (JIF) ค่า Impact Factor คือ ดัชนีผลกระทบการอ้างอิงวารสาร วัดจากจำนวนครั้งโดยเฉลี่ยที่บทความของวารสารวิชาการนั้นได้รับการอ้างอิงในแต่ละปี ข้อมูลที่เป็นของคนไทยคือ ดัชนีอ้างอิง Thailand Citation Index (TCI) ซึ่งดูแลโดยศูนย์อ้างอิงดัชนีวารสารไทย  สำหรับฐานข้อมูลของต่างประเทศ ได้แก่ ดัชนีอ้างอิง SCImago ซึ่งอยู่ในฐานข้อมูล Scopus ของบริษัท Elsevier และต้นตำหรับคือดัชนีอ้างอิง ISI ซึ่งเป็นของบริษัทใหญ่ผู้ให้บริการด้านข้อมูล คือ Thomson Reuters การตรวจสอบค่า Impact Factor ของวารสารวิชาการระดับนานาชาติ สามารถตรวจสอบได้จากเว็บไซต์  http://www.uk.sagepub.com/isiranking/default.sp

เทคนิคการเลือกแหล่งตีพิมพ์เผยแพร่ :

  1. การเลือกแหล่งตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยต้องสอดคล้องกับหัวข้อและนโยบายของวารสารหรืองานประชุมวิชาการนั้น ๆ
  2. พิจารณาถึง บรรณาธิการ คณะกรรมการ ความเกี่ยวข้องของสาขา ควรให้ตรงกับผลงานและนักวิจัย
  3. การเลือกวารสารหรืองานประชุมวิชาการเพื่อเผยแพร่งานวิจัย ควรพิจารณาถึงเกณฑ์ระดับคุณภาพผลงานทางด้านวิชาการ รายละเอียดแสดงดังตารางที่ 1 เพื่อประกอบการพิจารณาด้วย
  4. การเลือกวารสารต่างประเทศเพื่อตีพิมพ์ควรเลือกวารสารที่มีค่า impact factor น้อย ๆก่อนเพราะโดยปกติแล้วจะรู้ผลการพิจารณาได้เร็วกว่าวารสารที่มีค่า impact factor สูง ๆ ซึ่งหลังจากที่ได้รับคำแนะนำจากคณะกรรมการผู้พิจารณาผลงาน (reviewers) แล้ว ผู้วิจัยจะต้องนำคำแนะนำหรือข้อเสนอแนะมาพิจารณาปรับปรุงแก้ไขผลงานให้มีคุณภาพมากขึ้น และยังสามารถนำไปพัฒนางานวิจัยในอนาคตสำหรับส่งไปเผยแพร่ในวารสารที่มีระดับคุณภาพที่สูงขึ้นต่อไป
  5. เมื่อผลงานได้รับการตอบปฏิเสธ ผู้วิจัยอาจพิจารณาปรับแก้ผลงานตามข้อเสนอแนะเพื่อส่งไปให้กรรมการผู้พิจารณาผลงานพิจารณาใหม่หรือสามารถที่จะส่งไปยังวารสารอื่น

เกณฑ์การสนับสนุนการเผยแพร่ผลงานวิจัย

จากคู่มือการขอรับทุนอุดหนุนการวิจัยสำหรับบุคลากรของมหาวิทยาลัยเนชั่น ซึ่งออกโดยส่วนงานวิจัยและบริการวิชาการ สำนักวิชาการ มหาวิทยาลัยเนชั่น พ.ศ.2563 ได้กำหนดเกณฑ์การสนับสนุนการเผยแพร่ผลงานวิจัยไว้ ดังนี้

โครงการวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนการดำเนินการวิจัยจากมหาวิทยาลัย และผลงานวิจัยได้รับการเผยแพร่ในฐานข้อมูล SCOPUS, TCI1, TCI2 หรือประชุมวิชาการระดับนานาชาติ นักวิจัยสามารถขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายเพื่อการเผยแพร่ผลงานวิจัยได้ไม่เกิน 1 ครั้งต่อโครงการ ดังนี้

การประชุมวิชาการระดับนานาชาติ  ระดับคะแนน 0.4 จำนวน 2,500 บาท(สองพันห้าร้อยบาทถ้วน)

ฐานข้อมูล TCI 2                 ระดับคะแนน 0.6 จำนวน 5,000 บาท(ห้าพันบาทถ้วน)

ฐานข้อมูล TCI 1                 ระดับคะแนน 0.8 จำนวน 7,000 บาท(เจ็ดพันบาทถ้วน)

ฐานข้อมูล SCOPUS             ระดับคะแนน 1.0 จำนวน 15,000 บาท(หนึ่งหมื่นห้าพันบาทถ้วน)

(1) การเผยแพร่ผลงานวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนการดำเนินการวิจัยจากมหาวิทยาลัยเนชั่น จะต้องได้รับการอนุมัติจากอธิการบดีก่อนดำเนินการ

(2) เมื่อนักวิจัยได้รับการพิจารณาอนุมัติจากอธิการบดีให้เผยแพร่ผลงานวิจัย และได้รับการตอบรับการเผยแพร่ผลงานวิจัยแล้ว ให้นักวิจัยนำหลักฐานใบตอบรับการเผยแพร่ผลงานวิจัยขออนุมัติเบิกงบประมาณสนับสนุนการเผยแพร่ผลงานวิจัยตามข้อ 5 โดยใช้งบประมาณด้านพัฒนาบุคลากรของหน่วยงาน ตามประกาศมหาวิทยาลัย เนชั่น เรื่อง ประมาณการรายละเอียดเงินสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรประจำมหาวิทยาลัยเนชั่น

ทั้งนี้โครงการวิจัยที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัย และได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานที่เป็นประโยชน์ต่องานประกันคุณภาพของมหาวิทยาลัย นักวิจัยสามารถเสนอขออนุมัติทุนสนับสนุนเผยแพร่ผลงานวิจัย และต้องได้รับการพิจารณาการอนุมัติจากท่านอธิการบดีเป็นรายกรณี

บทสรุป :

การทำงานวิจัยเป็นการสร้างความก้าวหน้าทางวิชาการอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ ทำให้ทราบถึง กระบวนการ ผลกระทบ เหตุปัจจัยต่าง ๆ เทคนิค วิธีการ จนสามารถนำไปสู่การประยุกต์ใช้งานหรือสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาและสร้างคุณค่าให้กับสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างสูงสุด ซึ่งการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยอย่างเหมาะสม จะทำให้ผลงานวิจัยที่ได้นั้นเกิดคุณค่าและสร้างคุณประโยชน์สูงสุดทั้งแก่นักวิจัยและผู้ที่มีความสนใจหรือเกี่ยวข้องในด้านนั้นๆ ในทุก ๆ ครั้งที่ส่งผลงานวิจัย นักวิจัยจะต้องนำข้อเสนอแนะที่ได้จากผู้พิจารณาผลงานมาปรับปรุงผลงานเพื่อให้ผลงานมีความสมบูรณ์ยิ่ง ๆ ขึ้นไป

ขั้นตอนการส่งบทความวิจัยเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการ

http://doc.nation.ac.th/QA_BAPACS_2563/Research_Publication_Handbook_KM_63.pdf

ข้อความนี้ถูกเขียนใน KM:ด้านการวิจัย, คณะบริหารธุรกิจและรัฐประศาสนศาสตร์ คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น