ได้รับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายในโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การจัดการความรู้จากทฤษฎีสู่ภาคปฏิบัติ” จัดโดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วย รองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี ผู้อำนวยการ และคณาจารย์ ทั้งฝ่ายบรรพชิตและฆราวาส โดยภายหลังการบรรยายเสร็จสิ้น ได้เข้าร่วมรับฟังและให้ข้อคิดเห็นต่างๆ ในการจัดทำแผนด้านการบริหารจัดการความเสี่ยงและการจัดการความรู้ เปรียบเสมือนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ทำให้ได้เกร็ดความรู้ต่างๆ พอสมควร จึงอยากแบ่งปันความรู้ที่ได้ให้ชุมชนแห่งการเรียนรู้ของชาวโยนก (ํYonok Learning Community) ดังนี้
1. มหาวิทยาลัยฝ่ายสงฆ์ (ปัจจุบันรับฆราวาสศึกษาต่อด้วย) มีภารกิจที่ไม่แตกต่างจากมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน แต่หลักสูตรและเนื้อหาที่ศึกษาอาจมุ่งเน้นแตกต่างกันบ้าง ปัจจุบันนิสิตพระลดน้อยลงอย่างมาก (ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมาย) อีกทั้งมีการแข่งขันสูงจากภาครัฐและเอกชน จึงเป็นความเสี่ยงประการหนึ่งซึ่งต้องวางแผนเพื่อหาแนวทางแก้ไข
2. พระมหาสุเทพ สุปณฺฑิโต ผู้อำนวยการกองแผนงาน มจร. ถามผมว่าความเสี่ยง (Risk) กับปัญหา (Problem) แตกต่างกันหรือไม่อย่างไร ซึ่งผมก็ได้ตอบไปตามที่เข้าใจ แต่ท้ายที่สุดได้รับฟังจากพระครูพิพิธสุดาทร รองอธิการบดี วิทยาเขตเชียงใหม่ ทำให้ถึง “บางอ้อ” ว่า ความเสี่ยงสามารถมองได้เป็นทั้งปัญหาและโอกาส ตัวอย่างเช่น ความเสี่ยงของโยนกประการหนึ่งคือ ความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับรองคุณภาพจาก สกอ. และสมศ. หมายความว่า หากไม่ได้รับรองเมื่อเวลานั้นมาถึง ปัญหาที่ตามมาอาจส่งผลต่อการรับนักศึกษา อย่างไรก็ตาม หากโยนกผ่านการรับรองและหากอยู่ในเกณฑ์ดีด้วยแล้ว เราก็สามารถใช้เป็นโอกาสในการรับนักศึกษาได้เช่นกัน
3. ความรู้ในทางโลกนั้นแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ ความรู้ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) และความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge) ในทางธรรม ความรู้ชัดแจ้ง อาจเปรียบได้กับ “สุตะมยปัญญา” ส่วนความรู้ฝังลึก อาจเปรียบได้กับ “จินตมยปัญญา” และ “ภาวนามยปัญญา”
4. พระมหาสุเทพ สุปณฺฑิโต ท่านกล่าวว่า มาตรฐานคุณภาพที่ดูเล็กแต่จะป็นปัญหามากที่สุด คือ “การบริหารจัดการ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานด้านงบประมาณของ มจร. ต้องได้รับอนุมัติจากศูนย์ฯ ที่กรุงเทพฯ ทั้งหมด จริงๆ แล้วข้อนี้ก็คงไม่แตกต่างไปจากโยนกเช่นกัน
5. พระครูพิพิธสุดาทร ท่านให้ความสำคัญกับเครื่องมือ AAR (After Action Review) ทุกครั้งที่มีการทำงานหรือโครงการอะไรก็สุดแล้วแต่ ควรได้มีการทบทวยภายหลังภารกิจเสร็จสิ้น ซึ่งก็อาจจะเป็นรายงานสรุปโครงการ แต่จุดสำคัญคงอยู่ที่สาระในรายงานใากกว่าว่า ความรู้หรือประโยชน์ที่ได้รับเพื่อเป็นแนวทางในการนำไปใช้ในโอกาสต่อไป ยิ่งเป็นงานระดับปัจเจกบุคคล ทุกวันท่านมีการทบทวนกันหรือไม่ องค์กรหลายแห่ง ทุกๆ เช้า 10 นาทีจะมีการประชุมก่อนเริ่มทำงานเสมอ
6. เพิ่งจะทราบว่า ท่านพระครูพิพิธสุดาทร เป็นผู้หนึ่งที่ต่อต้านการทำเขื่อน ท่านว่าประเทศไทยโดยเฉพาะคนที่จบนอกแล้วมาได้ดิบได้ดี ก็มักอยากลองวิชาโดยเชื่อว่า ต่างชาติทำแล้วดี ซึ่งหมายถึง Best Practice เราก็น่าจะได้ผลเช่นกัน โดยที่ไม่ฉุกคิดเลยว่า ประเทศไทยเป็นเมืองร้อน ป่าชุก ต้องใช้วิธีการป่าอุ้มน้ำจึงจะเหมาะสมที่สุด และได้ผลระยะยาว (ยกเว้นป่าหมดเมื่อไร เขื่อนคงจะเป็นทางเลือกที่ดีได้)
7. สุดท้ายนี้ ผมประทับใจและดีใจที่มีส่วนร่วมในโครงการ MOU ระหว่างโยนก กบ มจร. ในครั้งนี้ ผมรู้สึกมีความสุขที่ได้ร่วมทำบุญผ่านทางพระคุณเจ้า ท่านเจ้าคณะจังหวัดลำปางโดยมอบปัจจัยค่าวิทยากรทั้งหมด ผมคิดเสมอว่า “การให้” จะนำมาซึ่ง “ความสุข” และวันหนึ่งท่านจะได้เป็น “ผู้รับ” อีกมากมาย
หมายเหตุ: รูปภาพจะทำการ Update ภายหลัง