- วิเคราะห์ความคลาดเคลื่อนใน 3 ตารางแรก
13 ธ.ค.52 วันนี้ช่วงกลางวันมีภารกิจวิพากษ์แผนพัฒนาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งวัน โดยมี อ.วิเชพ ใจบุญ เป็นผู้ดำเนินการ และมี อ.ศศิวิมล แรงสิงห์ เป็นผู้เชี่ยวชาญให้ข้อเสนอแนะ เมื่อกลับบ้านก็หายจากอาการทอนซิลอักเสบพอดี จึงนำข้อมูลผลการประเมินคุณภาพภายใน ที่เกิดขึ้นในปลายเดือนสิงหาคม 2552 ที่มาจากผู้ประเมินภายในของแต่ละคณะ มาวิเคราะห์เปรียบเทียบระหว่างผลการประเมินตนเอง และผลการประเมินของผู้ประเมิน ระหว่างปีการศึกษา 2550 และ 2551 ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งผลของความคลาดเคลื่อนสูงเกินกว่าที่คาดไว้มาก ทำใจเขียนส่วนอภิปรายผล หรือสรุปผลต่อไม่ได้ และคิดว่าคืนนี้ผมคงมีเรื่องอะไรให้นอนคิดมากมายกว่าทุกวัน
ตารางที่ 1 จำแนกตามจำนวนคะแนนตัวบ่งชี้ที่คลาดเคลื่อนจากผลต่างการประเมินตนเองและของผู้ประเมินในปีการศึกษา 2551 พบว่า ผลรวมจำนวนตัวบ่งชี้จากทุกคณะ ที่ผลประเมินตนเองตรงกับผลของผู้ประเมินมีเพียง 58.55% และที่มีคลาดเคลื่อนระดับ 1 คะแนนมี 22.22% และที่มีคลาดเคลื่อนระดับ 2 คะแนนมี 14.96% และที่มีคลาดเคลื่อนระดับ 3 คะแนนมี 4.27% ซึ่งผลในตารางที่ 1 ไม่เห็นอะไรที่ชัดเจนนัก นอกจากตกใจที่เห็นผลประเมินเกือบครึ่งหนึ่งมีความคลาดเคลื่อน และพบว่าคณะของผมมีจำนวนตัวบ่งชี้คลาดเคลื่อนมากที่สุดคือ 20 ตัวบ่งชี้ แต่คณะบริหารคลาดเคลื่อนน้อยที่สุดคือ 10 ตัวบ่งชี้
ตารางที่ 2 จำแนกตามจำนวนตัวบ่งชี้ที่คลาดเคลื่อนเปรียบเทียบปีการศึกษา 2550 และ 2551 พบว่า ไม่มีคณะใดเลยที่มีความคลาดเคลื่อนลดลงจากปี 2550 ทั้งที่ได้มีการนำเสนอรายงานความคลาดเคลื่อนไปใน การประชุมคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย ครั้งที่ 22 /2552 วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม 2552 วาระ 4.3 โดยมีตัวแทนนักวิจัยร่วมประชุมครั้งนี้ 4 ท่านได้แก่ อ.ศศิวิมล แรงสิงห์ อ.บุรินทร์ รุจจนพันธุ์ อ.วันชาติ นภาศรี และ อ.คนึงสุข นันทชมภู โดย อ.วันชาติ นภาศรี เป็นตัวแทนทีมวิจัยจัดทำข้อเสนอแนะไว้ในรายงานจำนวน 3 ข้อ คือ 1)เร่งพัฒนาศักยภาพของระบบฐานข้อมูลเพื่อการบริหาร การเรียนการสอน การบริการวิชาการ กิจกรรมพัฒนาศักยภาพนักศึกษา และการวิจัย 2)กำหนดนิยามปฏิบัติการในรายตัวบ่งชี้ที่ยังมีความสับสน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน 3)จัดทำคำอธิบายว่าตัวบ่งชี้ใดใช้หลักฐานอะไรบ้าง และจัดให้มีการถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจแก่บุคลากรทุกคน นักศึกษา และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง กลับมาหาสิ่งที่พบในตารางที่ 2 คือ คณะของผมติดอันดับหนึ่งในการที่มีจำนวนตัวบ่งชี้ที่คลาดเคลื่อนเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 15 ตัวบ่งชี้ ส่วนคณะที่จำนวนตัวบ่งชี้คลาดเคลื่อนเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดมีคณะบริหารกับคณะสังคม คือ 1 ตัวบ่งชี้
ตารางที่ 3 จำแนกตามคะแนนที่คลาดเคลื่อนเปรียบเทียบปีการศึกษา 2550 และ 2551 พบว่า คณะของผมยังเป็นเบอร์ 1 คือ คะแนนคลาดเคลื่อนเพิ่มขึ้นอีก 22 คะแนน โดยคณะสังคมคลาดเคลื่อนเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดคือ 3 คะแนน รองลงมาคือคณะบริหาร 5 คะแนน ทั้ง 3 ตารางนี้ได้เปรียบเทียบในระดับคณะ ยังไม่เปรียบเทียบในระดับตัวบ่งชี้ ว่าองค์ประกอบใด หรือตัวบ่งชี้ใด มีความผิดปกติบ้าง แต่เท่าที่คาดการณ์ก็เชื่อได้ว่าความคลาดเคลื่อนกระจายอยู่ในทุกตัวบ่งชี้อย่างแน่นอน แต่จะมีตัวใดสูงเป็นพิเศษคงต้องใช้เวลาทำ pivot table อีกครั้ง
จากข้อมูลทั้งหมดนี้ ผมมีแผนส่งข้อมูลดิบให้แต่ละคณะและทีมวิจัยได้ตรวจสอบ ก่อนดำเนินการเขียนรายงานสรุปผล และอภิปรายผลรายงานการวิจัยต่อไป ซึ่งส่วนของการวิเคราะห์ความคลาดเคลื่อนเป็นเพียงผลการวิจัยที่เพิ่มเติมจากวัตถุประสงค์หลัก แต่นี่คืองานวิจัยสถาบันที่พบว่าระหว่างการวิจัยได้พบประเด็นที่จะเสริมการพัฒนามหาวิทยาลัยได้ และสนับสนุนให้การดำเนินงานวิจัยบรรลุตามวัตถุประสงค์ สิ่งที่ต้องการค้นหาเป็นหลัก คือความพึงพอใจต่อการใช้งานระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเองที่พัฒนาขึ้น ซึ่งผลของความคลาดเคลื่อนและความพึงพอใจสอดคล้องกัน คือ ระดับความพึงพอใจเป็นไปในทางเดียวกับความคลาดเคลื่อน ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่ดีเลย และจะปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปไม่ได้
+ http://www.yonok.ac.th/sar/nsar51.php