KM = การจัดการคน+การจัดการระบบ

        รู้สึกตงิดใจมาหลายวันหลังกลับจากการประชุมวิชาการที่ มจพ. รวมทั้งได้รับทราบข้อมูลข่าวสารผ่านทางหู ทางตา และโสตสัมผัสอื่นๆ ซึ่งล้วนแล้วเป็นข้อมูลที่มาจากภายในองค์กรแทบทั้งสิ้น หลายสิ่งหลายอย่างเป็นเรื่องที่ดูค่อนไปทางลบ พยายามนั่งขบคิดอยู่หลายวัน คุยกับคนนี้บ้าง คนนั้นบ้าง เรื่องลบๆ กลับดูจะยิ่งเพิ่มขึ้นอีก พินิจพิเคราะห์ดูแล้ว ทุกเรื่องมีที่มาจากคน จากความคิดของคน จากการไม่คิดให้ถ่องแท้ของคน “สุ จิ ปุ ลิ” เริ่มถดถอยหายไปจากจิตใจ หรือพูดแบบไม่เกรงใจใครคือ “การขาดสติ” วัตถุเริ่มครอบงำจิตใจมากขึ้นๆ ความคิดของคนจึงมักไม่มองที่แก่นสารอย่างแท้จริง
        หัวข้อในวันนี้ดูค่อนข้างจะเรียบง่าย ไม่ต้องตีความอะไรให้มาก อินไซด์ฉบับก่อนๆ เคยพูดเรื่อง KM ไว้ค่อนข้างมากแล้ว ฉบับนี้จะขอนำ KM มาเปรียบเทียบกับสิ่งต่างๆ ที่เห็น ที่เป็น และกำลังจะเกิดขึ้นในโยนกต่อไปในอนาคต ทฤษฎีด้าน KM โดยเฉพาะที่ประเทศญี่ปุ่น ให้ความสำคัญอย่างมากกับ KM ในเรื่องของ “การจัดการความรู้ที่อยู่ในคน” ที่เรียกว่า ความรู้ฝังลึก หรือ Tacit Knowledge เพราะเป็นความรู้ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงการแข่งขัน ทั้งการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) และการสร้างนวตกรรม (Innovation) แต่กลับเป็นอะไรที่ทำได้ยาก เห็นผลยาก จึงมักไปทุ่มเทกับ “การจัดการระบบ” และ “การจัดการความรู้ชัดแจ้ง” หรือ Explicit Knowledge แทน เพราะเห็นผลเป็นรูปธรรม และมักจะได้รับคำชื่นชมและผลตอบแทนจาก “จำนวนชิ้น จำนวนเล่ม จำนวนโครงการ หรือแม้แต่รูปเล่มที่สวยงาม”
        สถานการณ์ของโยนกที่ดูจะสวนกับกระแสเศรษฐกิจถดถอย คนตกงานมาก แต่คนโยนกกลับได้งานใหม่กันเป็นว่าเล่น ประเด็นแรก ผมพูดเสมอว่า KM ของหน่วยงานที่ล้มเหลวและวัดได้ง่ายที่สุด คือ เมื่อพนักงานลาออก ความรู้มักจะติดตัวเขาไปทั้งหมด องค์กรที่เขาจากไปคงเหลืออะไรไว้บ้างเมื่อเขาจากไป แต่เรื่องนี้กลับไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุด เพราะความล้มเหลวดังกล่าวจะโทษ KM ไม่ได้ เพราะ KM เป็นเพียงเครื่องมือ คนเป็นผู้ใช้ KM ใครบ้างละเป็นผู้ใช้ ทุกคนในองค์กรนั่นเอง ส่วนผู้บริหารต้องสร้างระบบสนับสนุน หมายความว่า คนต้องเห็นประโยชน์จาก KM ระบบองค์กรต้องสนับสนุนและเป็นธรรม โปร่งใส วกกลับมาที่ “สมองไหล” ในโยนก สาเหตุคืออะไร โยนกเสียอะไร และโยนกได้อะไร ผมคิดว่าสาเหตุของเรื่องนี้มาจากความคิดของคน แต่ละคนมองเห็น สัมผัส และรับรู้ถึงเหตุการณ์ทั้งหลายในโยนกเหมือนๆ กัน ทำไมบางคนนิ่ง บางคนกระสับกระส่าย บางคนดิ้นรน และท้ายที่สุดขวนขวายหาแหล่งพักพิงใหม่ อาจเป็นหน่วยงานใหม่ในองค์กรเดิม หรือละทิ้งถิ่นที่อยู่เดิมไปเลยก็ได้ ผมเคยแปลกใจตอนที่อาจารย์บุรินทร์เคยยื่นบันทึกขอลดเงินเดือนแลกกับตำแหน่งคณบดีที่จะไม่ขอรับผิดชอบ และรู้สึกแปลกใจที่วัฒนธรรมในโยนกที่การับภารงานเพิ่มขึ้นที่นอกเหนือจากงานประจำ ควรได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น เพราะบางครั้งงานประจำก็ยังทำได้ไม่ดีที่สุด จึงขอสรุปตามความคิดของตนเองว่า การกระทำอยู่ที่ความคิด ผลของการกระทำอยู่ที่การปฏิบัติ แต่อยากให้ทุกคนในโยนกคิดมากๆ คิดให้รอบด้าน และปฏิบัติด้วยใจที่รักในอาชีพ สังคมย่อมมีทั้งคนดี คนเลว ถ้าท่านอยากเป็นคนดี ท่านต้องดูตัวอย่างที่คนดีเขาทำอยู่ อย่าเอาความคิดเชิงลบที่มาจากการเห็นเพียงด้านลบอย่างเดียว หรืออย่างน้อยคิดเพียงว่า คิดทางบวก ใจเราก็เป็นสุขแล้ว (ทั้งนี้คนที่มีความจำเป็นต้องลาออกเพราะเหตุผลส่วนตัว คงไม่อยู่ในประเด็นเดียวกันนี้) ส่วนโยนกเสียอะไร คงต้องว่ากันที่แต่ละบุคคลถึงผลงานและคุณภาพ ไม่อยากเสียคนเหล่านี้ไป สิ่งที่โยนกได้คือประสบการณ์ ซึ่งหวังว่าหากพิจารณาเรื่องนี้เป็นความเสี่ยงของโยนกด้วย ผู้บริหารคงต้องช่วยกันคิดหาวิธีการป้องกันหรือลดความเสี่ยงกันแล้ว
        ประเด็นที่อยากจะบอกว่าสำคัญยิ่งในทาง KM ของ สุ จิ ปุ ลิ คือ การเขียนครับ ไม่เขียนวันนี้ พรุ่งนี้ สัปดาห์หน้า หรือเดือนหน้า ท่านก็ลืมแล้ว แต่ต้องเขียนในเชิงสร้างสรรค์ เขียนด้วยความคิดที่ดี มีการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างรอบด้านเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องก่อนลงมือเขียน เพื่อถ่ายทอด และแบ่งปันความรู้ที่ท่านมีอยู่ให้เพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมองค์กร รวมถึงเพื่อนร่วมอุดมการณ์เดียวกัน และที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ต้องมีผู้อ่านด้วย ผมจำได้ว่า หลังจากที่ผมทำการอบรม Blog ไปแล้ว อาจารย์บุรินทร์เคยทำบันทึกให้หลายๆ คนได้เข้าใจถึงช่องทางในการเขียน Yonok Blog ก็แล้ว วันนี้ Yonok Blog มีเพียงไม่กี่คนที่ Active อยู่ ถ้าเป็นแบบนี้สังคมแห่งการเรียนรู้จะเป็นจริงได้อย่างไร Yonok E-learning ก็เช่นกัน ว่างๆ ก็เข้าไปใช้กันบ้างเพื่อความเป็นนักวิชาการจะได้ไม่หยุดนิ่ง อีกหลายประเด็นขอไว้ต่อฉบับหน้านะครับ

เรื่องนี้ถูกเขียนใน ทั่วไป และติดป้ายกำกับ คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น