ประสบการณ์การเป็นกรรมการสอบการค้นคว้าแบบอิสระ

กรรมการสอบ IS มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

กรรมการสอบ IS มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ได้รับเชิญให้เป็นกรรมการสอบการค้นคว้าแบบอิสระของนักศึกษาระดับปริญญาโท สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการจัดการ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2554 (ลาพักผ่อนไปครับ) จึงอยากแบ่งปันประสบการณ์ให้เพื่อนๆ อาจารย์ (เพื่อนร่วมอาชีพของผม) โดยจะขอสรุปเป็นประเด็นต่างๆ ดังนี้
1.กรรมการสอบมีทั้งสิ้น 3 คน ประกอบด้วยอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ 1 คน ประธานกรรมการสอบ 1 คน และกรรมการซึ่งเป็นบุคคลภายนอกอีก 1 คน ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากประธานหลักสูตร (พิจารณาจาก CV ที่ต้องส่งให้พิจารณาก่อน)
2.ภาคเช้า คณะกรรมการประกอบด้วย รศ.ประทีป จันทร์คง ประธานกรรมการสอบ อ.ดร.เขมกร ไชยประสิทธิ์ กรรมการและอาจารย์ที่ปรึกษา และกระผมซึ่งเป็นกรรมการจากภายนอก
3.ในภาคเช้าผมเป็นกรรมการให้กับนักศึกษาปริญญาโทในหัวข้อ “การพัฒนาระบบการจัดการความรู้เรื่อง การซ่อมบำรุงเครื่องคอมพิวเตอร์ โรงเรียนลำปางพาณิชยการและเทคโนโลยี” สำหรับภาคบ่ายผมขอเข้าเป็นผู้สังเกตการณ์นักศึกษาปริญญาโทอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นศิษย์เก่าของ ม.โยนก รุ่นที่ 4 คือ ชัยวัฒน์ สมศรี หรือ “ยาว” ของพวกเรา ทำในหัวข้อเรื่อง การพัฒนาระบบการประเมินผลการปฏิบัติงานบุคลากร โรงเรียนลำปางพาณิชยการและเทคโนโลยี (ประมาณนี้)
4.รูปถ่ายที่นำเสนอเป็นการสอบในช่วงบ่าย จากขวามาซ้าย คือ รศ.ประทีป จันทร์คง (กรรมการและ อ.ที่ปรึกษา) ผศ.ดร.เสมอแข สมหอม ประธานกรรมการสอบ (เป็นประธานหลักสูตร ITM) อ.พิมพร เทพปินตา กรรมการภายนอก (ผอ.โรงเรียน LCCT) ชัยวัฒน์ สมศรี และกระผม
5.นักศึกษานำเสนอด้วย powerpoint จากนั้น จะสาธิตการทำงานของระบบงานที่พัฒนาขึ้น เสร็จแล้วเป็นคำถามของกรรมการสอบ รวมแล้วมีเวลาทั้งสิ้นประมาณ 2 ชั่วโมง
6.รูปแบบก็จะคล้ายๆ กับการนำเสนอโครงงานของนักศึกษาสาขา CS และ CIS ซึ่งแน่นอนว่า ต้องผ่านกระบวนการตามขั้นตอนต่างๆ กับ อ.ที่ปรึกษา จนมั่นใจได้ว่าระบบมีความสมบูรณ์ พร้อมที่จะนำเสนอ โดยปกติ อ.ที่ปรึกษา จะมีความเชี่ยวชาญในหัวข้อที่นักศึกษาเลือกทำ และในวันสอบจบ กรรมการภายนอกต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญในหัวข้อนั้นๆ เช่นกัน
7.ภายหลังการสอบเสร็จสิ้น กรรมการ 3 ท่าน จะร่วมกันปรึกษาหารือว่า เห็นชอบที่จะให้นักศึกษาสอบผ่านหรือไม่ และแจ้งให้นักศึกษาทราบ โดยปกติผู้ที่สอบผ่าน มักจะมีการแก้ไขเนื้อหาในเล่มอยู่บ้าง รวมทั้งอาจแก้ไขจุดเล็กๆ น้อยๆ ของโปรแกรม และรายงานสิ่งที่ปรับปรุงแก้ไขผ่าน อ.ที่ปรึกษา และ/หรือ ประธานกรรมการสอบ ก็เป็นอันเสร็จสมบูรณ์ หากนักศึกษาคนใดกรรมการยังไม่เห็นควรให้ผ่าน ก็จะให้ไปปรับปรุงแก้ไข และกลับมานำเสนอใหม่อีกครั้ง
8.ปัจจัยสำคัญที่สุดคือ การพบ อ.ที่ปรึกษาและนำเสนอความก้าวหน้าตามระยะเวลาที่กำหนด ก็จะสามารถจบได้ทันตามกำหนด 2 ปี แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะไม่ทันตามกำหนดเวลาแทบทุกคน เพราะยิ่งเป็น นศ.ปริญญาโท ที่ทำงานด้วยแล้ว หากแบ่งเวลาไม่เป็น ก็คงยากที่จบตามกำหนดเวลา
9.ครั้งนี้ผมได้พันธมิตรเพิ่มขึ้นคือ หลักสูตร ITM ที่ มช. และผู้อำนวยการ LCCT คงมีโอกาสได้ไปบรรยาย เป็นกรรมการสอบ หรือเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา IS อีกในอนาคต รวมทั้งความร่วมมือในด้านอื่นๆ อีกมาก
10.ผมเชื่อว่าหลายท่านทำได้ หากมีโอกาส+ความเชี่ยวชาญที่ต้องค้นพบตนเองให้ได้+การแสวงหา (อย่ารอโอกาสมาหา) ผมคาดว่าผมคงจะทำในลักษณะเดียวกันนี้ต่อไปที่ วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี รวมทั้งที่มหาวิทยาลัยพะเยา (ในปีการศึกษา 2554) นี้ เป็นกำลังใจให้อาจารย์ทุกท่านครับ

เรื่องนี้ถูกเขียนใน คอมพิวเตอร์ธุรกิจ และติดป้ายกำกับ , คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น