โครงการจัดทำบัญชีครัวเรือนสู่แผนพัฒนาชุมชน

  

การทำบัญชีครัวเรือน

การทำบัญชีครัวเรือน

5 พ.ค.52  20.00น. – 21.00น. ได้ฟังบรรยายเรื่อง “การทำบัญชีครัวเรือน” มีวิทยากรคือหัวหน้าฝ่ายสินเชื่อดูแลเขตอำเภอเกาะคา ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธ.ก.ส. ท่านย้ายมาเมื่อวันที่ 16 เม.ย.52 อาศัยอยู่อ.ห้างฉัตร และได้รับเชิญจากพระครูสังฆรักษ์วิชพงษ์ให้มาร่วมกันทำ “โครงการจัดทำบัญชีครัวเรือนสู่แผนพัฒนาชุมชน” ที่จัดโดยวัดชัยมงคลธรรมวรารามร่วมกับ ธ.ก.ส. มีคนในบ้านไหล่หินหมู่ 6 เป็นส่วนใหญ่นำโดยพ่อกำนัน มาร่วมประมาณ 40 ถึง 50 คน เท่าที่สังเกตุจะเป็นกลุ่มแม่บ้าน เพราะมีการตั้งโต๊ะเก็บเงินสมาชิกกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ผมได้ความรู้วิธีการทำบัญชีครัว โดยใช้สมุดเล่มเขียวมีกิจกรรมให้บันทึกทุกวัน ประกอบด้วย 5 ช่องคือ วันที่ กิจกรรม รายรับ รายจ่าย และหมายเหตุ ยังมีเรื่องหม้อที่รับน้ำเข้า และจะอุดรอยรั่วอย่างไรไม่ให้น้ำไหลออกมากเกินไป เรื่องนี้ทาง ธ.ก.ส.สนับสนุนมาตั้งแต่ปี 2548 แล้ว เพราะเห็นว่าทั้งประเทศแจกไปหลายล้านเล่ม
     วิทยากรเล่าว่าการที่ธนาคารเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาชุมชน เพราะธนาคารมิได้มีหน้าที่เพียงปล่อยกู้ แล้วตามทวงหนี้ แต่ต้องสนับสนุนให้คนในชุมชน หรือลูกหนี้ รู้จักทำอาชีพ รู้จักการใช้เงิน และออมเงินอย่างเป็นระบบ หากทุกคนเข้าใจการออมเงิน รู้ซึ้งคำว่าพอเพียงแล้ว ย่อมทำให้การพัฒนาชุมชนตามที่วางแผนไว้ในโอกาสต่อไป สามารถดำเนินการได้ง่าย จนทำให้การแก้ปัญหาความยากจน บำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างชุมชนน่าอยู่ และมีความสุขอยู่ไม่ไกล ในตอนท้ายพระครูแจ้งว่าทาง ธ.ก.ส.เคยประกวดและให้บ้านเป็นรางวัลราคา 5 แสนแก่ผู้ที่เขียนได้ดี สำหรับในหมู่บ้านไหล่หิน พระครู จะมีรางวัลให้แต่เป็นอะไรขออุบไว้ก่อน ก็คงมีรายละเอียดในการประชุมหมู่บ้านครั้งต่อไปของพ่อกำนัน
     ผมสังเกตุว่าพระครูท่านฉันท์ข้าวมื้อเดียว และสวมชุดสีเดียว หากคนไหล่หิน ลดจำนวนมื้ออาหารลงสักหนึ่งมื้อ และลดปัจจัยปรุงแต่งลงบ้าง ก็คงลดค่าใช้จ่ายไปได้มาก เพื่อลดความต้องการ ลดความอยากลงนิดหนึ่ง ความสุขจากความรู้จักพอก็จะเพิ่มขึ้นตามมา

เกี่ยวกับ บุรินทร์ รุจจนพันธุ์

เป็นอาจารย์ฺประจำสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะบริหารธุรกิจและรัฐประศาสนศาสตร์ สอนด้านสื่อและเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ ระบบปฏิบัติการ ระบบฐานข้อมูล การโปรแกรม การพัฒนาระบบสารสนเทศ รับผิดชอบงานบริการวิชาการ สนใจงานวิจัยเกี่ยวกับ การวิจัยเพื่อท้องถิ่น การประกันคุณภาพการศึกษา การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม การวิจัยในชั้นเรียน และระบบสารสนเทศ
เรื่องนี้ถูกเขียนใน วิทยาการคอมพิวเตอร์ และติดป้ายกำกับ คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น