ทีวีดิจิตอลกับการเปลี่ยนแปลงสังคมไทย

เสียงคุณตาคนหนึ่งดังแว่วมาจากร้านรถเข็นริมฟุตบาธ
ว่า “ทีวีดิจิตอล 48 ช่อง จะทำให้ชีวิตเราดีขึ้นจริงหรือ…
เป็นคำถามที่ดูเหมือนง่ายแต่ตอบยาก
อัญญาวีร์ อุนสวัสดิ์อาภา

อัญญาวีร์ อุนสวัสดิ์อาภา

เพราะหลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมไทยคำว่า “ปริมาณ” กับ “คุณภาพ” อาจไม่ได้เป็นสิ่งเดียวกัน และบ่อยครั้งคำว่าคุณภาพก็มักไม่เคยเกิดขึ้นกับชีวิตของคนด้อยโอกาสในสังคม
หากย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 50 ปี ที่แล้ว การเข้ามาของโทรทัศน์ระบบอนาล็อกภาคพื้นดินในประเทศไทยนับว่าเป็นสิ่งแปลกใหม่ที่สร้างความตื่นเต้นให้กับคนในสังคมไทยไม่น้อย และถ้ากลับไปถามคนรุ่นปู่ย่าตายายในครอบครัวของเราว่าเริ่มดูโทรทัศน์ครั้งแรกเมื่อใด หลายท่านอาจจะตอบว่า “ไม่รู้” เพราะไม่ได้จดจำหรืออาจหลงลืมไปแล้ว แต่บางท่านที่ความจำยังดีก็อาจจะตอบด้วยแววตาเป็นประกายและบอกเล่าเรื่องราวได้อย่างละเอียดว่า ประเทศไทยเริ่มออกอากาศรายการโทรทัศน์ในระบบขาวดำเป็นครั้งแรกในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อปี พ.ศ. 2498 โดยใช้ชื่อว่า “สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม” แต่ถ้าหากถามท่านต่อไปอีกนิดว่า แล้วโทรทัศน์ในยุคแรกนั้นมีขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ใด ผู้สูงอายุหลายท่านก็อาจตอบคำถามนี้ด้วยสีหน้ายิ้มแย้มและตอบอย่างมั่นใจมากกว่าเดิมว่า “ก็เพื่อความบันเทิงนะซิ
คำถามดังกล่าว หลายคนอาจตอบได้ไม่ยากนักเนื่องจากบทบาทหน้าที่ดังกล่าวของโทรทัศน์ได้ถูกตอกย้ำและรับรู้กันอย่างแพร่หลายนับตั้งแต่ยุคแรกเริ่มของการเปิดสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งแรกเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2498 จวบจนกระทั่งถึงปัจจุบันสถานีโทรทัศน์ก็ยังคงทำหน้าที่ในการสร้างความบันเทิงมาโดยตลอดแต่อาจมีรูปแบบ เนื้อหา และวิธีการนำเสนอแตกต่างกันไปตามยุคสมัยและเทคโนโลยีการสื่อสาร เช่น รายการโทรทัศน์ที่ออกอากาศในยุคแรกส่วนใหญ่เป็นการออกอากาศหรือแสดงสดในห้องส่ง (สตูดิโอ) ที่มีขนาดเล็กและมีฉากจำกัด แต่เมื่อมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสื่อสารในระยะต่อมา รายการโทรทัศน์จึงมีทั้งการออกอากาศสด การบันทึกเทป และผลิตรายการได้ทั้งในและนอกสตูดิโอ
อย่างไรก็ดี บทบาทหน้าที่ของโทรทัศน์ในยุคแรกไม่เพียงแต่ให้ความบันเทิงเท่านั้นแต่ยังมีบทบาทหน้าที่แอบแฝงหรือซ่อนเร้นทางการเมือง เช่น ในยุคของจอมพล ป. พิบูลสงคราม รายการโทรทัศน์นอกจากจะให้ความบันเทิงแล้วยังทำหน้าที่ในการปลูกฝังแนวคิดชาตินิยมและในยุคสมัย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ใช้สถานีโทรทัศน์เป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อและสร้างความชอบธรรมจากการยึดอำนาจจากจอมพลป. พิบูลสงครามภายหลังจากการปฏิวัติสำเร็จ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้นำงบประมาณจากหน่วยงานทหารมาดำเนินการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์เป็นแห่งที่ 2 ขึ้นในประเทศไทยและใช้ชื่อว่า “สถานีกองทัพบกช่อง 7” ระบบขาวดำในปี พ.ศ. 2500
ท่ามกลางกระแสการพัฒนา ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของ จอมพล พลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2504 เป็นต้นมา สถานีโทรทัศน์ก็ได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาจากโทรทัศน์ระบบขาวดำมาสู่โทรทัศน์ระบบสีในปี พ.ศ. 2510 การพัฒนาช่องฟรีทีวีในประเทศไทยทั้ง 6 ช่อง ซึ่งประกอบด้วย ช่อง 3 ช่อง 5 ช่อง 7 ช่อง 9 ช่อง NBT และช่อง Thai PBS รวมทั้งการพัฒนาระบบเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมแต่เป็นที่น่าสังเกตว่า การพัฒนาสถานีโทรทัศน์ในสังคมไทยที่ผ่านมา (ก่อนการปฏิรูปสื่อปี พ.ศ. 2540) รัฐมีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จในการจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุโทรทัศน์และคลื่นโทรคมนาคม รวมทั้งการให้สัมปทานช่องสถานีโทรทัศน์กับผู้ประกอบการทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชนส่งผลให้สถานีโทรทัศน์โดยส่วนใหญ่ถูกครอบงำโดยกลุ่มองค์กรธุรกิจการเมืองซึ่งมุ่งเน้นผลประกอบการทางธุรกิจและอำนาจทางการเมืองมากกว่าผลประโยชน์ของประชาชน
จากการครอบงำสื่อ ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี พ.ศ. 2535 และการครอบงำสื่อของกลุ่มธุรกิจทางสถานีโทรทัศน์ช่องไอทีวี ปี พ.ศ. 2538 (ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสในยุคปัจจุบัน) ได้ปิดกั้นการทำหน้าที่ของสื่อที่ถูกต้องและเที่ยงตรง ส่งผลให้เกิดการปฏิรูปสื่อในระยะต่อมา ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ปี พ.ศ. 2540 กำหนดให้คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประเทศทั้งในระดับชาติ ระดับท้องถิ่น และการแข่งขันเสรีและเป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญมาตรา 40 รวมทั้งการเกิดขึ้นของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 47 ปี พ.ศ. 2550 เพื่อทำหน้าที่จัดสรรโครงข่ายและแผนแม่บทกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการดำเนินธุรกิจให้ถูกต้องตามกฎหมาย
อาจกล่าวได้ว่า การเกิดขึ้นของทีวีดิจิตอล 48 ช่องปัจจุบันกำลังเป็นที่จับตามองเพราะเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ของ กสทช.ว่า จะนำพาสังคมไทยให้หลุดพ้นจากการครอบงำสื่อของรัฐและกลุ่มธุรกิจที่ยาวนานกว่า 50 ปี หรือไม่ เนื่องจากหลักเกณฑ์ในการจัดสรรคลื่นให้กับบริการชุมชนบริการสาธารณะ และบริการธุรกิจยังอยู่ในช่วงโค้งสำคัญ รวมทั้งประเด็นการเข้าถึงพื้นที่สื่อสาธารณะของคนทุกกลุ่มโดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสก็ยังเป็นด่านสำคัญที่ กสทช.จะต้องฝ่าฟันไปให้ได้
บทความจากกรุงเทพธุรกิจ
เรื่องนี้ถูกเขียนใน คณะนิเทศศาสตร์, ทั่วไป และติดป้ายกำกับ , , , , คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น