ทำไมไทยต้องเปิดเทอมรับอาเซียน

พงษ์อินทร์ รักอริยะธรรม

พงษ์อินทร์ รักอริยะธรรม

สถาบันศึกษาของไทย ทั้งส่วนพื้นฐานและอุดมศึกษา ได้เริ่มมีความเคลื่อนไหว ปรับเปลี่ยนช่วงเวลาการเปิดเทอมเพื่อให้สอดคล้องกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนแล้วอย่างชัดเจนในขณะนี้

กระทรวงศึกษาธิการได้มีประกาศให้โรงเรียนในระดับการศึกษาพื้นฐานทั่วประเทศปรับเปลี่ยนการเปิดเทอมแรกจากเดิมช่วงเดือนพฤษภาคมไปเป็นต้นเดือนมิถุนายน เริ่มปีการศึกษา 2557 เป็นต้นไป

ในระดับอุดมศึกษานั้น มหาวิทยาลัยในกลุ่มเครือข่ายที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้มีการปรับการเปิดภาคการศึกษาแรกจากเดือนมิถุนายนไปเป็นช่วงสองสัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคม

การปรับเปลี่ยนเช่นนี้มีผลให้ช่วงเวลาการรับสมัครนักเรียนและนักศึกษาเข้ามหาวิทยาลัยกระจายไปตลอดทั้งปีการศึกษา

http://www.bangkokbiznews.com/home/news/politics/opinion/nation_u/news-list-1.php

ในความเห็นของผม การปรับเปลี่ยนเปิดเทอมของสถาบันการศึกษาของไทยให้สอดคล้องกับประเทศอาเซียนอื่น ๆ นั้นจะมีผลดี ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและอาจารย์ในภูมิภาคนี้กว้างขวางขึ้น อีกทั้งยังจะมีผลทำให้การพัฒนามาตรฐานสูงขึ้น และการเทียบโอนรายวิชาก็สามารถจะทำได้อย่างสะดวกขึ้นอีกเช่นกัน

บางท่านอาจจะมองว่าการปรับเวลาเปิดเทอมเช่นนี้เป็นการเพิ่มความวุ่นวายให้กับนักเรียนและผู้ปกครอง แต่ในความเป็นจริงนั้น ความหลากหลายในช่วงเวลาการเปิดเทอมเป็นเรื่องปกติในหลายๆ ประเทศที่มีการพัฒนามาตรฐานการศึกษาเข้าระดับสากล

เพราะในท้ายที่สุดแล้ว ความคิดที่จะควบคุมหรือกำกับระบบการศึกษาให้ต้องเป็นแบบเดียวกันหมดนั้นเป็นเรื่องฝืนธรรมชาติ ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงแห่งยุคสมัย

การปรับเปลี่ยนเช่นนี้ จึงเป็นการตอกย้ำว่าการศึกษาของไทยเรา จะต้องเร่งปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงเพื่อก้าวสู่มาตรฐานใหม่แห่งภูมิภาคในโลกยุคใหม่ที่การศึกษาจะเป็นตัวชี้วัดความเจริญก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง

นั่นย่อมหมายถึง ความจำเป็นที่เราจะต้องปรับคุณภาพมาตรฐานของการจัดสอบในระบบกลางของประเทศให้เป็นที่ยอมรับและนำไปใช้ในการคัดเลือกนักศึกษาของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ รวมถึงการเป็นที่ยอมรับในมาตรฐานการวัด, การประเมินผล, การเทียบแทนหรือเทียบเท่า เกณฑ์การวัดทั้งในส่วนความรู้ความสามารถหรือทักษะในการคิดวิเคราะห์ให้ได้มาตรฐานที่ประเทศอาเซียนทั้งหลายยอมรับโดยทั่วกัน เพื่อจะได้พิจารณารับนักศึกษานานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของการเคลื่อนย้ายแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างสถาบันอุดมศึกษาในกลุ่มภูมิภาคอาเซียน

เท่าที่พอจะประเมินได้ ณ ขณะนี้ความพร้อมของสถาบันการศึกษาชั้นสูงของไทยที่พร้อมจะเข้าสู่ระบบอาเซียนเช่นว่านี้มีอยู่ประมาณ 10 แห่งจากจำนวนมหาวิทยาลัยทั้งรัฐและเอกชน 200 กว่าแห่งที่อยู่ในกลุ่ม ทปอ.หรือประมาณ 5% ซึ่งคงจะเป็นเพียงปรากฏการณ์ปีแรกที่มีการปรับเปลี่ยนช่วงเวลาการเปิดเทอม และเชื่อว่าน่าจะมีการทยอยปรับตัวได้มากขึ้นในปีต่อๆ ไป

เมื่อทุกภาคส่วนในประเทศมีความตื่นตัวในการปรับตัวให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากการรวมตัวเป็น “ประชาคมอาเซียน” ในอีกสองปีข้างหน้าโดยเฉพาะภาครัฐบาลและธุรกิจเอกชนในทุก ๆ ด้านแล้ว สถาบันการศึกษาซึ่งควรจะเป็นแถวหน้าแห่งการผลักดันให้เกิดการปรับตัวให้ทันกับการเพิ่มพลวัตของภูมิภาคก็ย่อมจะต้องเร่งรัดการยกระดับของตนเองอย่างคึกคักเช่นกัน

Tags : พงษ์อินทร์ รักอริยะธรรม
http://bit.ly/XmrvGc

เกี่ยวกับ บุรินทร์ รุจจนพันธุ์

เป็นอาจารย์ฺประจำสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะบริหารธุรกิจและรัฐประศาสนศาสตร์ สอนด้านสื่อและเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ ระบบปฏิบัติการ ระบบฐานข้อมูล การโปรแกรม การพัฒนาระบบสารสนเทศ รับผิดชอบงานบริการวิชาการ สนใจงานวิจัยเกี่ยวกับ การวิจัยเพื่อท้องถิ่น การประกันคุณภาพการศึกษา การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม การวิจัยในชั้นเรียน และระบบสารสนเทศ
เรื่องนี้ถูกเขียนใน ทั่วไป และติดป้ายกำกับ , , , , คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น