การแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ คณะวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเนชั่น

การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญเกิดขึ้นจากพื้นฐานความเชื่อที่ว่า การจัดการศึกษามีเป้าหมายสำคัญที่สุด คือ การจัดการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนแต่ละคนได้พัฒนาตนเองสูงสุด ตามกำลังหรือศักยภาพของแต่ละคน แต่เนื่องจากผู้เรียนแต่ละคนมีความแตกต่างกันทั้งด้านความต้องการ ความสนใจ ความถนัด และยังมีทักษะพื้นฐานอันเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะใช้ในการเรียนรู้ อันได้แก่ ความสามารถในการฟัง พูด อ่าน เขียน ความสามารถทางสมอง ระดับสติปัญญา และการแสดงผลของการเรียนรู้ออกมาในลักษณะที่ต่างกัน จึงควรมีการจัดการที่เหมาะสมในลักษณะที่แตกต่างกันตามเหตุปัจจัยของผู้เรียนแต่ละคนและครูหรือผู้สอนเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในกลไกของการจัดการศึกษาโดยในเบื้องต้นครูหรือผู้สอนต้องทบทวนบทบาทของตนเองโยเริ่มจากการทบทวนและปรับแต่งความคิด ความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของการเรียน โดยต้องถือว่า แก่นแท้ของการเรียนคือการเรียนรู้ของผู้เรียน ต้องเปลี่ยนจากการยึดวิชาเป็นตัวตั้งมาเป็นการยึดมนุษย์หรือผู้เรียนเป็นตัวตั้ง ที่เรียกว่าผู้เรียนเป็นสำคัญ ครูต้องคำนึงถึงหลักความแตกต่างระหว่างบุคคลเป็นสำคัญ ครูจำเป็นต้องทำความเข้าใจและศึกษาให้รู้ข้อมูล อนเป็นความแตกต่างของผู้เรียนแต่ละคน และหาวิธีการสอนที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างเต็มที่ เพื่อพัฒนาผู้เรียนแต่ละคนนั้นให้บรรลุถึงศักยภาพสูงสุดที่มีอยู่ เพราะหัวใจสำคัญของการจัดการศึกษา คือ การส่งเสริมให้ผู้เรียนได้นำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาปฏิบัติในชีวิตจริง และปฏิบัติให้บังเกิดผลด้วย จึงจะทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ยั่งยืนสำคัญ

ความหมายของการเรียนรู้
การเรียนรู้มีองค์ประกอบหลัก คือ บทบาทของครู และบทบาทของผู้เรียน และวิธีการในการจัดการเรียนการสอนโดยมีสาระสำคัญดังที่ ทิศนา แขมมณี (2544) ได้กล่าวไว้ดังนี้
1. การเรียนรู้เป็นงานเฉพาะบุคคล ทำแทนกันไม่ได้ ครูที่ต้องการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ต้องเปิดโอกาสให้เขาได้มีประสบการณ์การเรียนรู้ด้วยตัวของเขาเอง
2. การเรียนรู้เป็นกระบวนการทางสติปัญญาที่ต้องมีการใช้กระบวนการคิด สร้างความเข้าใจ ความหมายของสิ่งต่างๆ ดังนั้นครูจึงควรกระตุ้นให้ผู้เรียนใช้กระบวนการคิดทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ
3. การเรียนรู้เป็นกระบวนการทางสังคม เพราะในเรื่องเดียวกัน อาจคิดได้หลายแง่ หลายมุมทำให้เกิดการขยาย เติมเต็มข้อความรู้ ตรวจสอบความถูกต้องของการเรียนรู้ตามที่สังคมยอมรับด้วย ดังนั้นครูที่ปรารถนาให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้จะต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับบุคคลอื่นหรือแหล่งข้อมูลอื่นๆ
4. การเรียนรู้เป็นกิจกรรมที่สนุกสนาน เป็นความรู้สึกเบิกบาน เพราะหลุดพ้นจากความไม่รู้ นำไปสู่ความใฝ่รู้ อยากรู้อีก เพราะเป็นเรื่องน่าสนุก ครูจึงควรสร้างภาวะที่กระตุ้นให้เกิดความอยากรู้หรือคับข้องใจบ้าง ผู้เรียนจะหาคำตอบเพื่อให้หลุดพ้นจากความข้องใจ และเกิดความสุขขึ้นจากการได้เรียนรู้ เมื่อพบคำตอบด้วยตนเอง
5. การเรียนรู้เป็นงานต่อเนื่องตลอดชีวิต ขยายพรมแดนความรู้ได้ไม่มีที่สิ้นสุด ครูจึงควรสร้างกิจกรรมที่กระตุ้นให้เกิดการแสวงหาความรู้ไม่รู้จบ
6. การเรียนรู้เป็นการเปลี่ยนแปลง เพราะได้รู้มากขึ้นทำให้เกิดการนำความรู้ไปใช้ในการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ เป็นการพัฒนาไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ครูควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้รับรู้ผลการพัฒนาของตัว

ประเด็นสำคัญในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
1) ความแตกต่างระหว่างบุคคลของผู้เรียน
2) การเน้นความต้องการของผู้เรียนเป็นหลัก
3) การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้เรียน
4) การจัดกิจกรรมให้น่าสนใจ ไม่ทำให้ผู้เรียนรู้สึกเบื่อหน่าย
5) ความเมตตากรุณาต่อผู้เรียน
6) การท้าทายให้ผู้เรียนอยากรู้
7) การตระหนักถึงเวลาที่เหมาะสมที่ผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้
8 ) การสร้างบรรยากาศหรือสถานการณ์ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้โดยการปฏิบัติจริง
(9) การสนับสนุนและส่งเสริมการเรียนรู้
10) การมีจุดมุ่งหมายของการสอน
11) ความเข้าใจผู้เรียน
12) ภูมิหลังของผู้เรียน
13) การไม่ยึดวิธีการใดวิธีการหนึ่งเท่านั้น
14) การเรียนการสอนที่ดีเป็นพลวัตร (dynamic) กล่าวคือ มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่ ตลอดเวลาทั้งในด้านการจัดกิจกรรม การสร้างบรรยากาศ รูปแบบเนื้อหาสาระ เทคนิคและวิธีการ
15) การสอนในสิ่งที่ไม่ไกลตัวผู้เรียนมากเกินไป
16) การวางแผนการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ

บทบาทผู้สอนในฐานะผู้จัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้

1. การเตรียมการสอน
1.1 การวิเคราะห์ข้อมูลของผู้เรียน เพื่อจัดกลุ่มผู้เรียนตามความรู้ความสามารถ และเพื่อกำหนดเรื่องหรือเนื้อหาสาระในการเรียนรู้และปรับเนื้อหาให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนหรือสอดคล้องกับท้องถิ่นหรือบูรณาการเนื้อหาสาระระหว่างกลุ่มประสบการณ์วิเคราะห์หลักสูตรหรือรายวิชา
1.2 วิเคราะห์หลักสูตรเพื่อเชื่อมโยงกับผลการวิเคราะห์ข้อมูล โดยเฉพาะการกำหนดเรื่องหรือเนื้อหาสาระในการเรียนรู้ ตลอดจนวัตถุประสงค์สำคัญ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาผู้เรียนสู่ความเป็นสากล
1.3 เตรียมแหล่งเรียนรู้ เตรียมห้องเรียนวางแผนการสอน ควรเขียนให้ครอบคลุมองค์ประกอบ ได้แก่ กำหนดเรื่อง กำหนดวัตถุประสงค์ให้ชัดเจน กำหนดเนื้อหาและครูควรมีรายละเอียดพอที่จะเติมเต็มผู้เรียนได้ตลอดจนมีความรู้ในเนื้อหาของศาสตร์นั้นๆเป็นอย่างดี กำหนดกิจกรรมโดยเน้นกิจกรรมที่ผู้เรียนได้คิดและลงมือปฏิบัติ ได้ศึกษาข้อมูลจากแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย นำข้อมูลหรือความรู้นั้นมาสังเคราะห์เป็นความรู้หรือเป็นข้อสรุปของตนเอง ผลงานที่เกิดจากการเรียนรู้ของผู้เรียนอาจมีความหลากหลายตามความสามารถ ถึงแม้จะเรียนรู้จากแผนการเรียนรู้เดียวกัน กำหนดวิธีการประเมินที่สอดคล้องกับจุดประสงค์ กำหนดสื่อ วัสดุอุปกรณ์ และเครื่องมือประเมิน

2. การสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้การกระตุ้นให้ผู้เรียนร่วมกิจกรรม

การจัดกิจกรรมหรือดูแลให้กิจกรรมดำเนินไปตามแผน และต้องคอยสังเกต บันทึกพฤติกรรมที่ปรากฏของผู้เรียนแต่ละคน หรือแต่ละกลุ่มเพื่อสามารถปรับเปลี่ยนกิจกรรมให้มีความเหมาะสม ให้การเสริมแรง หรือให้ข้อมูลย้อนกลับ ให้ข้อสังเกต การประเมินผลการเรียน เป็นการเก็บรวบรวมผลงานและการประเมินผลงานของผู้เรียน ประเมินผลการเรียนรู้ตามที่กำหนดไว้ อนึ่งการประเมินผล ครูจะต้องคำนึงถึง สอดคล้องกับจุดประสงค์ การประเมินตามสภาพจริง วิธีการและเครื่องมือสอดคล้องกันผู้เรียนมีส่วนร่วมในการประเมินนำผลการประเมินไปพัฒนาผู้เรียนอย่
3. การจัดการเรียนรู้ควรให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ

โดยมีรูปแบบการจัดกิจกรรมหลากหลายดังนี้ การเลือกเรื่องที่จะเรียนวางแผนการเรียนรู้ด้วยตนเองเรียนโดยการแลกเปลี่ยนความรู้เรียนด้วยกระบวนการกลุ่มเรียนจากห้องสมุดเรียนจากแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย ทั้งในและนอกห้องเรียนเรียนโดยบูรณาการ สาระทักษะ และคุณธรรม

4. การจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมให้ผู้เรียนนำความรู้ไปประยุกต์ใช้นี้ ครูควรจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนแสดงความสามารถในลักษณะต่าง ๆ และเปิดโอกาสให้มีความหลากหลาย เพื่อตอบสนองความสามารถเฉพาะที่ผู้เรียนแต่ละคนมีแตกต่างกัน เช่น การออกคำสั่งให้ผู้เรียนแสดงการทำงานในลักษณะต่างๆ แล้ว ครูอาจใช้วิธีการสอนบางวิธีที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงความรู้ในสถานการณ์อื่นๆ ได้เช่นกัน เช่น วิธีสอนโดยให้จัดนิทรรศการ และการสอนโดยใช้โครงงาน โดยครูเป็นผู้กำกับควบคุมให้ผู้เรียนทุกคนได้ร่วมกันวางแผน ดำเนินการตามแผน และร่วมกันสรุปผลงาน ผู้เรียนแต่ละคนจะได้เลือกและแสดงความสามารถที่ตนเองถนัด เพื่อให้งานบรรลุเป้าหมาย จึงสามารถกล่าวขยายความได้ว่า การเรียนรู้ผ่านการให้จัดนิทรรศการและการสอนโดยใช้โครงงาน ซึ่งสามารถทำอย่างต่อเนื่องกันได้ โดยมีประเด็นดังนี้
4.1 ผู้เรียนได้เรียนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ตนเองสนใจ
4.2 ผู้เรียนได้เรียนรู้หรือหาคำตอบด้วยตนเอง โดยการคิดและปฏิบัติจริง
4.3 วิธีการหาคำตอบมีความหลากหลายจากแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย
4.4 นำข้อมูลหรือข้อความรู้จากการศึกษามาสรุปเป็นคำตอบหรือข้อค้นพบของตนเอง
4.5 มีระยะเวลาในการศึกษาหรือแสวงหาคำตอบพอสมควร
4.6 คำตอบหรือข้อค้นพบเชื่อมโยงต่อการพัฒนาความรู้ต่อไป
4.7 ผู้เรียนมีโอกาสเลือก วางแผน และจัดการนำเสนอคำตอบของปัญหาหรือผลของการค้นพบด้วยวิธีการที่หลากหลายและสอดคล้องกับความถนัดและความสนใจของตนเอง

5. การจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ

เป็นเทคนิคในการจัดกิจกรรมกระตุ้นให้ผู้เรียนนำข้อมูลหลากหลายที่เกิดจากการเรียนรู้ไปสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน การบูรณาการ หมายถึง การนำศาสตร์สาขาวิชาต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันมาผสมผสานเข้าด้วยกันเหตุผลที่ต้องจัดให้มีการบูรณาการหลักสูตรและการเรียนการสอนคือในชีวิตของคนเรามีเรื่องราวต่าง ๆ ที่สัมพันธ์ซึ่งกันและกันไม่ได้แยกออกจากกันเป็นเรื่องๆ เมื่อมีการบูรณาการเข้ากับชีวิตจริงโดยการเรียนรู้ในสิ่งที่ใกล้ตัวแล้วขยายกว้างออกไป ผู้เรียนจะเรียนรู้ได้ดีขึ้นและเรียนรู้อย่างมีความหมาย เนื้อหาวิชาต่าง ๆ ที่ใกล้เคียงกันหรือเกี่ยวข้องกันควรนำมาเชื่อมโยงกัน เพื่อให้เรียนรู้อย่างมีความหมาย ลดความซ้ำซ้อนเชิงเนื้อหาวิชา ลดเวลา แบ่งเบาภาระของครู และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ใช้ความรู้ ความคิด ความสามารถและทักษะที่หลากหลายการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการมีลักษณะ เช่นมีการจัดการเรียนการสอนเป็นหน่วย การเชื่อมโยงการเรียนรู้สู่ท้องถิ่น จัดตารางการเรียนรู้แบบยืดหยุ่น ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการประเมินและมีการประเมินผลตามสภาพจริง ใช้กิจกรรมเชื่อมโยงสู่การฝึกทักษะและเนื้อหาสาระวิชาต่าง ๆการเรียนรู้แบบบูรณาการเชื่อมโยงสู่การประเมินทุกรายวิชาหรือทุกกลุ่มประสบการณ์สร้างการทำงานเป็นทีม เพราะต้องอาศัยผู้สอนหลายวิชาร่วมกันวางแผนและทำการสอน
ประเภทของการบูรณาการ เช่น บูรณาการเชื่อมโยงกับกลุ่มประสบการณ์หรือวิชาอื่น ๆ อาจทำได้ 2 ลักษณะคือ ผู้สอนคนเดียวกัน สอนหลายเรื่อง สามารถนำเนื้อหาสาระที่คล้ายกัน หรือเหมือนกันมาบูรณาการด้วยกันหรือ ผู้สอนหลายคน สอนในเนื้อหาวิชาที่สัมพันธ์กัน แต่มีชั่วโมงสอนต่างกัน สามารถช่วยกันจัดทำหน่วยการสอนโดยการบูรณาการเนื้อหาเข้าด้วยกัน นอกจากนี้แล้วยังสามารถบูรณาการเชื่อมโยงและสอนเป็นคณะ คือ การที่ครูผู้สอนในวิชาหรือกลุ่มต่างๆ ร่วมกันกำหนดเรื่องเป็นหน่วย กำหนดหัวเรื่องใหญ่ (theme) หัวเรื่องย่อย (topic) ประเด็นในการสอน (sub topic) กำหนดกิจกรรม และร่วมกันจัดกิจกรรม ตลอดจนร่วมกันประเมินผล

การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญเกิดขึ้นจากพื้นฐานทางคณะวิทยาศาสตร์สุขภาพมีความเห็นว่า เป้าหมายที่สำคัญคือ การจัดการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนแต่ละคนได้พัฒนาตนเองได้อย่างสูงสุดตามกำลังหรือศักยภาพของแต่ละคน แต่เนื่องจากผู้เรียนแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ทั้งด้านความสนใจ ความถนัด รวมไปถึงมีทักษะพื้นฐานในการเรียนรู้ เช่น การฟัง พูด อ่าน เขียน สติปัญญาในลักษณะที่ต่างกัน จึงต้องมีการจัดการที่เหมาะสมในลักษณะที่แตกต่างกัน ตามเหตุปัจจัยของผู้เรียนแต่ละคน

โดยวัตถุประสงค์ 1. เพื่อให้ผู้เรียนมุ่งศึกษาค้นคว้าความรู้จากแหล่งความรู้ที่หลากหลาย ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนมีลักษระใฝ่รู้ใฝ่เรียน ตามศักยภาพและเหตุปัจจัยของแต่ละคน 2. เพื่อพัฒนาให้ผู้เรียนมีทักษะการคิดอย่างเป็นระบบขั้นตอน และมีทักษะการแก้ปัญหา รวมไปถึงการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง วิธีการโดยใช้เทคนิคกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตนเอง ใช้เทคนิคการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนทำงานร่วมกับผู้อื่น ใช้เทคนิคการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ผู้เรียน นำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

ข้อความนี้ถูกเขียนใน ทั่วไป คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น