การพัฒนาศักยภาพชุมชนในการส่งเสริมสุขภาพผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง ในเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลฮ่องห้า (Building Capability in Community on the Health Promotion Program among Diabetic Patients and Hypertension Patients, Tambon Health Promoting Hospital, Hong Ha.) โดยอาจารย์ฉัตรชัย หมื่นก้อนแก้ว

ในการดูแลผู้ป่วยเบาหวานและผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่มีปัญหาสุขภาพเรื้อรัง เพื่อให้ผู้ป่วยและครอบครัวหรือผู้ดูแล มีศักยภาพในการส่งเสริมสุขภาพของผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสมนั้น จำเป็นต้องมีการทำงานประสานเชื่อมโยงกัน ของสามองค์ประกอบ ได้แก่ (1) ผู้ป่วยและญาติ, (2) การจัดระบบบริการสุขภาพของรัฐ และ (3) ผู้นำชุมชนและผู้ร่วมให้บริการสุขภาพเสริมในชุมชน การศึกษาเรื่อง การพัฒนาศักยภาพชุมชนในการส่งเสริมสุขภาพผู้ป่วยเบาหวานและผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ในเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลฮ่องห้า เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research)

มีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อศึกษาศักยภาพชุมชนในการส่งเสริมสุขภาพในผู้ป่วยเบาหวานและผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างคู่มือการส่งเสริมสุขภาพในผู้ป่วยเบาหวาน และผู้ป่วยความดันโลหิตสูง (2) เพื่อเปรียบเทียบความรู้ก่อนและหลังการใช้คู่มือ/กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ ของผู้ป่วยเบาหวานและผู้ป่วยความดันโลหิตสูง และของญาติผู้ดูแลและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) (3) เพื่อเปรียบเทียบระดับน้ำตาลในเลือด (FBS) และระดับความดันเลือดแดงเฉลี่ย (Mean Arterial Pressure : MAP) ของผู้ป่วยก่อนและหลังการใช้คู่มือ/กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ

ผู้วิจัยเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบยึดจุดมุ่งหมายของการศึกษาเป็นหลัก (Purposeful Sampling) กลุ่มที่ 1 ได้แก่ อสม. 5 คน, ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานและความดันโลหิตสูง 10 คน และญาติผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานและ/หรือความดันโลหิตสูง 5 คน และกลุ่มที่ 2 ได้แก่ ผู้ป่วยเบาหวานและผู้ป่วยความดันโลหิตสูง จำนวน 27 คน ผู้วิจัยรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างกลุ่มที่ 1 โดยใช้เครื่องมือ C4D (Communication for Development) ดำเนินการ 3 ครั้ง และสรุปเป็นคู่มือการส่งเสริมสุขภาพสำหรับผู้ป่วยเบาหวานและผู้ป่วยความดันโลหิตสูง จากนั้นนำคู่มือส่งเสริมสุขภาพไปดำเนินกิจกรรมกับผู้ป่วย และผู้มีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วย ผลการวิจัยพบว่า (1) ความรู้ในการส่งเสริมสุขภาพของผู้ป่วยเบาหวานและผู้ป่วยความดันโลหิตสูง หลังจากการใช้คู่มือ/กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ มากกว่าก่อนการใช้คู่มือฯ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (2) ความรู้ในการส่งเสริมสุขภาพของญาติผู้ดูแลและ อสม. หลังจากการใช้คู่มือ/กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ มากกว่าก่อนการใช้คู่มือฯ แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (3) ระดับน้ำตาลในกระแสเลือด (FBS) ของผู้ป่วยเบาหวานและผู้ป่วยความดันโลหิตสูง หลังจากการใช้คู่มือ/กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ ต่ำกว่าก่อนการใช้คู่มือฯ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และ (4) ระดับ MAP ของผู้ป่วยเบาหวานและผู้ป่วยความดันโลหิตสูง หลังจากการใช้คู่มือ/กิจรรมส่งเสริมสุขภาพ ต่ำกว่าก่อนการใช้คู่มือฯ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ผู้วิจัยได้สรุปและเสนอแนวคิดที่ได้จากการวิจัย ให้กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลฮ่องห้า และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับทราบเพื่อนำไปสู่การจัดระบบบริการสุขภาพ และนโยบายการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังในชุมชนต่อไป

ข้อความนี้ถูกเขียนใน ทั่วไป คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น