เส้นทางของเอกยุทธ อัญชันบุตร นับจากการเป็นนายทุนปฏิวัติเมื่ออายุ 25 จนกระทั่งได้ชื่อว่าเป็นผู้ต้องหาคดีฉ้อโกงประชาชน
หลบหนีคดีไปจนหมดอายุความ และกลับมาโอ่อ่าในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ ผู้ที่ประกาศตัวว่ายืนคนละข้างกับยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และขั้วอำนาจรัฐ นับว่าโลดโผนและท้าทายยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อเขาเปิดสงคราม โฟร์ซีซัน จนสั่นสะเทือนเลื่อนลั่น ชื่อของเอกยุทธ อัญชันบุตร ก็โดดเด่นขึ้นมาฉับพลันในหมู่มวลมิตรไม่เอาทักษิณ
หลังความตายของเอกยุทธ อัญชันบุตร สื่อกระแสหลัก รวมทั้งคนจำนวนไม่น้อยในเฟซบุ๊ค ซึ่งเอกยุทธ ใช้เป็นสื่อสังคมออนไลน์ ในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนที่เชื่อมั่น ศรัทธาเขา ต่างแสดงคารวะอาลัยในการจากไปอย่างสุดซึ้ง นั่นก็เป็นการแสดงออกแบบไทยๆ เป็นการให้ความเคารพและให้เกียรติผู้วายชนม์ ไม่ว่าเขาจะมีประวัติชีวิต หรือเส้นทางการเติบโตมาอย่างไร แต่สำหรับคนข่าวที่เกาะติดข่าวเอกยุทธ มาตั้งแต่ที่เขาหนีคดีแชร์ชาร์เตอร์ไปเมื่อราว 30 ปีก่อน เอกยุทธ อัญชันบุตร อาจไม่ใช่วีรบุรุษที่กล่าวชื่นชมได้เต็มคำ และอาจไม่จำเป็นต้องเสาะหาสาเหตุการตายแท้จริง หรืออาชญากรตัวจริง นอกจากปิดสำนวนไปตามที่พนักงานสอบสวนสรุป
2 ข้อหา ภายหลังการพบศพเอกยุทธ อัญชันบุตร คือ ปล้นทรัพย์ผู้อื่นโดยการประทุษร้ายจนถึงแก่ความตาย และปิดบังซ่อนเร้นอำพรางศพ ผู้ถูกกล่าวหาคือ นายสันติภาพ นายทิวากร เกื้อทอง นายเชาวลิต วุ่นชุม และนายสุทธิพงศ์ พิมพิศาล นั่นคือบทสรุปของคดีสังหารเอกยุทธ ที่ไม่มีวันพลิกผันไปเป็นอื่น นอกจากการทำสำนวนให้อ่อน และสุดท้ายพยานหลักฐานก็ไม่เพียงพอให้ลงโทษจำเลยได้ พิพากษายกฟ้องแล้วคดีก็จบกันไป
จิ๊กซอว์ความเป็นเอกยุทธ อัญชันบุตร นั้น อยู่ในหลายห้วงเวลา น้อยคนนักที่จะปะติดปะต่อจิ๊กซอว์เอกยุทธ ให้เป็นภาพใหญ่ได้ ฉะนั้น เมื่อมีคนตั้งข้อสังเกตว่าความตายของเอกยุทธ เป็นนิติกรรมอำพราง หรือเป็นฆาตกรรมซ่อนเงื่อน ที่มีผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง สังคมก็จะคล้อยไปตามความเชื่อนั้น
หากปรากฏการณ์นี้ถูกอธิบายด้วยทฤษฎีทางสื่อสารมวลชน อาจอธิบายได้ ในทฤษฎีขดลวดแห่งความเงียบ
โนแอล นูแมน (Noelle-Neumann) เจ้าของทฤษฎี ขดลวดแห่งความเงียบ (The Sprial of Silence) อธิบายปรากฏการณ์เช่นนี้ว่า มนุษย์พยายามหลีกเลี่ยงที่จะแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างไปจากความเห็นสาธารณะ หรือนัยหนึ่งคือความเห็นของสื่อมวลชน (ในภาพ) ลูกศรสีน้ำเงินคือ กลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วย ลูกศรสีเขียว คือกลุ่มคนที่เห็นด้วย คนมีแนวโน้มที่จะเปิดเผยความคิดเห็นของตนเอง เฉพาะที่สอดคล้องกับความเห็นสาธารณะเท่านั้น และเมื่อคนใดก็ตามอยู่ในเหตุการณ์ที่จำเป็นต้องแสดงความเห็นมากเท่าใด ก็จะทำให้คนคนนั้น ยิ่งกลัวที่จะแสดงความเห็นที่แตกต่างออกไปมากขึ้นเท่านั้น
มนุษย์มีแนวโน้มที่จะปรับความเห็นของตนเข้ากับความเห็นของคนส่วนใหญ่ เมื่อประสานเข้ากับสื่อกระแสหลัก เราจึงพบว่า คนส่วนใหญ่เชื่อว่าการตายของเอกยุทธ อัญชันบุตร เป็นยิ่งกว่าการฆ่าชิงทรัพย์
เพราะเหตุที่เสียงส่วนน้อย ใช้ความเงียบ หรือแสดงความเห็นด้วยในเสียงส่วนใหญ่ ความจริงบางอย่างในสังคมไทยจึงถูกกลบฝังไป ความเงียบและความขลาดกลัวที่จะคัดง้างกับกระแสสังคม จึงกลายเป็น “หลุมหลบภัย” ที่ทำให้สังคมตกอยู่ในหล่มโคลนแห่งความเท็จต่อไป
โดย : จักร์กฤษ เพิ่มพูล กรุงเทพธุรกิจ
http://bit.ly/19QlDXs