การเขียนบทความวิจัยอย่างไร จึงจะโดนใจบรรณาธิการ โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.มนัส สุวรรณ

ภาพโดย อ.อดิศักดิ์ จำปาทอง

ภาพโดย อ.อดิศักดิ์ จำปาทอง

ตามที่ได้ไปประชุมร่วมกับ อ.อดิศักดิ์ จำปาทอง และ อ.ดร.ตะวันฉาย มิตรประชา
เรื่อง เขียนบทความวิจัยอย่างไร จึงจะโดนใจบรรณาธิการ
โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.มนัส สุวรรณ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่
มีเรื่องราวจากเอกสารของท่านวิทยากร มาแบ่งปันดังนี้

นิยามศัพท์

บทความ หมายถึง งานเขียนประเภทร้อยแก้ว ซึ่งผู้เขียนต้องการถ่ายทอดความคิด
และ/หรือ ข้อมูลข่าวสารไปยังผู้อ่านโดยใช้ตัวอักษรเป็นสื่อกลาง
ประเภทของบทความ
– บทความทั่วไป
– บทความกึ่งวิชาการ
– บทความทางวิชาการ
บทความทั่วไป หมายถึง งานเขียนที่มิได้มุ่งเน้นการให้ความรู้
หรือข้อเท็จจริงเชิงวิชาการ แต่มุ่งเน้นที่จะให้ความรู้ทั่วไป ให้ความสนุกสนานเพลิดเพลิน
หรือให้ข้อคิดแก่ผู้อ่าน เช่น บทความแสดงความคิดเห็น บทความเล่าอัตชีวประวัติ
บทความเล่าประสบการณ์การเดินทาง และบทความที่ให้ข้อคิดหรือปรัชญาชีวิต เป็นต้น
บทความกึ่งวิชาการ หมายถึง งานเขียนที่ผู้เขียนประสงค์จะให้ความรู้เชิงวิชาการ
แต่ไม่ลึกซึ้งถึงระดับองค์ความรู้หรือทฤษฎี เช่น บทความที่เป็นบทวิเคราะห์/วิพากษ์
และบทความสนับสนุนหลักการหรือแนวคิด เป็นต้น
บทความทางวิชาการ หมายถึง งานเขียนหรือความเรียงที่ผู้เขียนประสงค์จะสื่อองค์ความรู้
หรือข้อค้นพบใหม่ ๆ ทางวิชาการในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งเป็นการเฉพาะ เช่น บทความวิจัย
บทความเสนอแนวคิด หลักการ และ/หรือแบบจำลอง เป็นต้น

ธรรมชาติของบทความทางวิชาการร
1. นำเสนอความรู้ที่ตั้งอยู่บนฐานวิชาการของสาขาวิชาใดวิชาหนึ่ง
2. ความรู้ที่นำเสนอต้องมีความถูกต้องและเชื่อถือได้ หรืออย่างน้อยที่สุดต้องมีแนวคิดหรือทฤษฎีสนับสนุน
3. เนื้อหาสาระที่นำเสนอต้องผ่านการประมวล หรือการสังเคราะห์ก่อนเรียบเรียงเชิงพรรณนาตามลำดับอย่างเหมาะสม
4. มีการวิเคราะห์ วิจารณ์ (ทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ) บนพื้นฐานทักษะความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ของผู้เขียน
5. มีการสรุปและอภิปรายผล รวมตลอดจนให้ข้อเสนอแนะที่จะนำไปสู่การแสวงหาความรู้เพิ่มเติม

การเลือกประเด็นเพื่อเขียนบทความทางวิชาการ
1. เป็นประเด็นที่อยู่ในกรอบความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ของผู้เขียน
2. เป็นประเด็นที่มีความแปลกใหม่ ทันสมัย และอยู่ในความสนใจของคนทั่วไป หรือเป็นประเด็นเก่าที่ควรรู้แต่ถูกทิ้งลืม
3. เป็นประเด็นที่สามารถยืนยันความน่าเชื่อถือได้ด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์ (Empirical data) หรือมีแนวคิด ทฤษฎีสนับสนุน
4. เป็นประเด็นที่สามารถสร้างเสริมความรู้ และความแตกฉานทางวิชาการให้กับทั้งผู้เขียน และผู้อ่าน
5. เป็นประเด็นที่สามารถก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม/ประเทศชาติ

องค์ประกอบของบทความทางวิชาการ
1. ชื่อบทความ
2. ชื่อผู้เขียน
3. บทคัดย่อ และคำสำคัญ (Abstract และ Keywords)
4. บทนำ/ความนำ
5. เนื้อเรื่อง (สาระสำคัญ/ความรู้ที่ต้องการนำเสนอ)
6. บทสรุปและอภิปรายผล
7. เอกสารอ้างอิง หรือบรรณานุกรม

บทความวิจัย หมายถึง เอกสารความเรียงที่ได้มาจากการประมวลสรุป (Condensation & Digestion)
รายงานการวิจัย หรือวิทยานิพนธ์ของนักศึกษา ระดับบัณฑิตศึกษา
ทั้งนี้บทความวิจัยมีลักษณะเฉพาะที่สำคัญ ดังนี้
– มีความยาวจำกัด จัดทำขึ้นเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมวิชาการหรือลงพิมพ์ในวารสารวิชาการ
– เป็นเอกสารที่มีความทันสมัย และทันต่อเหตุการณ์มากกว่ารายงานการวิจัย
ทั้งนี้เพราะผู้วิจัยสามารถเพิ่มเติมหรือตัดทอนบางส่วนของรายงานการวิจัยเพื่อการเผยแพร่ได้
– มีคุณภาพที่เป็นมาตรฐานมากกว่ารายงานการวิจัยเพราะต้องทำให้อยู่ใน format ที่เป็นที่ยอมรับตามหลักสากล

องค์ประกอบของบทความวิจัย
1. ชื่อเรื่อง
2. ชื่อผู้วิจัย
3. บทคัดย่อ/คำสำคัญ (Abstract/keywords)
4. บทนำ/ความนำ
5. วิธีดำเนินการวิจัย
6. ผลการวิจัย
7. อภิปรายผล
8. เอกสารอ้างอิง หรือบรรณานุกรม

ข้อแนะนำในการเขียนบทความวิจัย
1. ชื่อเรื่องสั้น กระทัดรัดได้ความหมาย (อาจระบุมิติและ/หรือลักษณะการวิจัยด้วยก็ได้)
2. บทคัดย่อเขียนให้กระชับแต่ครอบคลุมกระบวนการวิจัย
โดยปกติมีความยาวไม่เกิน 300 คำ(15 บรรทัด) มีการแบ่งย่อหน้าตามความเหมาะสม
3. บทนำ/ความนำ บ่งบอกถึงที่มาและความสำคัญของการวิจัย
(ทำไมจึงเลือกทำวิจัยเรื่องนี้ / ทำแล้วได้ประโยชน์อะไร)
4. วิธีดำเนินการวิจัยประกอบด้วย
– ขอบเขตของการวิจัย (พื้นที่/ประชากร/เนื้อหา/เวลา)
– ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
– ข้อมูล และแหล่งของข้อมูล
– เครื่องมือ และวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล
– วิธีการวิเคราะห์ข้อมูล
5. ผลการวิจัย เขียนสรุปเรียงตามวัตถุประสงค์
6. อภิปรายผล
– อภิปรายเปรียบเทียบกับวรรณกรรมที่ทบทวน
– อภิปรายข้อค้นพบที่มีความพิเศษเฉพาะ
7. เอกสารอ้างอิง หรือบรรณานุกรม
แจงให้ครบตามที่อ้างอิง และเขียนให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ

ข้อสังเกตสำหรับการเขียนบทความวิชาการ/บทความวิจัยที่ไม่ผ่านการคัดกรองเพื่อการเผยแพร่
1. ไม่ดำเนินการตามระเบียบหรือข้อกำหนดของวารสาร หรือที่ประชุม/สัมมนาวิชาการ
2. เนื้อหาสาระของบทความไม่สอดคล้องกับสาขาวิชาเฉพาะของวารสารหรือไม่ตรงกับ Theme
ของการประชุม/สัมมนาวิชาการ
3. บทความขาดความเป็นเอกภาพ (แต่ละองค์ประกอบไม่สัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน)
4. ขาดความชัดเจนในการนำเสนอ/ไม่ครบกระบวนการของการทำวิจัย
5. ไม่ได้ทำการประมวลสรุปเพื่อเขียนเป็นบทความ แต่นำเอาบทสุดท้ายมาปรับเขียน
6. โครงสร้างการเขียนไม่ดี ไม่เป็นไปตามลำดับ ขาดความเป็นเหตุเป็นผล
7. ขาดลีลาการเขียน (Writing style) ที่เป็นวิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนวนภาษา
การแบ่งประโยค และการแบ่งวรรคตอน
8. สาระที่นำเสนอไม่ลึกซึ้ง และไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ
9. ไม่ประณีต พิถีพิถันในการใช้ภาษา (ไม่คำนึงถึงหลักไวยากรณ์ พิมพ์ผิด สะกดผิด)
10. เป็นเพียงรายงานการศึกษา ขาดการวิเคราะห์ วิจารณ์ และ/หรือการแสดงความคิดเห็นเชิงวิชาการ

ข้อเสนอแนะเพื่อการเผยแพร่บทความ
1. สำรวจวารสารวิชาการ การประชุมสัมมนาวิชาการ ที่บทความที่เขียนสามารถนำไปเผยแพร่ได้
2. ศึกษาและทบทวนระเบียบและข้อกำหนดของวารสาร
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาสาระ และรูปแบบของบทความ
3. วางแผนการเขียนบทความอย่างเป็นระบบ กำหนดโครงร่างและองค์ประกอบของบทความ
กรอบเวลาที่จะเขียน และเวลาที่จะเผยแพร่
4. การเขียนเป็นเรื่องของทักษะ ควรศึกษาหาความรู้ และเพิ่มพูนทักษะด้วยการฝึกเขียนบ่อย ๆ
และด้วยการอ่านบทความดี ๆ จากวารสารดี ๆ
5. ใช้ภาษาเขียนที่เป็นมาตรฐานทางวิชาการ ถูกต้องตามหลักภาษาศาสตร์
6. ตรวจสอบและตรวจทานสิ่งที่ได้เขียนแล้วในบทความหลาย ๆ ครั้ง
เพื่อตัดทอน และ/หรือเพิ่มเติมสาระให้มีความถูกต้องและเหมาะสม
7. กรณีของบทความวิชาการ ต้องไม่ลืมส่วนที่เป็นบทวิเคราะห์ วิจารณ์ และการแสดงความคิดเห็น
บนพื้นฐานของหลักวิชาการ
8. กรณีของบทความวิจัย ต้อเป็นการเรียบเรียงในลักษณะของการประมวลสรุปจากรายงานการวิจัย
มิใช่การนำเอาบทสุดท้ายมานำเสนอ
9. หลักการเขียนบทความวิจัย ต้องพยายามยึดวัตถุประสงค์เป็นตัวตั้งเสมอ
10. นำเสนอเนื้อหาสาระโดยปราศจากอคติ ตรงไปตรงมา

เอกสารประกอบการค้นคว้า
– นงลักษณ์ วิรัชชัย และสุวิมล ว่องวานิช, “การจัดทำรายงานวิชาการ บทความวิจัย และการอ้างอิง”, [ออนไลน์]
– รสริน พิมลบรรยวก์, “การเขียนบทความวิจัยเพื่อตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ”, [ออนไลน์]
– รัตนะ บัวสนธ์, “การเขียนบทความวิชาการและบทความวิจัย”, [ออนไลน์]

29 ก.ค.59 มีการอบรมโครงการ “อบรมและพัฒนานักวิจัย” ประจำปี 2559
หลักสูตร “การเขียนบทความวิจัยทางวิชาการ”
จัดโดย เครือข่ายบริหารการวิจัยภาคเหนือตอนบน
สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)
ร่วมกับ งานบริหารงานวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ณ โรงแรมอิมพีเรียล แม่ปิง เชียงใหม่
https://www.facebook.com/groups/thaiebook/658232967660858/
http://unrn.rac.oop.cmu.ac.th

เกี่ยวกับ บุรินทร์ รุจจนพันธุ์

เป็นอาจารย์ฺประจำสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะบริหารธุรกิจและรัฐประศาสนศาสตร์ สอนด้านสื่อและเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ ระบบปฏิบัติการ ระบบฐานข้อมูล การโปรแกรม การพัฒนาระบบสารสนเทศ รับผิดชอบงานบริการวิชาการ สนใจงานวิจัยเกี่ยวกับ การวิจัยเพื่อท้องถิ่น การประกันคุณภาพการศึกษา การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม การวิจัยในชั้นเรียน และระบบสารสนเทศ
เรื่องนี้ถูกเขียนใน คณะนิเทศศาสตร์, คณะบริหารธุรกิจและรัฐประศาสนศาสตร์, คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ, แนวทางการผลิตงานวิจัยเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ และติดป้ายกำกับ , , คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น