ประสบการณ์ในการขอตำแหน่ง “ผู้ช่วยศาสตราจารย์”

ผศ.บดินทร์ เดชาบูรณานนท์

อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเนชั่น

 

ตำแหน่งทางวิชาการ หมายความถึง วิทยฐานะที่ทรงเกียรติของอาจารย์ในระดับอุดมศึกษา ซึ่งประกอบด้วยตำแหน่งศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์พิเศษ รองศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์พิเศษ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ ซึ่งได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน (https://www.rsu.ac.th, 2559)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (assistant Professor) ใช้อักษรย่อว่า “ผศ.” เป็นตำแหน่งทางวิชาการ ต่อมาจากตำแหน่ง อาจารย์ ก่อนจะเป็น รองศาสตราจารย์ โดยต้องมีชั่วโมงสอน มีผลงานเอกสารประกอบการสอนอย่างน้อย 1 รายวิชา คุณภาพดี และผลงานวิจัย คุณภาพดี หรือ ผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่น ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์แสดงถึงมีความรู้ ความสามารถ และมีผลงานทางวิชาการ ตรงตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยมีหน้าที่หลักในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาชั้นสูง คือ มีชั่วโมงสอนประจำวิชาใดวิชาหนึ่งที่กำหนดไว้ในหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษาและมีความชำนาญในการสอน และเสนอเอกสารประกอบการสอนที่ผลิตขึ้นสำหรับการสอนทั้งรายวิชาไม่น้อยกว่า 1 รายวิชา ซึ่งมีคุณภาพดี และได้ใช้ประกอบการสอนมาแล้ว โดยผ่านการประเมินจากคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการในข้อบังคับของสภาสถาบัน (https://th.wikipedia.org, 2559)

ผู้เขียนได้ยื่นเรื่องเพื่อเสนอขอตำแหน่งทางวิชาการ ระดับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ในสาขาวิชานิเทศศาสตร์ โดยวิธีปกติ สิ่งสำคัญอันดับแรก คือการตรวจสอบความพร้อมของตนเอง ทางด้านคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง รวมทั้งเอกสารและผลงานทางวิชาการ ซึ่งสามารถสรุปจากประสบการณ์เฉพาะของผู้เขียนในการขอตำแหน่งได้ ดังนี้

1. คุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง

คุณวุฒิ และระยะเวลาการเป็นอาจารย์ คุณวุฒิปริญญาโท ซึ่งต้องมีระยะเวลาการเป็นอาจารย์ไม่น้อยกว่า

5 ปี (สำหรับคุณวุฒิอื่นๆ จะแตกต่างในเรื่องของระยะเวลาการเป็นอาจารย์)

2. การสอน

2.1 การสอน  เป็นการเลือกรายวิชาที่จะขอตำแหน่งมา 1 รายวิชา ที่มีความชำนาญในการสอน และมีเอกสารประการ

สอนคุณภาพดีที่ผ่านการใช้สอนมาแล้วอย่างน้อย 1 ภาคการศึกษา ในเอกสารประกอบการสอนไม่ได้จำกัดว่าต้องมีกี่บท ซึ่งในแต่ละบทจะต้องประกอบด้วย หัวข้อเรื่อง, วัตถุประสงค์การเรียนรู้, เนื้อหา, คำถามและกิจกรรมท้ายบท โดยเอกสารประกอบการสอนนั้น จะผ่านการประเมินจากคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งวิชาการภายในมหาวิทยาลัย

2.2 การสอบสอน ผู้เขียนขอให้คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งวิชาการเข้ามาสอบสอน ในรายวิชาที่ต้องการจะขอตำแหน่ง โดยทำเรื่องขอรับประเมินผลการสอนเพื่อขอตำแหน่งทางวิชาการ เอกสารที่ต้องให้กับทางคณะกรรมการ ได้แก่ เอกสารประกอบการสอน, สื่อการสอน, แผนการสอน (มคอ.3) และแบบสรุปผลการประเมินการเรียนการสอนโดยนักศึกษา (ย้อนหลังประมาณ 3 เทอม) สำหรับในรายวิชาดังกล่าว  กล่าวในการสอบสอนต้องมีการเตรียมตัว การเตรียมเนื้อหา การให้นักศึกษาได้มีส่วนร่วม กิจกรรมในชั้นเรียน และการบริหารจัดการเวลาให้มีความเหมาะสม ซึ่งการเรียนการสอน หัวข้อที่สอนจะต้องตรงกับแผนการสอน (มคอ.3) เมื่อคณะกรรมการเข้าประเมินการสอนในชั้นเรียนมีมติให้สอนผ่าน จึงจะเข้าสู่ขั้นตอนของการพิจารณาผลงานวิจัยโดยผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกมหาวิทยาลัย หากผลการสอนไม่ผ่านจะไม่ได้ไปสู่ขั้นตอนต่อไป  ดังนั้นการสอบสอนจึงเป็นสิ่งสำคัญ และคณะกรรมการจะอยู่ในชั้นเรียนตั้งแต่เริ่มต้นจนจบชั่วโมง

3. ผลงานทางวิชาการ

3.1 งานวิจัย

ตามเกณฑ์ในการขอตำแหน่งจะต้องเป็นผลงานวิจัยคุณภาพดี ที่แสดงความชำนาญหรือเชี่ยวชาญในสาขาวิชา  และได้ตีพิมพ์เผยแพร่เป็นบทความวิจัยในวารสารวิชาการ (วารสารที่ลงต้องมีรายชื่อปรากฏในฐานข้อมูล TCI) ผู้เขียนเสนองานวิจัยเชิงคุณภาพที่เป็นหัวหน้าโครงการ โดยงานวิจัยจะถูกส่งให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (Readers) ภายนอก ประมาณ 3-5 ท่าน พิจารณาผลงาน การดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับผู้ทรงคุณวุฒิและผลการประเมินเป็นความลับทุกกรณี และจะใช้เวลาหลายเดือน  เพราะต้องรอผู้ทรงคุณวุฒิแต่ละท่านตรวจอ่านและประเมิน ข้อแนะนำสำหรับขั้นตอนนี้ควรเป็นผลงานวิจัยที่ทำคนเดียว 100% เมื่อส่งงานวิจัยไปแล้ว ผู้วิจัยจะไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขหรือเพิ่มเติมได้อีก

คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งวิชาการของมหาวิทยาลัย จะพิจารณาผลการประเมิน โดยสภามหาวิทยาลัยพิจารณาให้ความเห็นชอบ อธิการบดีจะเป็นผู้ลงนามคำสั่งแต่งตั้ง ทั้งนี้ผู้เขียนได้ยื่นเรื่องเพื่อเสนอขอตำแหน่ง

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 และได้รับคำสั่งแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558

#บดินทร์เดชาบูรณานนท์ #มหาวิทยาลัยเนชั่น #ผู้ช่วยศาสตราจารย์ #การขอตำแหน่งทางวิชาการ

———————————————————–

บรรณานุกรม

ความหมายของตำแหน่งทางวิชาการ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : https://www.rsu.ac.th. ,

(วันที่ค้นข้อมูล : 28 พฤษภาคม 2559)

ความหมายของผู้ช่วยศาสตราจารย์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก :  https://th.wikipedia.org. ,

(วันที่ค้นข้อมูล : 28 พฤษภาคม 2559)

ข้อความนี้ถูกเขียนใน คณะนิเทศศาสตร์, แนวทางการผลิตงานวิจัยเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น