ข้อปฏิบัติสำหรับการเผยแพร่ผลงานวิจัยสำหรับบัณฑิตศึกษา

 

ข้อปฏิบัติสำหรับการเผยแพร่ผลงานวิจัยสำหรับบัณฑิตศึกษา

 การเผยแพร่ผลงานวิจัยสำหรับบัณฑิตศึกษา

ผลงานที่เผยแพร่

  1. ผลงานที่เผยแพร่เป็นผลงานหรือส่วนหนึ่งของผลงานวิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาโท
  2. นักศึกษาจะส่งผลงานไปเผยแพร่ได้หลังจากที่ได้รับอนุมัติหัวข้อวิทยานิพนธ์จากคณะกรรมการหลักสูตรบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัยแล้ว

วิธีการเผยแพร่ผลงาน

การเผยแพร่ผลงานหรือส่วนหนึ่งของผลงานวิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาโท ดำเนินการได้  2 วิธี ดังนี้

  1. เผยแพร่ในวารสารหรือสิ่งพิมพ์ทางวิชาการที่เป็นที่ยอมรับในวงวิชาการในสาขาวิชาที่นักศึกษาสำเร็จการศึกษา วารสารหรือสิ่งพิมพ์ทางวิชาการมีระบบประเมินบทความโดยกองบรรณาธิการ (editorial review) หรือโดยผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก (peer review) หรือ
  2. เผยแพร่ในที่ประชุมวิชาการที่มีระบบประเมินบทความโดยผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก และมีการจัดทำ บทความวิจัยฉบับสมบูรณ์ (full paper) และเป็นรายงานการประชุมวิชาการ (proceedings)
  3. ประเภทของวารสารหรือสิ่งพิมพ์ทางวิชาการและประเภทของที่ประชุมวิชาการที่สำนักงานบัณฑิตศึกษากำหนดให้นักศึกษาหลักสูตรปริญญาโท แผนการศึกษา แผน ก แบบ ก 2 เผยแพร่วิทยานิพนธ์หรือส่วนหนึ่งของผลงานวิทยานิพนธ์เพื่อขอสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท เป็นดังนี้
    • วารสารหรือสิ่งพิมพ์ทางวิชาการ
      • เป็นวารสารวิชาการระดับนานาชาติ ที่มีระบบประเมินบทความโดยกองบรรณาธิการหรือโดยผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก กรณีของวารสารวิชาการที่เป็น Open Access (OA) ขอให้หลีกเลี่ยงวารสารที่ผลิตโดยสำนักพิมพ์ที่ปรากฏชื่อใน Beall’s list of Predatory, Open-Access Publishers ในช่วงเวลาที่ผลงานได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนั้น แม้ว่าวารสารนั้นจะปรากฏชื่อในฐานข้อมูลสากล ตรวจสอบรายชื่อสำนักพิมพ์ที่ควรหลีกเลี่ยงได้ที่ http://scholarlyoa.com
      • เป็นวารสารวิชาการไทยที่มีระบบประเมินบทความโดยกองบรรณาธิการหรือโดยผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก และ/หรือ มีชื่ออยู่ในฐานข้อมูลของศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (Thai-Journal Citation Index : TCI) ในกรณีที่มีข้อสงสัย นักศึกษาสามารถเสนอวารสารหรือสิ่งพิมพ์ทางวิชาการให้คณะกรรมการหลักสูตรบัณฑิตศึกษาพิจารณาก่อนส่งบทความวิจัยไปตีพิมพ์โดยกรอกแบบฟอร์มของหลักสูตรบัณฑิตศึกษา พร้อมแนบข้อมูลของวารสารหรือสิ่งพิมพ์ทางวิชาการฉบับล่าสุดที่แสดงหลักฐานระบุว่ามีระบบประเมินบทความโดยกองบรรณาธิการหรือโดยผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก
  1. ที่ประชุมวิชาการ
    • การจัดประชุมต้องดำเนินการโดยหน่วยงานอย่างน้อยในระดับคณะ หรือหากเป็นการประชุมวิชาการเฉพาะสาขาต้องดำเนินการร่วมกัน ระหว่างหน่วยงานต่างๆ มิใช่เป็นการจัดโดยภาควิชาใดวิชาหนึ่ง หรือหลักสูตรใดหลักสูตรหนึ่งเท่านั้น
    • การจัดประชุมในข้อ1 ต้องมีการจัดทำบทความวิจัยฉบับสมบูรณ์ (full paper) เป็นรายงานการประชุมวิชาการ (proceedings)
    • ต้องมีคณะกรรมการประเมินผลงานที่นักศึกษาจะเผยแพร่เสนอผลงานและประเมินผลงานที่จะลงเผยแพร่ในรายงานการประชุมวิชาการ (proceedings)
    • นักศึกษาต้องไปเสนอผลงานด้วยตนเอง การนำเสนอจะเป็นการเสนอแบบ oral presentation หรือ poster presentation อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้
    • การระบุชื่อนักศึกษาในผลงานที่เผยแพร่ นักศึกษาสามารถระบุชื่อเป็นผู้แต่งหลักและหรือมีผู้แต่งร่วมก็ได้ และต้องระบุชื่อส่วนงานที่ศึกษาและมหาวิทยาลัย
  1. การเสนอหลักฐานการเผยแพร่วิทยานิพนธ์เพื่อขอสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท
    • กรณีเผยแพร่ผลงานในวารสารหรือสิ่งพิมพ์ทางวิชาการ ที่มีระบบประเมินบทความโดยกองบรรณาธิการหรือโดยผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก นักศึกษาต้องส่งหลักฐานการตีพิมพ์หรือการได้รับการตอบรับที่จะตีพิมพ์จากวารสารหรือสิ่งพิมพ์ทางวิชาการ พร้อมสำเนาต้นฉบับผลงานวิจัย (manuscript) จำนวน 2 ชุด และเมื่อผลงานได้รับการตีพิมพ์เรียบร้อยแล้ว นักศึกษาต้องส่งสำเนาบทความ (reprint) ที่ลงเผยแพร่ให้แก่สำนักงานบัณฑิตศึกษาจำนวน 2 ชุด อีกต่างหาก
  • กรณีเผยแพร่ผลงานในที่ประชุมวิชาการ นักศึกษาต้องส่งหลักฐานจำนวน 2 ชุด ดังต่อไปนี้                                                                                                      – บทคัดย่อ (abstract) ที่นำเสนอต่อที่ประชุมวิชาการ                                – หลักฐานที่แสดงว่านักศึกษาไปเสนอผลงานในวันประชุมวิชาการ            – สำเนาบทความ (reprint) ที่ลงเผยแพร่ในรายงานการประชุมวิชาการ (proceedings)
  1. ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามประกาศนี้ ให้งานบัณฑิตศึกษามีอำนาจวินิจฉัยสั่งการ คำวินิจฉัยของผู้อำนวยการงานบัณฑิตศึกษาถือเป็นที่สิ้นสุด

 

เกณฑ์การพิจารณาวารสารวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติและระดับชาติ

  1. วารสารวิชาการที่เป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติ (approved international journal)
  • มี impact factor ต่อเนื่อง
  • เป็นวารสารที่อยู่ในฐานข้อมูลที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล หรือ
  • สอดคล้องตามเกณฑ์คุณภาพวารสารวิชาการระดับนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ สกอ. กำหนด (เอกสารหมายเลข 1)

ทั้งนี้  วารสารวิชาการที่เป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติ เป็นวารสารที่แนะนำให้ สกอ. ใช้เพื่อตีพิมพ์เผยแพร่วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก และผลงานของนักวิชาการ

  1. วารสารวิชาการที่เป็นที่ยอมรับระดับชาติ (approved national Journal)
  • มี impact factor ต่อเนื่อง หรือ
  • สอดคล้องตามเกณฑ์คุณภาพวารสารวิชาการระดับชาติด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ สกอ. กำหนด (เอกสารหมายเลข 2)

นอกจากนี้ที่ประชุมคณะอนุกรรมการกลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้กำหนดวารสารวิชาการที่เป็นที่ยอมรับระดับชาติเพิ่มเติม โดยพิจารณาจากวารสารที่มีค่า impact factor ในฐานข้อมูล TCI* เฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2548-2550 ไม่น้อยกว่า 0.024 และไม่มีค่า impact factor = 0 (ศูนย์) ในปี 2550

ทั้งนี้ วารสารวิชาการที่เป็นที่ยอมรับระดับชาติ เป็นวารสารที่แนะนำให้ สกอ.ใช้เพื่อตีพิมพ์เผยแพร่วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท และใช้เพื่อตีพิมพ์เผยแพร่วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกสำหรับมหาวิทยาลัยที่มิได้เน้นการวิจัยด้วย

ฐานข้อมูล TCI* หมายถึง ฐานข้อมูลการอ้างอิงวารสารไทย ที่จัดทำโดย “ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย :  Thai journal Citation Index Centre” ซึ่งจะประกาศค่า TCI impact factor ทุกวันที่ 15 กรกฎาคม ของทุกปี

 

เกณฑ์คุณภาพวารสารวิชาการระดับนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

เพื่อให้วารสารวิชาการของสถาบันการศึกษาในประเทศไทยได้ทำหน้าที่เป็นแหล่งกลางในการเผยแพร่งานวิชาการของประชาคมอุดมศึกษาให้มีมาตรฐานเทียงเคียงได้กับระดับนานาชาติสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยจึงกำหนดเกณฑ์คุณภาพวารสารวิชาการที่สมควรได้รับการสนับสนุนไว้ ดังนี้

  1. กองบรรณาธิการของวารสารวิชาการในประเทศจะต้องมีศาสตราจารย์ หรือผู้ทรงคุณวุฒิระดับปริญญาเอกหรือเทียบเท่าจากภายนอกประเทศที่มีผลงานตีพิมพ์เผยแพร่อย่างต่อเนื่องเป็นที่ยอมรับในสาขาวิชานั้นๆ ไม่น้อยกว่า 25%
  2. บทความที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ต้องมีบทความที่ผู้เขียนมาจากภายนอกประเทศไม่น้อยกว่า 25% ของจำนวนบทความทั้งหมด
  3. ผู้ประเมินบทความต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้น ทำงานวิจัยและมีผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์เผยแพร่อย่างต่อเนื่อง
  4. บทความที่เขียนโดยนักวิชาการในสถาบันที่จัดทำวารสารนั้นต้องมีผู้ประเมินจากสถาบันภายนอกทั้งหมด และในแต่ละปีต้องมีผู้ประเมินจากต่างประเทศไม่น้อยกว่า 25%
  5. วารสารต้องออกตรงตามเวลาอย่างต่อเนื่อง และได้ตีพิมพ์เผยแพร่มาแล้วอย่างน้อย 3 ปี
  6. วารสารควรมีการตีพิมพ์บทความปริทรรศน์ (review article) เป็นครั้งคราว
  7. กำหนดให้มีการประเมินคุณภาพวารสารทุกๆ 2 ปี ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ โดยจะมีการประเมินเบื้องต้นทุกๆ ปี

หมายเหตุ  บทความที่เขียนร่วมกับนักวิชาการต่างประเทศให้อนุโลมเป็นบทความวิชาการต่างประเทศได้

ที่มา : คณะอนุกรรมการกลุ่มสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี             ในการประชุมครั้งที่ 3/2551  เมื่อวันจันทร์ที่ 10 มีนาคม 2551

 

เกณฑ์คุณภาพวารสารวิชาการระดับชาติด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

เพื่อให้วารสารวิชาการของสถาบันการศึกษาในประเทศไทยได้ทำหน้าที่เป็นแหล่งกลางในการเผยแพร่งานวิชาการของประชาคมอุดมศึกษาให้มีมาตรฐานเทียบเคียงได้กับระดับชาติ สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยจึงกำหนดเกณฑ์คุณภาพวารสารวิชาการที่สมควรได้รับการสนับสนุนไว้  ดังนี้

  1. กองบรรณาธิการของวารสารวิชาการในประเทศจะต้องมีศาสตราจารย์ หรือผู้ทรงคุณวุฒิระดับปริญญาเอกหรือเทียบเท่าจากภายนอกสถาบันที่จัดพิมพ์วารสารนั้น ที่มีผลงานตีพิมพ์เผยแพร่อย่างต่อเนื่องเป็นที่ยอมรับในสาขาวิชานั้นๆ ไม่น้อยกว่า 25%
  2. บทความที่ดีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ต้องมีบทความที่ผู้เขียนมาจากสถาบันอื่นไม่น้อยกว่า 25% ของจำนวนบทความทั้งหมด
  3. ผู้ประเมินบทความต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้น ทำงานวิจัยและมีผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์เผยแพร่อย่างต่อเนื่อง
  4. บทความที่เขียนโดยนักวิชาการในสถาบันที่จัดทำวารสารนั้นต้องมีผู้ประเมินจากสถาบันภายนอกทั้งหมด และในแต่ละปีต้องมีผู้ประเมินจากต่างสถาบันไม่น้อยกว่า 25%
  5. วารสารต้องออกตรงตามเวลาอย่างต่อเนื่อง และได้ตีพิมพ์เผยแพร่มาแล้วอย่างน้อย 3 ปี
  6. วารสารควรมีการตีพิมพ์บทความปริทรรศน์ (review article) เป็นครั้งคราว
  7. กำหนดให้มีการประเมินคุณภาพวารสารทุกๆ 2 ปี ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้โดยจะมีการประเมินเบื้องต้นทุกๆ ปี

หมายเหตุ

1)  บทความที่เขียนร่วมกับนักวิชาการนอกสถาบันให้อนุโลมเป็นบทความวิชาการนอกสถาบันได้

2)  สำหรับวารสารที่ได้รับการพิจารณาให้เป็นวารสารที่เป็นที่ยอมรับระดับชาติไปแล้วนั้นการพิจารณาตาม ข้อ 1, 2 และ 4 ให้กำหนด เป็นร้อยละ 10 ตามเกณฑ์เดิมเป็นเวลา 2 ปี นับจากวันที่ประกาศรายชื่อวารสารที่เป็นที่ยอมรับระดับชาติเพิ่มเติม

ที่มา : คณะอนุกรรมการกลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี                    ในการประชุมครั้งที่ 3/2551  เมื่อวันจันทร์ที่ 10 มีนาคม 2551

 

เกณฑ์มาตรฐานวารสารวิชาการกลุ่มสาขาวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  ประจำปีงบประมาณ 2552

ด้วยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ร่วมมือกันในการที่จะยกมาตรฐานการเผยแพร่งานวิชาการในประเทศให้มีคุณภาพและเพื่อผลักดันให้เกิดมาตรฐานที่ใกล้เคียง หรือเทียบได้กับนานาชาติ มาตรการหนึ่งในบรรดามาตรการทั้งหลาย คือการสนับสนุนให้เกิดวารสารทางวิชาการกลาง อันจะเป็นที่รวมและเผยแพร่ความรู้ของประชาคมวิชาการในประเทศไทย โดยไม่เพียงแต่สนองความต้องการของสถานบันใดสถาบันหนึ่ง

เพื่อให้วารสารวิชาการของสถาบันการศึกษาในประเทศไทยได้ทำหน้าที่เป็นแหล่งกลางในการเผยแพร่งานวิชาการของประชาคมอุดมศึกษาให้มีมาตรฐานเทียบเคียงกับระดับนานาชาติ ดังนั้นสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาจึงกำหนดเกณฑ์คุณภาพวารสารวิชาที่สมควรได้รับการสนับสนุนไว้ ดังนี้

  1. กองบรรณาธิการของวารสารวิชาการในประเทศต้องมีศาสตราจารย์ หรือผู้ทรงคุณวุฒิระดับปริญญาเอกจากภายนอกสถาบันที่จัดพิมพ์วารสารนั้น หรือผู้ทรงคุณวุฒิที่มีผลงานโดดเด่นอย่างต่อเนื่องเป็นที่ยอมรับในสาขาวิชานั้นๆ
  2. ผู้ประเมินบทความต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้น ทำงานวิจัยและมีผลงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง
  3. บทความที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ต้องมีบทความที่ผู้เขียนมาจากสถาบันอื่นที่มิใช่สถาบันที่จัดทำวารสารนั้นไม่น้อยกว่า 10% ของจำนวนบทความทั้งหมด ในอนาคตควรมีการเพิ่มจำนวนบทความประเภทดังกล่าวให้ถึง 25% ของบทความทั้งหมดเพื่อเป็นการพัฒนา คุณภาพวิชาการของประเทศ
  4. บทความที่เขียนโดยนักวิชาการในสถาบันที่จัดทำวารสารนั้นต้องมีผู้ประเมินจากสถาบันภายนอกไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ประเมินทั้งหมด
  5. กำหนดให้มีการประเมินคุณภาพวารสารทุกๆ 2 ปี ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้
  6. บทความแต่ละบทความต้องมีบทคัดย่อภาษาอังกฤษ ในกรณีที่ตีพิมพ์เป็นภาษาต่างประเทศต้องมีบทคัดย่อเป็นภาษาไทยด้วย
  7. วารสารต้องออกตรงตามเวลาอย่างต่อเนื่อง
  8. วารสารต้องมีบทวิจารณ์หนังสือ (book review)
  9. วารสารควรมีการตีพิมพ์บทความปริทรรศน์ (review article) เป็นครั้งคราว

 

ระดับคุณภาพวารสารวิชาการที่ตีพิมพ์ในประเทศ

ตามที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้สนับสนุนทุนวิจัยเชิงวิชาการหลากหลายประเภท ที่มีเป้าหมายหลักในการสร้างนักวิจัยอาชีพที่มีความสามารถสูง ให้สร้างองค์ความรู้ใหม่และผลิตผลงานที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่มีคุณภาพสูงนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับคุณภาพวารสารวิชาการในประเทศ และเพื่อใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงสำหรับ สกว. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการประเมินคุณภาพวารสารวิชาการที่ตีพิมพ์ในประเทศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย จึงได้กำหนดเกณฑ์คุณภาพวารสารทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และด้านมนุษยศาสตร์และศิลปกรรม ดังต่อไปนี้

  1. ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ระดับคุณภาพวารสารทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แบ่งออกเป็น 5 ระดับได้แก่

ระดับ 5                    excellent (ดีเยี่ยม)

ระดับ 4                    very good (ดีมาก)

ระดับ 3                    good (ดี)

ระดับ 2                    poor (พอใช้)

ระดับ 1                    to be improved (ควรปรับปรุง)

 

โดยมีเกณฑ์การพิจารณาคุณภาพวารสาร ดังต่อไปนี้

1) ระดับ 5: วารสารวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูล Web of Science, WOS (Science Citation Index

Expanded), MEDLINE, BIOSIS, SciFinder (CA SEARCH)*, Ei Compendex, และ INSPEC หรือ

วารสารที่โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (Royal Golden Jubilee Ph.D Program; RGJ) ยอมรับให้อยู่ในระดับนานาชาติ

2) ระดับ 4: วารสารวิชาการที่ตีพิมพ์ในประเทศ มี Journal Impact Factor เฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี (จากฐานข้อมูล TCI ปี 2552-2554) ไม่ต่ำกว่า 0.100

3) ระดับ 3: วารสารวิชาการที่ตีพิมพ์ในประเทศ มี Journal Impact Factor เฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี (จากฐานข้อมูล TCI ปี 2552-2554) ต่ำกว่า 0.100 แต่ไม่ต่ำกว่า 0.025

4) ระดับ 2: วารสารวิชาการที่ตีพิมพ์ในประเทศ มี Journal Impact Factor เฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี (จากฐานข้อมูล TCI ปี 2552-2554) ต่ำกว่า 0.025 แต่ไม่ต่ำกว่า 0.010

5) ระดับ 1: วารสารวิชาการที่ตีพิมพ์ในประเทศ มี Journal Impact Factor เฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี (จากฐานข้อมูล TCI ปี 2552-2554) ต่ำกว่า 0.010 แต่ไม่เท่ากับ 0

หมายเหตุ * บางรายการของ SciFinder (CA SEARCH) เช่น ที่ตีพิมพ์ในวารสารของสถาบันในประเทศบางแห่ง และวารสารที่ ทราบว่าไม่มีการ review อย่างเคร่งครัด อาจไม่ได้รับการพิจารณา

วารสารที่ผ่านการรับรองคุณภาพจาก TCI สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ตามเว็ปไซต์

https://www.facebook.com/TCI.Thai/

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ข้อความนี้ถูกเขียนใน ทั่วไป คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น