การพัฒนาการเขียนบทความวิชาการเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการ ที่อยู่ในฐานข้อมูล TCI 2

สถาบันอุดมศึกษามีพันธกิจหลักที่สําคัญในด้านการผลิตบัณฑิต การวิจัย การบริการวิชาการแก่สังคม และการทํานุบํารุงศาสนาและศิลปวัฒนธรรม ภายใต้พันธกิจด้านการวิจัย สถาบันอุดมศึกษาควรสนับสนุนและส่งเสริมให้บุคลากรของสถาบันให้มีการดําเนินการวิจัย เพื่อค้นหาองค์ความรู้ใหม่และสามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติงานเพื่อพัฒนาองค์กรในด้านต่างๆ การทำวิจัยและเผยแพร่องค์ความรู้เชิงวิชาการถือเป็นพันธกิจหลักอย่างหนึ่งของอาจารย์ในมหาวิทยาลัย และเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดสำคัญด้านคุณภาพของมหาวิทยาลัย ซึ่งผลที่เกิดจากการศึกษา คิดค้น วิจัยและพัฒนา อย่างถูกต้องและเป็นระบบ จะสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และผลงานวิจัยที่แล้วเสร็จควรนำไปเผยแพร่ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า

เพื่อให้ทราบถึงแนวทางในการพัฒนาการผลิตผลงานวิจัย/ผลงานวิชาการเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูล TCI 2 อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพของอาจารย์และส่งผลต่อคุณภาพของมหาวิทยาลัย คณะบริหารธุรกิจและรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเนชั่น จึงได้จัดทำแผนการจัดการความรู้ (Knowledge Management: KM) ในประเด็นการพัฒนาการผลิตผลงานวิจัย/ผลงานวิชาการเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูล TCI 2 โดยได้จัดให้มีกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อเป็นเวทีในการถ่ายทอดองค์ความรู้จากอาจารย์ที่มีความรู้ ความชำนาญและมีประสบการณ์ในการผลิตผลงานวิจัย/ผลงานวิชาการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูล TCI 2 เพื่อเป็นประโยชน์ต่ออาจารย์ท่านอื่น ที่จะนำความรู้ที่ได้รับจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปใช้เป็นแนวทางในการเตรียมความพร้อมเพื่อให้ได้รับการตอบรับเข้าร่วมการตีพิมพ์/เผยแพร่ผลงานวิจัยต่อไป ซึ่งสามารถสรุปเป็นแนวทางในการพัฒนาการผลิตผลงานวิจัย/ผลงานวิชาการเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูล TCI 2 ดังนี้

ลักษณะของบทความวิชาการ

บทความวิชาการ (Academic article) เป็นงานเขียนวิชาการซึ่งมีการวิเคราะห์ประเด็นตามหลักวิชาการ มีการสำรวจวรรณกรรมและวิเคราะห์อย่างเป็นระบบเพื่อสนับสนุนและสามารถสรุปผลการวิเคราะห์ในประเด็นนั้นได้ มีเนื้อหาเน้นหนักไปในด้านวิชาการ เสนอความคิด วิทยาการใหม่ หรือเป็นการตีความ ค้นคว้าหาข้อเท็จจริงที่แปลกใหม่มาเสนอต่อผู้อ่าน ลักษณะเฉพาะของบทความประเภทนี้ คือ ลีลาการเขียน ภาษา ศัพท์ เป็นไปตามหลักวิชาการ ซึ่งบางครั้งผู้เขียนอาจเสนอแนวคิดใหม่เพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการที่เชื่อถือเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการ (ลลิตา กิตติประสาร, 2554: 469 อ้างถึงใน สัญญา เคณาภูมิ, 2560)

หรืออาจกล่าวได้ว่า บทความวิชาการ หมายถึง งานเขียนทางวิชาการซึ่งมีการกําหนดประเด็นที่ต้องการอธิบายหรือวิเคราะห์อย่างชัดเจน ทั้งนี้มีการวิเคราะห์ประเด็นดังกล่าวตามหลักวิชาการโดยมีการสำรวจวรรณกรรมเพื่อสนับสนุนจนสามารถสรุปวิเคราะห์ในประเด็นนั้นๆ ได้ อาจเป็นการนําความรู้จากแหล่งต่างๆ มาประมวลร้อยเรียงเพื่อวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ โดยที่ผู้เขียนแสดงทัศนะทางวิชาการของตนไว้อย่างชัดเจน (ก.พ.อ.2560)

บทความวิชาการที่พบมากในทางสังคมศาสตร์มักเป็นการประมวล สรุปวิเคราะห์และแสดงทัศนะทางวิชาการของนักวิชาการต่อแนวคิดหรือทฤษฎีทางสังคมศาสตร์

รูปแบบของบทความวิชาการ

ประกอบด้วย การเกริ่นนำที่แสดงเหตุผลหรือที่มาของประเด็นที่ต้องการอธิบายหรือวิเคราะห์ กระบวนการอธิบาย หรือวิเคราะห์ บทสรุป และการอ้างอิงบรรณานุกรมที่ครบถ้วนและสมบูรณ์ บทความทางวิชาการเป็นภาพสะท้อนถึงความตื่นตัวทางวิชาการในการติดตามวิทยาการใหม่ ๆ โดยการจัดระบบความคิดถ่ายทอดออกมาเป็นบทความวิชาการ ก่อให้เกิดการกระจายและพัฒนาองค์ความรู้ในวงการวิชาการและหรือวิชาชีพเป็นประโยชน์ในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ นักวิชาการไม่ว่าจะอยู่ในวงการวิชาการหรือวิชาชีพจึงจำเป็นต้องมีความรู้และความสามารถในการเขียนบทความทางวิชาการ อย่างไรก็ตีบทความวิชาการมักจะมีลักษณะเฉพาะอยู่หลายประการ ได้แก่ (วรางคณา จันทรคง, 2557 อ้างถึงใน สัญญา เคณาภูมิ, 2560)

1. ต้องเป็นเรื่องที่ผู้อ่านส่วนมากกำลังสนใจอยู่ในขณะนั้น อาจเป็นปัญหาที่คนทั่วไปอยากทราบว่าจะดำเนินต่อไปอย่างไร หรือมีผลเช่นไร หรือเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับเหตุการณ์ หรือสถานการณ์หรือเข้ายุคเข้าสมัย

2. ต้องมีสาระแก่นสาร อ่านแล้วได้ความรู้หรือความคิดเพิ่มเติม มิใช่เรื่องเลื่อนลอย เหลวไหลไร้สาระ

3. ต้องมีทัศนะ ข้อคิดเห็น และหรือ ข้อวินิจฉัยของผู้เขียนแทรกอยู่ด้วย

4. มีวิธีการเขียนที่ชวนให้อ่าน ทำให้เพลิดเพลินและชวนคิด

5. เนื้อหาสาระและวิธีเขียนเหมาะแก่ผู้อ่านระดับที่มีการศึกษาทั้งนี้เพราะผู้อ่านที่มีการศึกษาน้อยมักจะไม่อ่านบทความแต่จะอ่านข่าวสดมากกว่า

6. มีการนำเสนอความรู้หรือความคิดที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานทางวิชาการที่เชื่อถือได้ในเรื่องนั้น ๆ โดยมีหลักฐานทางวิชาการอ้างอิง

7. มีการวิเคราะห์ วิจารณ์ ให้ผู้อ่านเห็นประเด็นสำคัญอันเป็นสารประโยชนที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอแก่ผู้อ่านซึ่งอาจจำเป็นต้องใช้ประสบการณ์ส่วนตัวหรือประสบการณ์และผลงานของผู้อื่นมาใช้

8. มีการเรียบเรียงเนื้อหาสาระอย่างเหมาะสมเพื่อช่วยให้ผู้อ่านเกิดความกระจ่างในความรู้ความคิดที่นำเสนอ

9. มีการอ้างอิงทางวิชาการและบอกแหล่งอ้างอิงทางวิชาการอย่างถูกต้องเหมาะสมตามหลักวิชาการและจรรยาบรรณของนักวิชาการ

10. มีการอภิปรายให้แนวคิด แนวทางในการนำความรู้ ความคิดที่นำเสนอไปใช้ให้เป็นประโยชน์หรือมีประเด็นใหม่ ๆ ที่กระตุ้นให้ผู้อ่านเกิดความต้องการสืบเสาะหาความหรือพัฒนาความคิดในประเด็นนั้น ๆ ต่อไป เป็นต้น

ลักษณะของบทความที่มีคุณภาพ (พร้อมภัค บึงบัว และคณะ, 2561)

1. ถูกต้องตามเกณฑ์มาตรฐานทางวิชาการ

2. ได้รับการยอมรับเผยแพร่ นำเสนอหรือตีพิมพ์

3. มีนักวิจัยนำไปใช้อ้างอิงและใช้ประโยชน์

ลักษณะของบทความตามหลัก 7C

1. ความถูกต้อง (Correctness)

2. ความมีเหตุผลมั่นคง (Cogency)

3. ความกระจ่างแจ้ง (Clarity)

4. ความสมบูรณ์(Completeness)

5. ความกะทัดรัด (Concise)

6. ความสม่ำเสมอ (Consistency)

7. ความเชื่อมโยง (Concatenation)

องค์ประกอบของบทความวิชาการ

1. ชื่อเรื่อง

1.1 ใช้ภาษาที่เป็นทางการ ชื่อเรื่องชัดเจนตรงไปตรงมา และครอบคลุมประเด็นของเรื่อง

1.2 ไม่จำเป็นต้องตรงกับชื่องานวิจัย (กรณีส่วนหนึ่งส่วนใดของงานวิจัย)

1.3 ควรมีลักษณะทั้งแบบ Didactic และ Lapidaric

Didactic : มองเห็นความสำคัญของแนวคิดหลักและประโยชน์ที่ได้รับ

Lapidaric : เห็นแก่นขององค์ความรู้

1.4 ประเด็นที่เป็นข้อสงสัย ขัดแย้ง ยังไม่ยุติ

1.5 ประเด็นที่เป็นเรื่องใหม่ ทันต่อยุคสมัย เป็นกระแสความสนใจ

1.6 ประเด็นนวัตกรรม

1.7 ประเด็นที่วารสารต้องการ ตรงกับ Theme

1.8 ประเด็นที่มีคุณค่าทางวิชาการ

โดยสรุป ชื่อเรื่อง ควรตั้งให้เข้ากับประเด็นของเนื้อหาที่เขียน  ไม่ควรยาวเกิน 1-2 บรรทัด

2. บทคัดย่อ/Abstract

2.1 บทคัดย่อในบทความวิชาการ เป็นการสรุปประเด็นเนื้อหาที่เป็นแก่นสำคัญ เน้นประเด็นสำคัญของงานที่ต้องการนำเสนอจริง ๆ

2.2 ควรเขียนให้สั้น กระชับ มีความยาวไม่เกิน 10-15 บรรทัด (หรือตามที่แหล่งตีพิมพ์กำหนด)

2.3 บทคัดย่อมักจะประกอบด้วยเนื้อหา 3 ส่วน คือ เกริ่นนำ สิ่งที่ทำ สรุปผลสำคัญที่ได้ซึ่งอ่านแล้วต้องเห็นภาพรวมทั้งหมดของงาน

2.4 Abstract ต้องตรงตามบทคัดย่อ

          บทคัดย่อเป็นส่วนที่เป็นเสมือนแผนที่ให้เห็นบทความวิชาการได้โดยองค์รวม

3. คำสำคัญ/Keyword

3.1 ควรเลือกคำสำคัญที่เกี่ยวข้องกับบทความ ประมาณ 3-5 คำ

3.2 คำสำคัญในภาษาไทยต้องตรงกับคำสำคัญในภาษาอังกฤษ

3.3 เป็นคำที่มีนัยสำคัญที่ปรากฏในชื่อเรื่อง

3.4 เป็นคำค้นจากดัชนีเอกสารในวารสารและดัชนีประเภทต่าง ๆ      

4. บทนำ/ส่วนนำ

4.1 เป็นส่วนที่ผู้เขียนจูงใจให้ผู้อ่านเกิดความสนใจในเรื่องนั้น

4.2 ใช้ภาษาที่กระตุ้น จูงใจผู้อ่าน

4.3 ยกปัญหาที่กำลังเป็นที่สนใจมาอภิปราย

4.4 ตั้งประเด็นคำถามหรือปัญหาที่ท้าทายความคิดของผู้อ่าน

4.5 กล่าวถึงประโยชน์ที่ผู้อ่านจะได้รับจากการอ่าน

4.6 ผู้เขียนกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการเขียนบทความ หรือให้คำชี้แจงที่มาของการเขียนบทความนั้น

4.7 บอกขอบเขตของบทความเพื่อช่วยให้ผู้อ่านไม่คาดหวังเกินขอบเขตที่กำหนด

4.8 ปูพื้นฐานที่จำเป็นในการอ่านเรื่องนั้นให้แก่ผู้อ่าน

4.9 หลักการและเหตุผล (rationale) หรือความเป็นมาหรือภูมิหลัง (Background) หรือความสำคัญของเรื่องที่เขียน เพื่อให้ผู้อ่านได้ทราบเป็นพื้นฐานไว้ก่อนว่าเรื่องที่เลือกมาเขียนมีความสำคัญหรือมีความเป็นมาอย่างไร เหตุผลใด ผู้เขียนจึงเลือกเรื่องดังกล่าวขึ้นมาเขียน

4.10 วัตถุประสงค์ เป็นการเขียนว่าในการเขียนบทความในครั้งนี้ต้องการให้ผู้อ่านได้ทราบเรื่องอะไรบ้าง จำนวนวัตถุประสงค์แต่ละข้อไม่ควรมีมากเกินไปและวัตถุประสงค์แต่ละหัวข้อจะต้องสอดคล้องกับเรื่องหรือเนื้อหาของบทความ

4.11 ขอบเขตของเรื่อง (ถ้ามี) ผู้เขียนต้องการจะบอกกล่าวให้ผู้อ่านทราบและเข้าใจตรงกันเพื่อเป็นกรอบในการอ่าน อาจขึ้นอยู่กับปัจจัยในการเขียน ได้แก่ ความยาวของงานที่เขียน หากมีความยาวไม่มากก็ควรกำหนดขอบเขตการเขียนให้แคบลง ไม่เช่นนั้นผู้เขียนจะไม่สามารถนำเสนอเรื่องได้ครบถ้วนสมบูรณ์ และระยะเวลาที่ต้องรวบรวมข้อมูลอาจชี้แจงการกำหนดเรื่องที่จะเขียนที่ลึกซึ้ง สลับซับช้อน หรือเป็นเรื่องเชิงเทคนิคอาจจะยกต่อการรวบรวมข้อมูลและเรียบเรียงเนื้อเรื่อง

4.12 คำจำกัดความหรือนิยามต่าง ๆ (ถ้ามี) คำจำกัดความที่ผู้เขียนเห็นว่าควรระบุไว้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านในกรณีที่คำเหล่านั้น ผู้เขียนใช้ในความหมายที่แตกต่างจากความหมายทั่วไปหรือเป็นคำที่ผู้อ่านอาจจะไม่เข้าใจความหมายถึงเป็นการทำความเข้าใจและการสื่อความหมายให้ผู้เขียนบทความและผู้อ่านบทความเข้าใจตรงกัน รวมทั้งเป็นการขยายความหมายให้สามารถตรวจสอบหรือสังเกตได้

          โดยสรุป บทนำเป็นเสมือนประตูหน้าบ้านของบทความที่ทำให้ผู้อ่านรู้ข้อมูลเบื้องต้นของบทความ เป็นการปูพื้นก่อนที่จะเข้าไปสู่เนื้อหาถัดไป ควรเขียนไม่เกิน 1 -2 หน้า

5. เนื้อหาสาระ

มักจะมีประมาณ 2-3 หัวข้อย่อย ประมาณ 8-10 หน้าโดยเริ่มจากบทนำไปจนถึงบทสรุป โดยผู้เขียนจะต้องแสดงให้เห็นความเชื่อมโยงของเหตุที่นำไปสู่ผล (causal relationship) การอ้างอิงข้อมูลต่าง ๆ การลำดับความ การบรรยาย วิธีการอ้างอิง สถิติและข้อมูลต่าง ๆ ที่ใช้ในการประกอบเรื่องที่เขียน เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจและประทับใจมากที่สุด

5.1 การจัดลำดับเนื้อหาสาระ

5.1.1 การจัดลำดับเนื้อหาสาระ

5.1.2 วางแผนจัดโครงสร้างของเนื้อหาสาระที่จะนำเสนอ

5.1.3 จัดลำดับเนื้อหาสาระให้เหมาะสม

5.1.4 การนำเสนอเนื้อหาสาระควรมีความต่อเนื่องกันเพื่อช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจสาระนั้นได้โดยง่าย

5.2 สไตล์การเขียน

ผู้เขียนแต่ละคนย่อมมีสไตล์การเขียนของตนซึ่งจะเป็นเอกลักษณ์ สิ่งที่ควรคำนึง คือ ผู้เขียนจะต้องเขียนอธิบายเรื่องนั้น ๆ ให้ผู้อ่านเกิดความกระจ่างมากที่สุด ใช้เทคนิคต่าง ๆ ที่จำเป็น เช่น การจัดลำดับหัวข้อ การยกตัวอย่างที่เหมาะสม การใช้ภาษาที่กระชับชัดเจน เหมาะสมกับผู้อ่าน เป็นต้น

5.3 การวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์

ควรนำเสนอความคิดเห็นของผู้เขียนด้วยการวิเคราะห์วิจารณ์ข้อมูล เนื้อหาสาระ เป็นการริเริ่มสร้างสรรค์ของผู้เขียน การวิเคราะห์วิจารณ์อาจนำเสนอพร้อมกับการนำเสนอเนื้อหาสาระตามความเหมาะสมกับลักษณะเนื้อหาของเรื่อง

5.4 การใช้ภาษา

ต้องใช้คำในภาษาไทย ใส่คำภาษาต่างประเทศไว้ในวงเล็บ เขียนคำให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของราชบัณฑิตสถาน สะกดคำให้ถูกต้องตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ควรตรวจทานงานไม่ให้ผิดพลาด เพราะจะเป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการต่อไป

5.5 วิธีการนำเสนอ

นำเสนอเนื้อหาสาระให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายและรวดเร็ว ใช้เทคนิคต่าง ๆ ช่วยนำเสนอ เช่น การใช้ภาพ แผนภูมิ ตาราง แผนสถิติ เป็นต้น ควรนำเสนอสื่อต่าง ๆ อย่างเหมาะสมและถูกต้องตามหลักวิชาการ เช่น การเขียนซื่อตาราง การให้หัวข้อต่าง ๆ ในตาราง เป็นต้น

6. บทสรุป

บทความทางวิชาการที่ดีควรมีการสรุปประเด็นสำคัญ ๆ ของบทความนั้น ๆ รายละเอียด ดังนี้

6.1 การย่อ คือ การเลือกเก็บประเด็นสำคัญ ๆ ของบทความนั้น ๆ มาเขียนรวมกันไว้อย่างสั้น ๆ ท้ายบท

6.2 การบอกผลลัพธ์ว่าสิ่งที่กล่าวมามีความสำคัญอย่างไร

6.3 การบอกแนวทางการนำไปใช้ของสิ่งที่กล่าวมาว่าสามารถนำไปใช้อะไรได้บ้าง หรือจะทำให้เกิดอะไรต่อไป

6.4 การตั้งคำถามหรือให้ประเด็นทิ้งท้ายกระตุ้นให้ผู้อ่านไปสืบเสาะแสวงหาความรู้ หรือคิดค้นพัฒนาเรื่องนั้นต่อไป

7. รายการอ้างอิง

7.1 ผู้วิจัยต้องอ่านเอกสารที่ตนจะใช้เป็นเอกสารอ้างอิงก่อนเสมอ

7.2 ไม่ควรอ้างอิงแหล่งข้อมูลทุติยภูมิ เช่น เว็บไซต์ หนังสือ ตำรา เป็นต้น ควรอ้างอิงจากเอกสารที่เป็นนิพนธ์ต้นฉบับ

7.3 ควรอ้างอิงเอกสารเท่าที่จำเป็นอย่างเหมาะสม ไม่ควรอ้างอิงเอกสารที่มากเกินไปจนพร่ำเพรื่อ

7.4 ไม่ควรนำบทคัดย่อมาเป็นเอกสารอ้างอิง

7.5 การอ้างอิงที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์แต่ได้ตอบรับการตีพิมพ์ควรระบุไว้ว่าเป็น “in press” หรือ “forthcoming”

7.6 การอ้างอิงเอกสารที่ไม่ได้รับการตีพิมพ์แต่ได้ส่งเพื่อพิจารณาตีพิมพ์หรือการอ้างอิงข้อมูลที่ไม่เคยส่งตีพิมพ์ ควรระบุว่าเป็น “unpublished data” หรือ “unpublished observations”และควรได้รับคำยินยอมจากเจ้าของเป็นลายลักษณ์อักษร

7.7 เมื่อทำการทวนความ (paraphrase) หรือย่อความ (summarize) มาจากบทความอื่นไม่ว่าจะเป็นบทความของตนเองหรือบทความของผู้อื่น นักวิจัยควรที่จะอ้างอิงเอกสารต้นฉบับนั้นไว้ด้วย

7.8 ไม่ควรใช้บทความที่ถูกถอดถอนออกไปแล้วมาเป็นเอกสารอ้างอิง

7.9 ต้องตรวจสอบความถูกต้องของรายการเอกสารอ้างอิง ทั้งในแง่ของรูปแบบและเนื้อหา

การเรียบเรียงต้นฉบับบทความ

การเขียนบทความนั้นไม่ใช่การเขียนเสร็จในร่างเดียว โดยทั่วไปอาจต้องเขียนอย่างต่ำ 4 ร่างก่อนที่จะส่งไปตีพิมพ์ได้ ดังนี้ (ปรับปรุงจาก Perry et al. 2003: 662 อ้างถึงใน Kotze, 2007)

– ร่างที่ 1 – ให้วางโครงเรื่อง แล้วเขียนโดยไม่ต้องกังวลมากนักกับระบบการอ้างอิง หรือ ภาษา สิ่งสําคัญคือ เริ่มวางเค้าโครงการเขียนและลงมือเขียน

– ร่างที่ 2 – ปรับปรุงบทความที่เขียนไว้ ตรวจดูว่าการเรียงลําดับของหัวข้อต่างๆ ในการนําเสนอเหมาะสมหรือไม่ บทความมีความเชื่อมโยง มีตรรกะเหตุผลต่อกันหรือไม่ อาจต้องมีการสลับทีของหัวข้อ และเขียนเชื่อมโยงแต่ละส่วน หรืออาจต้องเพิ่มการเขียนเกริ่นนําในแต่ละส่วนเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงกันตลอดทั้งบทความ

– ร่างที่ 3 – ปรับปรุงอีกครั้ง อาจทิ้งบทความไว ้2-3 วัน แล้วนํามาอ่านใหม่ อาจปรับบทความให้สั้นลง จนได้บทความที่พอใจ

– ร่างที่ 4 – ปรับปรุงด้านเทคนิคของบทความทั้งหมด เช่น ระบบการอ้างอิง การตั้งชื่อหัวข้อ การใส่  เลขหัวข้อ ตาราง รูปภาพ ให้ถูกต้องเป็นระบบเดียวกันทั้งหมด ตรวจสอบการอ้างอิงในเนื้อหาและรายการเอกสารอ้างอิงท้ายบทความว่าครบถ้วน ไม่ขาด ไม่เกิน และถูกต้องทั้งหมด ควรหาเพื่อนร่วมงานให้ช่วยอ่านตรวจทานให้ก่อนส่งบรรณาธิการ

การเขียนบทความวิชาการ ควรเลือกเขียนในประเด็นที่ผู้เขียนมีความรู้้และความถนัดมากที่สุด รวมทั้งมีความสนใจศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม ทั้งนี หากเคยมีประสบการณ์ในการวิจัยในประเด็นนั้นๆ มาแล้ว ก็จะทําให้สามารถเขียนบทความวิชาการได้ดีขึ้น ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจจะเขียนบทความวิชาการ ควรอ่านบทความวิชาการที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่ได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้ก้าวทันความรู้ทางวิชาการ

สาเหตุที่บทความถูกปฏิเสธการตีพิมพ์ในวารสาร

– บทความไม่สอดคล้องกับนโยบายและขอบเขตของวารสาร

– รูปแบบการเขียนบทความไม่ตรงกับรูปแบบที่วารสารกําหนด

– การเขียนบกพร่อง ผิดพลาดมาก

– ขนาดความยาว สั้นหรือ ยาวเกินไป

– ขาดความทันสมัย

– ตาราง รูปภาพ ไม่สื่อความหมาย ข้อมูลในตารางและคําอธิบายไม่สอดคล้องกัน

– ไม่สามารถชี้ให้เห็นถึงความสําคัญของประเด็นปัญหาของการวิจัย

– ผู้เขียนไม่ยอมแก้บทความตามข้อเสนอแนะของผู้ทรงคุณวุฒิหรือบรรณาธิการ

จะเห็นได้ว่าสาเหตุในการปฏิเสธบทความที่กล่าวมาข้างต้น มาจากการที่ผู้เขียนไม่มีข้อมูลเพียงพอเกี่ยวกับวารสารที่จะส่งบทความไปตีพิมพ์ (เช่น ไม่เข้าใจถึงนโยบายและขอบเขตของวารสาร ไม่ได้ศึกษารูปแบบของบทความ) และปัญหาในการเขียนและเรียบเรียง ซึ่งอาจมาจากความไม่ใส่ใจในรายละเอียด ซึ่งทําให้บรรณาธิการอาจตั้งคําถามต่องานวิจัย รวมทั้งอาจเกรงว่าผู้เขียนจะมีปัญหาในการการปรับปรุงบทความให้ดี ขี้น ภายหลังจากได้รับคําแนะนําจากบรรณาธิการหรือผู้ทรงคุณวุฒิ นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นที่บทความอาจถูก ปฏิเสธการตีพิมพ์ แม้ว่าจะเป็นบทความที่มีคุณภาพดีในระดับหนึ่ง เช่น วารสารมีบทความที่มีคุณภาพดีกว่า(เนื่องจากผู้เขียนเลือกวารสารที่มีคุณภาพและอันดับสูงเกินไป) หรือวารสารอาจเพิ่งตีพิมพ์บทความในประเด็นเดียวกันหรือใกล้เคียงกันไปไม่นาน จึงไม่ตีพิมพ์ซ้ำอีก

เอกสารอ้างอิง

พร้อมภัค บึงบัว และคณะ. (2561). การเขียนบทความวิชาการและการเขียนบทความการวิจัย.

เอกสารประกอบการบรรยาย. ค้นเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2562, จาก http://www.nidtep.go.th/2017/publish/doc/20180515.pdf

สัญญา เคณาภูมิ. (2560). แนวทางการเขียนบทความวิชาการ. วารสารมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์, 34 (1) มกราคม – เมษายน 2560: 1-31.

ข้อความนี้ถูกเขียนใน ทั่วไป คั่นหน้า ลิงก์ถาวร