องค์ความรู้ “การพัฒนาศักยภาพด้านการวิจัย”


ผลจากการร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับอาจารย์และนักวิจัยจากคณะวิชาต่างๆ ในโครงการจัดการความรู้ เรื่อง “หลักการเขียนโครงการวิจัยเพื่อชุมชน ท้องถิ่น เพื่อการรับทุนสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอก” วันที่ 25 มกราคม 2556 เวลา 9.00-12.00 น. และ โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การเขียนผลงานวิชาการขั้นต้น” วันที่ 22 มีนาคม 2556 เวลา 13.00-17.00 น. lสามารถสรุปเป็นองค์ความรู้ที่ได้ ดังนี้

สรุปองค์ความรู้ที่ได้รับ
1. อาจารย์ขาดความรู้ความเข้าใจในการเขียนโครงร่างการวิจัย (Research Proposal) ที่ดี โดยเฉพาะการเขียนโครงร่างการวิจัยเพื่อขอรับทุนสนับสนุนจากภายนอกให้ได้รับการพิจารณาอนุมัติ การแก้ปัญหาโดยการจัดกิจกรรมในการให้ความรู้แก่นักวิจัยรุ่นใหม่เพื่อทราบขั้นตอน และรายละเอียดของเนื้อหาต่างๆ ที่ต้องเขียนไว้ในโครงร่างการวิจัยที่ถูกต้อง ครบถ้วน เพื่อให้ได้ข้อเสนอโครงการวิจัยที่ดี และมีโอกาสสูงในการได้รับการพิจารณาอนุมัติทุนสนับสนุน
2. หน่วยงานกลางที่รับผิดชอบงานด้านวิจัยขาดการทำงานในเชิงรุก รวมถึงขาดผู้นำ/ผู้เชี่ยวชาญ ที่จะสามารถสนับสนุนและผลักดันในเชิงนโยบาย เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ของงานวิจัยที่เป็นรูปธรรมได้มากขึ้น การแก้ปัญหาโดยคณะกรรมการส่งเสริมสนับสนุนคณะวิชาด้านการพัฒนางานวิจัย ซึ่งมีผู้แทนจากคณะต่างๆ ต้องทำงานในเชิงรุกมากยิ่งขึ้น และจัดทำแผนงานด้านการทำวิจัยของแต่ละคณะวิชาที่ชัดเจนในแต่ละปีการศึกษา
3. การเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยเพื่อชุมชน ท้องถิ่น ซึ่งเป็นงานวิจัยที่อาจารย์และนักวิจัยหลายท่านมีประสบการณ์สูง มีผลงานวิจัยที่ทำร่วมกับทีมงานวิจัยของทั้งองค์กรภาครัฐและชุมชนในจังหวัดลำปางและใกล้เคียงเป็นจำนวนมาก จึงควรให้นักวิจัยอาวุโสเหล่านี้เป็นพี่เลี้ยงให้นักวิจัยรุ่นใหม่
4. ผลงานวิจัยของอาจารย์หลายท่าน ภายหลังเสร็จสิ้นโครงการ ขาดการต่อยอดของโครงการในการนำผลงานไปเขียนเป็นบทความวิจัยเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ การแก้ปัญหาโดยจัดให้มีการอบรมเพื่อให้ความรู้แก่อาจารย์ในการเขียนบทความวิชาการ/บทความวิจัย รวมถึงกำหนดนโยบายจากส่วนกลางในการสร้างแรงจูงในการเขียนผลงานทางวิชาการ/บทความวิจัยเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่
5. การทำโครงการวิจัยเพื่อชุมชน ท้องถิ่น ต้องใช้เวลาเพื่อลงพื้นที่ชุมชนในช่วงเวลาทำการค่อนข้างมาก แต่เนื่องจากอาจารย์หลายท่านมีภาระงานสอนที่มาก ทำให้ไม่มีเวลาในการทำงานวิจัย หรือทำได้แต่ไม่ต่อเนื่อง ส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพของงานวิจัย และการทำงานวิจัยให้สำเร็จตามกำหนดเวลา การแก้ปัญหาโดยคณะวิชาจัดภาระงานสอนที่เหมาะสม และสอดคล้องกับแผนงานด้านการทำวิจัยของแต่ละคณะวิชา

อาจารย์ ดร.อติชาต หาญชาญชัย
ผู้วิเคราะห์ และสรุปองค์ความรู้

ข้อความนี้ถูกเขียนใน ทั่วไป คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น