จุดมุ่งหมายของการวิจัยในชั้นเรียน เรื่องนี้
1) เพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาสัมมนาสาธารณสุข ซึ่งเป็นหมวดวิชาเฉพาะ
2) เพื่อศึกษาผลการเรียนรู้ของนักศึกษาสาธารณสุขศาสตร์โดยวิธีการจัดการเรียนการสอนแบบนำทางในรายวิชาสัมมนาสาธารณสุข
3) เพื่อประเมินพฤติกรรมการเรียนรู้ด้านสมรรถนะการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์และกระบวนการเรียนรู้จากการทำงานเป็นทีม
กลุ่มเป้าหมายที่ดำเนินการ
นักศึกษาสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์สุขภาพ ชั้นปีที่ 3 จำนวน 28 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่
1.แผนการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาสัมมนาสาธารณสุข
2.คู่มือการเรียนวิชาสัมมนาสาธารณสุข
3.แบบทดสอบความรู้กลางภาคและปลายภาค ปีการศึกษา 2555
4.เอกสารรายงานโครงการสัมมนาและเอกสารสรุปผลการดำเนินการสัมมนา
ผลการศึกษาพบว่า
1. ผลการจัดการเรียนการสอนแบบนำทางที่มุ่งเน้นการพัฒนานักศึกษาสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ชั้นปีที่ 3 ให้มีสมรรถนะการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ พบว่า นักศึกษามีผลสัมฤทธิ์ของการเรียน โดยผ่านเกณฑ์สอบวัดความรู้ในรายวิชาสัมมนาสาธารณสุขตลอดภาคการศึกษาที่ 2 ปีการศึกษา 2555 อยู่ในระดับดีมาก-มาก คิดเป็น ร้อยละ 64.28 ระดับปานกลาง คิดเป็น ร้อยละ 35.72 มีระดับคะแนน = A จากช่วงคะแนน 80-100 จำนวน 18 คน คิดเป็นร้อยละ 64.28 ระดับคะแนน = B+ จากช่วงคะแนน 75-90 จำนวน 3 คน คิดเป็นร้อยละ 10.71 ระดับคะแนน = B จากช่วงคะแนน 70-74 จำนวน 5 คน คิดเป็นร้อยละ 17.85 และ ระดับคะแนน = C+ จากช่วงคะแนน 65-69 จำนวน 2คน คิดเป็นร้อยละ 7.14 ตามลำดับ
2. นักศึกษาเกิดกระบวนการเรียนรู้จากการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มอยู่ในระดับมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 54.16 รองลงมา ระดับมาก คิดเป็นร้อยละ 25.00 ระดับปลานกลาง คิดเป็นร้อยละ 20.84 โดยนักศึกษาสามารถเลือกประเด็นสุขภาพที่สนใจศึกษาเป็นกรณีศึกษา และ ศึกษาในสถานการณ์จริงที่ปรากฏในชุมชน ทำการแสวงหาความรู้ทางด้านวิชาการด้วยตนเองโดยใช้ทักษะสัมพันธภาพในการแสวงหาแหล่งเรียนรู้ภายนอกห้องเรียน นำความรู้ที่สมาชิกแต่คนในกลุ่มแสวงหามาทำการแลกเปลี่ยนกัน สามารถวิพากษ์หรือแสดงความเห็นอย่างสร้างสรรค์โดยใช้องค์ความรู้ทางด้านทฤษฏีและหลักการทางวิชาการทางด้านสาธารณสุขเป็นพื้นฐาน ตลอดจนการบูรณาองค์ความรู้จากหมวดวิชาการศึกษาทั่วไปและหมวดวิชาเลือกที่นักศึกษาได้เรียนมานับตั้งแต่การเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยในปีการศึกษาแรกๆจนถึงปัจจุบันมาประยุกต์ใช้ โดยนักศึกษาขอรับการปรึกษาจากอาจารย์ผู้สอนเป็นระยะๆ ภายใต้เงื่อนไขเวลาที่กำหนด และ สะท้อนความคิดเห็นของกลุ่มเมื่อสิ้นสุดกระบวนการทำงานเป็นกลุ่มสำเร็จตามเงื่อนไขที่อาจารย์ผู้สอนกำหนดไว้ และนักศึกษาได้แสดงความคิดเห็นถึงผลการเรียนรู้จากการทำงานร่วมกันเป็นทีม ในประเด็นของการฝึกฝนทักษะให้นักศึกษาทำงานเป็นทีมรับผิดชอบในบทบาทหน้าที่ และความร่วมมือที่มีต่อกัน สอดคล้องตามกรอบแนวคิดเรื่องสมรรถนะ(competencies) ของ McClelland (1999) ที่ระบุว่า “สมรรถนะ” เป็นความสามารถในงานหรือเป็นคุณลักษณะที่อยู่ภายในบุคคลของแต่ละคนที่จะนำไปสู่การปฏิบัติงานให้เกิดประสิทธิภาพ เป็นบุคลิกลักษณะที่ซ่อนอยู่ภายในปัจเจกบุคคล ซึ่งสามารถผลักดันให้ปัจเจกบุคคลนั้นสร้างผลการปฏิบัติงานที่ดีหรือตามเกณฑ์ที่กำหนดในงานที่ตนรับผิดชอบ และเป็นคุณลักษณะที่จำเป็นของบุคคลซึ่งมีความสัมพันธ์กับประสิทธิผลของงานและเป็นคุณลักษณะในส่วนลึกเฉพาะของบุคคล ซึ่งก่อให้เกิดพฤติกรรมที่สามารถทำนายผลลัพธ์ที่ดีเลิศ (Superior Performance) ในงานได้