นักศึกษาสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ได้เล็งเห็นความสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพ เพื่อสร้างเสริมและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพให้เป็นไปอย่างเหมาะสม เป็นการส่งเริมพฤติกรรมสุขภาพของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ให้ได้มีความรู้ ความเข้าใจ ในการปฏิบัติตนเอง ให้มีความตระหนัก ในด้านการรับประทานอาหาร จนกระทั่งการออกกำลังกาย ของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควบคู่ไปกับการจัดปัจจัยแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ อันจะส่งผลให้ตัวบุคคลมีสุขภาพและชีวิตที่ดี
โครงการลดระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อน ได้ทำการให้ความรู้ สร้างความตระหนัก เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพและส่งเสริมการลดระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อน ในชุมชนบ้านกล้วยม่วง ตำบลกล้วยแพะ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อน หลังจากที่ได้มีการลงพื้นที่ภาคสนาม สัมภาษณ์ ศึกษาและวิเคราะห์กลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน ทางคณะผู้จัดทำได้ดำเนินกิจกรรมโครงการบริการวิชาการแก่สังคม ด้านการส่งเสริมสุขภาพ เพื่อให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อนได้มีความรู้ ความตระหนัก มีพฤติกรรมในการควบคุมระดับน้ำตาลที่ถูกต้อง และมีสุขภาพที่ดี
การดำเนินการครั้งนี้เป็นการบริการวิชาการแก่สังคม โดยใช้กิจกรรมโครงการจากความรู้ รายวิชาการส่งเสริมสุขภาพในชุมชน (PUBH 220) มาประยุกต์ใช้ในการส่งเสริมสุขภาพ ตลอดจนนำการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมมาประยุกต์ใช้ในการส่งเสริมสุขภาพในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ภาวะสุขภาพบุคคล ชุมชน สังคมและประเทศชาติ
ภาพรวมและรูปแบบโครงการ
1. จุดประสงค์การจัดโครงการมีความชัดเจน อยู่ในระดับดี 20 ท่าน คิดเป็นร้อยละ 58.8
2. รูปแบบโครงการมีความเหมาะสม อยู่ในระดับดี 24 ท่าน คิดเป็นร้อยละ 70.6
3. ผู้เข้าร่วมโครงการมีความรู้ในเรื่องโรคเบาหวานและโรคเทรกซ้อนเพิ่มขึ้นพฤติกรรมที่เหมาะสมในการปฏิบัติตัวอยู่ในระดับดี 15 ท่านคิดเป็นร้อยละ 44.1
4. ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีความตระหนักและเห็นความสำคัญในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด อยู่ในระดับดี 18 ท่าน คิดเป็นร้อยละ 52.9
5. หลังเสร็จสิ้นกิจกรรมผู้เข้าร่วมโครงการสามารถนำเอาความรู้ไปใช้ในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพได้ อยู่ในระดับดี 20 คิดเป็นร้อยละ 58.8
6. สามารถบูรณาการโครงการเข้ากับการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนะธรรมได้ อยู่ในระดับดี 25 ท่าน คิดเป็นร้อยละ 73.5 ภาพรวมของรูปแบบโครงการ อยู่ในระดับดี ร้อยละ 59.80
ปัญหาที่พบในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อน
1. การควบคุมการรับประทาอาหารประเภทแป้ง เช่น ข้าวเหนียวเพราะผู้ป่วยต้องทำงาน หารายได้ในครอบครัวจึงเลือกรับประทานข้าวเหนียวมากกว่าข้าวสวยเพราะข้าวเหนียวรับประทานแล้วอิ่มมากกว่าทำให้มีแรงในการทำงานมากกว่า และพฤติกรรมการเลือกรับประทานอาหารที่มีรส หวาน มัน เค็ม เพราะความเคยชินในการรับประทานอาหาร ทำให้บางทีอาจจะลืมตัวไปบ้างว่าตัวเองเป็นโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง และไม่ค่อยใส่ใจกับอาหารที่ควรรับประทานและไม่ควรรับประทาน
2. การปรับยาเอง ส่วนใหญ่จะรับประทานยาที่ได้รับมาแล้วพอรับประทานเข้าไปมีอาการใจสั่น เวียนศีรษะ และวันทั้งวันจะทำงานไม่ได้เลยจึงปรับยากินเอง และอีกกรณีหนึ่งคือมารับการรักษาตามที่แพทย์ได้นัดพอตรวจดูว่าความดันและผลของน้ำตาลในเลือดเป็นปกติก็จะปรับยาเองแล้วก็หยุดยาเอง และรับประทานยาไม่ตรงตามแพทย์สั่ง จากการที่ได้ดูบันทึกการจ่ายยาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านกล้วยม่วงได้ให้ยากับผู้ป่วยว่าผู้ป่วยกินยาอะไรบ้างเอามาเทียบกับข้อมูลที่เราได้มาจากการสำรวจพบว่าผู้ป่วยรับประทานยาไม่ตรงตามที่แพทย์สั่ง
3. ทัศนคติและความเชื่อที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้ชีวิต ด้วยเหตุผลที่ว่าผู้ป่วยยึดถือว่ารับประทานอาหารตามท้องถิ่น เป็นคนภาคเหนือต้องรับประทานข้าวเหนียว เพราะข้าวเหนียวทำให้รับประทานแล้วอิ่มนาน ทำให้การทำงานหารายได้ของผู้ป่วยจะไม่ค่อยมีปัญหาโดยไม่ได้คำนึงถึงว่าเป็นผู้ป่วยโรคเบาหวานต้องรับประทานในปริมาณเท่าใด และความเชื่อในเรื่องของการรับประทานยา พอมีผู้ป่วยด้วยกันบอกว่ารับประทานยานี้ดี ก็จะไปรับประทานตาม ๆ กันโดยลืมรับประทานยาที่ได้รับตามที่แพทย์สั่งก็เป็นความเชื่อที่ผิดและทำให้ระดับน้ำตาลไม่คงที่
4. ผู้ป่วยมีความเข้าใจในเรื่องการรับประทานอาหารบางชนิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เพราะเป็นความเข้าใจและรับข้อมูลมาแบบผิด ๆ
การบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ
1. นักศึกษาสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ สามารถนำองค์ความรู้ในรายวิชา PUBH 220 การส่งเสริมสุขภาพในชุมชนไปบูรณาการการบริการวิชาการแก่ชุมชนร่วมกับกิจกรรมพัฒนานักศึกษา และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมมาใช้ในการจัดกิจกรรมให้เหมาะสมตามวัย เช่นการออกกำลังกายที่เหมาะกับผู้สูงอายุ โดยการรำวงย้อนยุค
2. ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านกล้วยม่วงมีความรู้และตระหนักเห็นความสำคัญของการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดซึ่งส่งผลต่อภาวะแทรกซ้อนในโรคเบาหวาน
โครงการบริการวิชาการสังคม
กิจกรรมควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อน สามารถบูรณาการเข้ากับการเรียนการสอนและการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมอย่างไร
โครงการปัจจัยที่มีผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านกล้วยม่วง ตำบลกล้วยแพะ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง คณะวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเนชั่น ลำปาง กิจกรรมควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อน สามารถบูรณาการกับการเรียนการสอนได้ในกระบวนวิชา PUBH 220 การส่งเสริมสุขภาพในชุมชนผ่านกิจกรรม ลดภาวะระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อนรวมถึงการบูรณาการการบริการวิชาการแก่ชุมชนร่วมกับกิจกรรมการพัฒนานักศึกษาและการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม ด้วยการรำวงย้อนยุค โดยเป็นกิจกรรมนันทนาการเข้าจังหวะเพื่อเสริมสร้างสุขภาพของผู้ป่วยเบาหวาน ทั้ง 4 มิติ คือ
ด้านร่างกาย ได้แก่ การเสริมสร้างความแข็งแรงของระบบกล้ามเนื้อในร่างกาย และการเคลื่อนไหว หรือกายบริหาร
ด้านจิตใจ ได้แก่ ทำให้สภาพทางจิตใจผ่อนคลาย มีสุขภาพจิตที่ดีไม่เครียดหรือกังวลกับโรคที่กำลังเป็นอยู่
ด้านสังคม ได้มีการรวมกลุ่มกิจกรรมในชุมชน มีมิตรไมตรีที่ดีต่อกัน
ด้านจิตวิญญาณหรือสติปัญญา ผู้สูงอายุได้แนวทางในการปฏิบัติในการออกกำลังกายหรือกิจกรรมนันทนาการ ในการเสริมสร้างภาวะสุขภาพ
ซึ่งการรำวงย้อนยุคนี้จะเป็นการออกกำลังกายโดยง่าย เหมาะสมกับวัยและยังเป็นที่ชื่นชอบสร้างความสนุกสนานเรียกรอยยิ้มสร้างความสุขสำหรับผู้สูงอายุที่ได้มีการพบปะทำกิจกรรมร่วมกันเป็นการสร้างมิติทางสุขภาพได้อย่างสมบูรณ์