คนเปลี่ยน สื่อปรับ

การเปลี่ยน

การเปลี่ยน

อย่างน้อย 2 ทศวรรษก่อน คือช่วงเปลี่ยนผ่านของวงการสื่อสารมวลชน อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสารก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ กวาดเก็บนักสื่อสารมวลชนรุ่นหลังหรือกลางเก่ากลางใหม่หลายคนตกไปจากเวทีประวัติศาสตร์ ในขณะเดียวกันคนในยุคที่พูดจาภาษาดิจิทัลไม่ว่าเก่าหรือใหม่ ก็ยังหันรีหันขวางกับเส้นทางก้าวเดินจากนี้ นี่นับเป็นความท้าทายที่เดิมพันสูงอย่างยิ่ง

วันนี้ไม่มีใครพูดถึงบทเรียนการเผชิญหน้ากับเทคโนโลยีภาพและเสียง ที่สื่อดั้งเดิมเคยก้าวผ่านมาแล้วในอดีตอีก

คำปลอบประโลมใจของบางคนที่ว่า เมื่อเทคโนโลยีภาพและเสียง เข้ามามีบทบาทในสังคมไทย เมื่อราว 66 ปีที่ผ่านมา โดยการแพร่ภาพออกอากาศ ของสถานีไทยโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม จากนั้นก็มีการเติบโตขยายตัวของสื่อแพร่ภาพและกระจายเสียงในสังกัดกรมประชาสัมพันธ์ กองทัพบก จำนวนหนึ่ง ถึงกระนั้นสื่อหนังสือพิมพ์ ซึ่งเป็นสื่อดั้งเดิมก็ยังคงอยู่ได้ ไม่มีใครละทิ้งสื่อที่พวกเขาคุ้นเคย และหันไปพึ่งพาสื่อภาพและเสียงที่ดูมีชีวิต ชีวา จับต้องได้ แต่วันนี้บริบททางสังคมพลิกฟ้า คว้าดาว การมาถึงของสื่อใหม่ๆ ประดุจคลื่นยักษ์ที่ถาโถมเข้ามาอย่างไม่ทันรู้ตัว

ในห้วง 2 ทศวรรษก่อน สื่อได้ก้าวเข้าสู่ความเป็นอุตสาหกรรม (Media industry) คือมีการลงทุนขนาดใหญ่ มีการผลิตสินค้าจำนวนมาก (mass production) โดยเฉพาะสื่อหนังสือพิมพ์ การลงทุนในเครื่องจักร เครื่องพิมพ์ด้วยมูลค่ามหาศาล กลายเป็นปรากฏการณ์ร่วมของกิจการสื่อ ผลตอบแทนที่ได้คือสินค้ามีราคาถูกขึ้น มีคุณภาพเช่นตำแหน่งในการพิมพ์สี ความคมชัดในระบบการพิมพ์ ที่ทำให้สามารถรองรับพื้นที่โฆษณา ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญความอยู่รอดของหนังสือพิมพ์มากขึ้น แต่เมื่อคลื่นของสื่อใหม่โหมกระหน่ำ ผู้บริโภคข่าวสารหันไปเสพข่าวผ่านสื่อออนไลน์ การรับรู้ข้อมูลข่าวสารใหม่ๆ ไหลบ่ามาจากสื่อสังคมออนไลน์ สื่อหนังสือพิมพ์ที่ยังค้นหาจุดสมดุลของตัวเองไม่ได้ ก็อยู่ในภาวะชะงักงัน

การส่งหนังสือพิมพ์เข้าห้องทดลอง ด้วยการแปลงสารที่เงียบงัน ให้สามารถส่งเสียงร้องออกมาได้ ก็ยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน

คลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงนี้ ยังส่งผลมาถึงสถาบันการศึกษา ที่มีการเรียนการสอนด้านวารสารศาสตร์ นิเทศศาสตร์ด้วย เรียกได้ว่าจนถึงนาทีนี้ ไม่ปรากฏเอกสาร ตำราทางด้านวารสารศาสตร์ นิเทศศาสตร์ แม้แต่เล่มเดียวที่สะท้อนภาพความเป็นจริงในโลกการสื่อสารได้ทั้งหมด แม้กระทั่งความกังวล สงสัย เมื่อยุคแรกๆ ที่เทคโนโลยี เริ่มคืบคลานเข้ามาสู่สังคมไทย เช่น ความเป็นห่วงปรากฏการณ์ที่สื่อสิ่งพิมพ์ พยายามหาทางออกด้วยการข้ามสื่อไปยังสื่ออื่นๆ เพื่อกระจายความเสี่ยง และแสวงหาช่องทางใหม่ในการทำกำไร ว่าจะเป็นการครอบงำผู้รับสารหรือไม่ จะส่งผลให้เกิดการผูกขาดธุรกิจสื่อในมือของกลุ่มทุน กลุ่มหนึ่ง กลุ่มใดหรือไม่ วันนี้ไม่มีใครต้องการคำตอบนี้อีก

เมื่อปี 1995 งานวิทยานิพนธ์ Cross Media ownership ที่ศึกษาเรื่อง ปรากฏการณ์ข้ามสื่อของผม เป็นเรื่องที่ผู้คนให้ความสนใจอย่างมาก เนื่องเพราะเป็นงานที่คู่ขนานไปกับความเคลื่อนไหวของสื่อในยุคดังกล่าว ที่เริ่มกระจายธุรกิจไปสู่สื่อออนไลน์ รวมทั้งสื่อกระจายเสียงและภาพ ผลการศึกษาในตอนนั้นพบว่าการเป็นเจ้าของข้ามสื่อไม่มีนัยสำคัญต่อความคิด ความเชื่อ ทัศนคติของผู้คนเลย แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับต่อมาก็ยังเขียนเป็นกติกาไว้

ถึงวันนี้ Cross Media ownership ไม่ได้เป็นประเด็นอีกต่อไป แต่ประเด็นสำคัญกลับไปอยู่ที่ผู้ใช้แรงงานในอุตสาหกรรมสื่อ เพราะพวกเขาก็ยังต้องผลิตข้อมูล ข่าวสารในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก เมื่อช่องทางสารมีมากขึ้น ความต้องการคนงานที่มีทักษะในการทำงานสื่อหลายช่องทาง (Multi – skills reporting) ก็เกิดขึ้นเป็นเงาตามตัว การสื่อสารหลายช่องทาง กลายเป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่นักข่าวในยุคคอนเวอร์เจนซ์ต้องมี และนั่นหมายถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับนักนิเทศศาสตร์รุ่นใหม่ ที่จำนวนไม่น้อยยังเรียนอยู่ภายใต้โครงสร้างหลักสูตรเดิม

วันศุกร์นี้ ตั้งแต่เวลา 08.30 น. เป็นต้นไป กลุ่มวารสารศาสตร์เพื่ออนาคต กลุ่มที่เกิดจากการรวมตัวกันของนักวิชาการ วิชาชีพด้านนิเทศศาสตร์ที่มองเห็นปรากฏการณ์นี้ร่วมกัน จะจัดประชุมใหญ่ ภายใต้หัวข้อ “คนเปลี่ยน สื่อปรับ รุก-รับ อย่างไร” เพื่อแสวงหาแนวทางที่จะเป็นหลักไมล์ของสื่อในวันพรุ่งนี้ ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตรังสิต

ไปค้นหาคำตอบด้วยกัน

โดย : จักร์กฤษ เพิ่มพูล กรุงเทพธุรกิจ
http://bit.ly/15hQHwp

เรื่องนี้ถูกเขียนใน คณะนิเทศศาสตร์, งานประชาสัมพันธ์ รับนักศึกษา และติดป้ายกำกับ คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น