วัยรุ่นพันธุ์ใหม่ในยุคดิจิทัล

สื่อใหม่และสื่อออนไลน์มีลักษณะคล้ายสื่อมวลชนที่สามารถกระจายข่าวสาร
ไปยังผู้รับสารจำนวนมากพร้อมๆ กันภายในเวลาอันรวดเร็ว

…ภาพหลุดหญิงสาววัย 16 ปี ถูกแพร่ภาพขณะเสพยาไอซ์ผ่านสื่ออินเทอร์เน็ต และกลายเป็นข่าวครึกโครมในสื่อออนไลน์ เนื่องจากเธอกำลังเป็นดาราดาวรุ่งที่มาแรงจากซีรีส์ Hormones วัยว้าวุ่น ซึ่งมียอดผู้ชมผ่านสื่อออนไลน์มากกว่า 6 ล้านครั้ง ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา…” (ข้อมูล ณ วันที่ 28 ก.ค.2556)

อัญญาวีร์ อุนสวัสดิ์อาภา

อัญญาวีร์ อุนสวัสดิ์อาภา

ภายหลังจากภาพที่ภาพดังกล่าวปรากฏและถูกวิพากษ์วิจารณ์จากผู้คนในสื่อออนไลน์เพียงไม่กี่วัน คุณพ่อของดาราสาวจึงได้ตัดสินใจแถลงข่าวสั้นๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวว่า “หลังจากมีกระแสภาพหลุดออกมา ผมได้เข้าไปสอบถามพูดคุยกับน้อง น้องก็สารภาพว่าเคยทดลองเสพครั้งหนึ่ง ซึ่งน้องเองก็เสียใจ ผมและครอบครัวต้องขอโทษสังคมในสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์และขาดประสบการณ์ของเด็กอายุ 16 ปี” ในขณะที่ผู้บริหาร GTH และผู้กำกับได้ออกมาแถลงข่าวเพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว พร้อมทั้งยืนยันว่าจะไม่ตัดฉากดาราวัยรุ่นออกจากซีรีส์ Hormones แต่จะดำเนินการพักงานเธอชั่วคราวตามคำขอของคุณพ่อและวอนสังคมให้โอกาส ท้ายที่สุดแล้วผลตรวจของเธอยืนยันไม่พบสารเสพติด บทสรุปเรื่องราวของเธอจึงมีสถานะเป็นเพียงผู้ป่วยที่เคยเสพยาแต่ไม่ใช่จำเลยของสังคม

วัยรุ่นหลายคนที่ติดตามข่าวนี้อาจไม่ได้รู้จักเธอเป็นการส่วนตัว หรือไม่เคยติดตามผลงานของนักแสดงวัยรุ่นผู้นี้มาก่อน แต่ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารในยุคดิจิทัลทำให้สามารถสืบค้นข่าวหรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งการสืบค้นผ่านระบบเครือข่ายในอินเทอร์เน็ตและสื่อใหม่ (New Media) ทำให้การค้นหาข้อมูลสะดวก ง่ายดาย และไม่ยุ่งยากซับซ้อน ดังนั้น วัยรุ่นในยุคดิจิทัลจึงมีคุณลักษณะร่วมกันหรือที่เรียกว่า “ผู้รับสารแบบกระตือรือร้น” หรือ “ผู้แสวงหาข่าวสาร” (Active audience) ดังจะเห็นได้จากการค้นหาข้อมูลข่าวสารต่างๆ ในเว็บไซต์ www.google.co.th หรือ การติดตามผลงานผ่านเว็บไซต์ www.Youtube.com

การเกิดขึ้นของสื่อใหม่ (New Media) และสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) นอกจากจะเปลี่ยนวัยรุ่นพันธุ์ใหม่จากคุณลักษณะผู้รับสารแบบไม่มีทางเลือก (Passive Audience) กลายมาเป็นผู้แสวงหาข่าวสาร (Active Audience) และวัยรุ่นซึ่งเป็นผู้รับสารในยุคปัจจุบันยังสามารถเป็นผู้ส่งสารได้ในขณะเดียวกัน เนื่องจากสื่อใหม่ในยุคดิจิทัลได้เอื้อให้เกิดการสร้างปฏิสัมพันธ์โต้ตอบแบบทันทีทันใด (Interactive) ดังจะเห็นได้จากข้อความที่ผู้รับสารวัยรุ่นสะท้อนทัศนคติและความคิดเห็นต่อเหตุการณ์ภาพหลุดของดาราวัยรุ่นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) เช่น “ถ้าไม่ได้เป็นดารา จะดังขนาดนี้หรือเปล่า คนเรามันผิดพลาดกันได้ วัยนี้เป็นวัยที่อยากรู้อยากลอง หรือว่าพวกคุณๆ ไม่เคยผ่านช่วงชีวิตนี่” หรือ “เพื่อนเลวชวนให้ลองทำอะไรเลวๆ โทษของยาเสพติดเป็นยังไงใครก็รู้ อย่าว่าเลย อยากลองแค่ครั้งเดียวว่ามันเป็นยังไงของแบบนี้ใครจะอยากลอง นอกจากเพื่อนตัวดียุว่าครั้งเดียวน่าลองดู แล้วผิดที่น้องไปเชื่อด้วย” ซึ่งการแสดงความคิดเห็นดังกล่าวมีทั้งเห็นใจและไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมดังกล่าว

บทเรียนสำคัญที่สุดของนักแสดงวัยรุ่นและต้องจดจำไปนาน นอกจากสุภาษิตสอนใจที่ว่า “การคบคนพาลพาลพาไปหาผิด” นั่นก็คือ “พลังอำนาจของสื่อใหม่ (New Media) และสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media)” ที่สามารถทำให้เธอ “โด่งดัง” จากสื่อออนไลน์ที่เผยแพร่ละครซีรีส์ Hormones วัยว้าวุ่นในระยะเวลาไม่นาน แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้เธอ “เสียชื่อเสียง” จากสื่อออนไลน์ในระยะเวลาที่ไม่นานเช่นกัน เนื่องจากสื่อใหม่และสื่อออนไลน์มีลักษณะคล้ายสื่อมวลชนที่สามารถกระจายข่าวสารไปยังผู้รับสารจำนวนมากพร้อมๆ กันภายในเวลาอันรวดเร็ว และสิ่งที่น่าสนใจก็คือ ผู้ส่งสารไม่จำเป็นต้องเป็นผู้สื่อสารระดับมืออาชีพที่มีอำนาจและสิทธิในการส่งสารแบบนักสื่อสารมวลชน หากแต่ว่าวัยรุ่นธรรมดา หรือผู้รับสารทั่วไปก็สามารถสื่อสารกับคนเป็นจำนวนมากได้ในระยะเวลาที่รวดเร็วโดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่าย หรือต้องเปิดเผยตัวตนต่อสาธารณชน ดังเช่น กรณีภาพหลุดของดาราวัยรุ่นเสพยาหรือคลิปหลุดจำนวนมากในโลกออนไลน์ที่ไม่ปรากฏชื่อหรือตัวตนของผู้ส่งสารต่อสาธารณชน

คุณลักษณะของสื่อใหม่ (New Media) และสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ดังกล่าว ต่อมาได้ถูกพัฒนาเป็นกลยุทธ์ในการสื่อสารทางการตลาดที่เรียกว่า “ไวรัลมาร์เก็ตติ้ง” (Viral Marketing) โดยบุคคลหรือองค์กรที่ต้องการทำให้คนจำนวนมากสนใจบริการหรือสินค้าในระยะเวลาที่รวดเร็ว จะแชร์ข้อมูลแบบปากต่อปากผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ฯลฯ เพื่อหวังผลให้เกิดกระแสแบบ “ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์” ในเวลาไม่นาน ซึ่งรูปแบบไวรัลมาร์เก็ตติ้งหากประสบความสำเร็จ ก็จะเป็นกระแสที่ช่วยขับให้ความนิยมชมชอบในตัวสินค้าหรือการพูดถึงแบรนด์นั้นพุ่งอย่างรวดเร็ว แต่หากไวรัลคลิปที่พยายามสร้างโจทย์ขึ้นมาเรียกกระแส เป็นต้นว่า “จัดฉาก” แล้วมา “เฉลย” หรือ มีการแต่ไปมาเล่นแรงแบบไม่โดนใจสังคมโซเชียลเน็ตเวิร์ค ผลคือ กลายเป็นระเบิดพลีชีพ ที่ทำลายสินค้าหรือแบรนด์ตัวเอง

ก็หวังแต่เพียงว่าดาราวัยรุ่นวัย 16 ปี ที่เป็นข่าวดังในครั้งนี้จะไม่กลายเป็น “สินค้า” หรือ “เหยื่อ” ของการตลาดแบบ “ไวรัลมาร์เก็ตติ้ง” ที่ต้องการสร้างกระแสในขณะนี้

โดย : อัญญาวีร์ อุนสวัสดิ์อาภา กรุงเทพธุรกิจ
http://bit.ly/13W41rU

เรื่องนี้ถูกเขียนใน คณะนิเทศศาสตร์, งานประชาสัมพันธ์ รับนักศึกษา และติดป้ายกำกับ , , คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น