Infographic ทางรอดสื่อสิ่งพิมพ์

infographic

infographic

อินโฟกราฟฟิก (Infographic) หรือ อินฟอร์เมชั่น กราฟฟิก (Information-Graphics)
เป็นคำเรียกเทคนิคการออกแบบกราฟฟิกประเภทหนึ่ง

ชินกฤต อุดมลาภไพศาล

ชินกฤต อุดมลาภไพศาล

เป็นที่รู้จักมักคุ้นในยุคของสื่อโซเชียลมีเดียในปัจจุบัน ที่ข้อมูลอินโฟกราฟฟิกปรากฏอยู่มากมาย แต่ในความเป็นจริงแล้วอินโฟกราฟฟิกมีจุดเริ่มมากว่า 150 ปี และถูกนำมาใช้ในงานหนังสือพิมพ์ ตั้งแต่ช่วงปี 1970 อย่างหนังสือพิมพ์ซันเดย์ไทม์ อินโฟกราฟฟิกถูกใช้เพื่อทำให้ข้อมูลมีความง่ายต่อการตีความโดยผู้อ่าน การนำมาประยุกต์ใช้ในเรื่องราวของข่าว สื่อสิ่งพิมพ์ การสร้างความน่าสนใจ ดึงดูดผู้อ่านจึงเป็นไปในลักษณะของการใช้ข้อความ ภาพถ่าย และภาพกราฟฟิก ไอคอน กลยุทธ์การใช้สีและแบบอักษร ผ่านระบบแนวคิดแบบ Meastro

Meastro เป็นระบบที่ถูกออกแบบเพื่อพัฒนาการนำเสนอเรื่องราว ผ่านการทำงานร่วมกันทีมงานฝ่ายต่างๆ ระดมความคิด ระดมสมองในกลุ่ม การกำหนดขอบเขตเรื่องราวที่จะนำเสนอร่วมกันก่อนที่จะเริ่มงานเขียน ผสานกับศิลปะและการออกแบบ การใช้ภาพถ่าย ภาพกราฟฟิกบริหารจัดการเรื่องราวที่นำเสนอให้ประสบความสำเร็จ แนวคิดแบบ Meastro ไม่ใช่วิธีการนำเสนอที่จะนำมาใช้กับเรื่องราวใดก็ตามตลอดเวลา การออกแบบในแนวคิดแบบ Meastro เป็นการพัฒนาเทคนิคการนำเสนอเรื่องที่มีความสำคัญในรูปแบบอินโฟกราฟฟิกผ่านการทำงานเป็นทีม ทำให้เรื่องราวมีชีวิตชีวา สร้างความดึงดูดต่อผู้อ่านและสร้างยอดการอ่านให้สูงขึ้น

วิธีการแบบ Meastro เหมาะอย่างยิ่งกับสังคมบริโภคสื่อในยุคปัจจุบันยุคสมัยที่เรียกว่า “บิ๊กดาต้า (Big Data)” ปริมาณข่าวสาร ข้อมูลที่ถูกผลิตขึ้นในแต่ละวันมีปริมาณมากมายมหาศาล ปริมาณข่าวสารแปรผกผันกับเวลาของผู้อ่านในฐานะผู้บริโภคสื่อที่น้อยลง ผู้อ่านที่ต้องการข้อมูลที่ครบครับในระยะเวลาที่จำกัด อินโฟกราฟฟิกจึงเป็นวิธีการอันหนึ่งที่นำเข้ามาใช้ การสร้างการนำเสนอที่ครบรอบด้านสร้างการใช้พื้นที่บนหน้าสิ่งพิมพ์อย่างมีประสิทธิภาพการออกแบบที่มองในมุมคนอ่าน “Think like a reader” คำถามที่น่าจะเกิดขึ้นระหว่างการอ่าน และการตอบคำถามอย่างรวดเร็วผ่านการอ่านข้อมูลจากภาพ หัวเรื่อง แคปชั่นใต้ภาพ กล่องข้อความ อินโฟกราฟฟิกอื่นๆ ที่จะตอบคำถามของผู้อ่านได้ทันที

จากการสำรวจสื่อไทยและเทศ ในประเด็นอินโฟกราฟฟิกโดยเฉพาะสื่อหนังสือพิมพ์ หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่อย่าง นิวยอร์กไทม์ วอลล์ สตรีท เจอนัล พบว่ามีการใช้อินโฟกราฟฟิกเพื่อการนำเสนอในงานข่าว ประเด็นข่าวสำคัญที่อยู่ในความสนใจของคนอ่านรอบด้านทั้งต่างประเทศ การเมือง กีฬา วิทยาศาสตร์ ธุรกิจ การเงิน สื่อมีความเข้าใจเลือกใช้อินโฟกราฟฟิกเพื่อการนำเสนอได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่เมื่อหันกลับมามองสื่อสิ่งพิมพ์ไทย การนำเอาอินโฟกราฟฟิกมาใช้ ปรากฏอยู่บ้างประปรายในกลุ่มหนังสือพิมพ์หัวสี หรือหนังสือพิมพ์แนวประชานิยม และหนังสือพิมพ์ที่เน้นคุณภาพ ลักษณะของอินโฟกราฟฟิกที่นำมาใช้ส่วนใหญ่ จะอยู่ในรูปของตาราง กราฟ ไอคอน แผนภาพ ซึ่งเป็นอินโฟกราฟฟิกพื้นฐาน เน้นหนักในทางนำเสนอข้อมูลเชิงสถิติ แผนภาพเพื่องแสดงโครงสร้าง หรือแผนที่แสดงจุดเกิดของเหตุการณ์แต่ไม่รอบด้านในแง่ของการนำไปใช้เหมือนสื่อเทศ รวมถึงการออกแบบอินโฟกราฟฟิกที่ยังต้องพัฒนา ยังไม่ได้นำเสนอเรื่องราวในลักษณะบิ๊กไอเดีย ส่วนใหญ่เป็นการมองเรื่องราว แล้วนำเสนอเฉพาะจุดที่ต้องการให้คนอ่านรู้ส่วนสื่อนิตยสารไทยก็มีการใช้อินโฟกราฟฟิกแบบเดียวกันกับหนังสือพิมพ์ เว้นแต่นิตยสารที่เป็นการซื้อลิขสิทธิ์ต่างประเทศมาตีพิมพ์

และโดยภาพรวมเมื่อเทียบเคียงการใช้อินโฟกราฟฟิกในหนังสือพิมพ์ นิตยสารต่างประเทศ สิ่งที่แตกต่างและเป็นแก่นสำคัญของอินโฟกราฟฟิก คือสิ่งที่เรียกว่า ดาต้า วิชวลไลซ์เซชั่น (Data Visualization) กระบวนการแปลงข้อมูลที่สลับซับซ้อนให้เข้าใจง่ายยังต้องพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการนำเสนอข้อมูลเรื่องเดียวกัน แต่มีองค์ประกอบปลีกย่อยที่เชื่อมโยงกัน รวมถึงการอธิบายความสัมพันธ์ของชุดข้อมูลในเรื่องราวข่าวที่นำเสนอ ข้อมูลอาจจะเปรียบดังกุญแจสำคัญ แต่การเล่าออกมาเป็นภาพ (Visual Story) สำคัญยิ่งกว่า มากกว่า 90% ของข้อมูลถ่ายทอดสู่สมองผ่านการมองเห็น และอินโฟกราฟฟิกมีบทบาทสำคัญในสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ สื่อปฏิสัมพันธ์ตลอดจนสื่อโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะ 2 ปีที่ผ่านมา ความต้องการและการค้นหาข้อมูลอินโฟกราฟฟิกในเว็บไม่ต่ำกว่า 8 เท่าจากเดิม

อินโฟกราฟฟิก คงไม่ใช่อัศวินรัตติกาลที่จะเข้ามากอบกู้ยอดผู้อ่านสื่อสิงพิมพ์ ในสภาพการณ์ของสื่อปัจจุบันที่การหลอมรวมสื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงแก่ภูมิทัศน์ของสื่อ อย่างน้อยอินโฟกราฟฟิกก็ช่วยพยุงลมหายใจที่รวยระรินให้กับสื่อสิ่งพิมพ์ ที่สู้รบตบมือ โดนแย่งพื้นที่จากสื่อใหม่ในสัดส่วนที่มากขึ้นเรื่อยๆ สังเกตได้จากพฤติกรรมการบริโภคข่าวสาร จากข้อมูลสถิติปี 2013 คนเปลี่ยนมาติดตามข่าวบ่อยขึ้น มากกว่า 70% ของคนที่เช็คข่าวมากกว่าหนึ่งครั้งต่อวันเป็นการเช็คข่าวสารผ่านสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต มีเพียง 18% เท่านั้นที่ติดตามข่าวสารทางสื่อดั้งเดิมอย่างหนังสือพิมพ์ และ 80% ของคนที่อ่านหนังสือพิมพ์ ใช้เวลาอยู่กับการอ่านน้อยกว่า 30 นาทีต่อวัน

การเสนอทางเลือกแก่ผู้อ่านที่เป็นคนรุ่นใหม่ อย่างนิตยสาร หนังสือพิมพ์ออนไลน์ ทั้งแบบบอกรับสมาชิก และเปิดให้อ่านฟรีผ่านเว็บไซต์ หรือแอปมือถือแม้แต่การนำเอาเทคโนโลยีอย่าง iSnap มาใช้เชื่อมโลกสื่อดั้งเดิมกับสื่อใหม่เข้าด้วยกัน ยังคงต้องรอบทพิสูจน์ต่อไป นี่คงเป็นการดิ้นปรับเพื่ออยู่รอดเฮือกสุดท้ายของสื่อสิ่งพิมพ์ อินโฟกราฟฟิกเป็นเทคนิควิธีหนึ่งในการนำเสนอ ท้ายสุดแล้ว สื่อที่มีคอนเทนต์ดี เทคนิคการนำเสนอที่ (โดนส์) ดึงดูดใจผู้บริโภค สื่อจึงจะเป็นสื่อที่อยู่รอด

โดย : ชินกฤต อุดมลาภไพศาล กรุงเทพธุรกิจ
http://bit.ly/12IN9Bv

เรื่องนี้ถูกเขียนใน คณะนิเทศศาสตร์, งานประชาสัมพันธ์ รับนักศึกษา และติดป้ายกำกับ , , คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น