บ่องตง สื่อสารพันธุ์ใหม่

ปรมาจารย์ด้านนิเทศศาสตร์ หากได้ยินถ้อยคำที่คนยุคใหม่ใช้สื่อสารกัน ผ่านโลกออนไลน์ คงบ่องตง รับไม่ได้

ดร.จิรันดา กฤษเจริญ

ดร.จิรันดา กฤษเจริญ

เนื่องเพราะภาษาที่ผิดแบบทั้งการเขียนและไวยากรณ์ แต่หากพิจารณานิยามของนักวิชาการบางคน เช่น วิลเบอร์ แชรมม์ (Wilbur Schramm) ซึ่งมักถูกอ้างอิงในตำราพื้นฐานด้านนิเทศศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นถ้อยคำ หรือสัญลักษณ์ใดๆ ทั้งการพูด การเขียน การแสดงภาษาท่าทาง ล้วนเป็นการสื่อสารในความหมายเชิงวิชาการทั้งสิ้น

วิลเบอร์ แชรมม์ อธิบายว่า การสื่อสาร คือการมีความเข้าใจร่วมกันในสัญลักษณ์ที่แสดงข่าวสาร แปลว่า จะทำอย่างไร ด้วยวิธีใด ถ้าเข้าใจ จบป่ะ

แน่นอนว่าภาษาแปลก ๆ เหล่านี้ มีต้นกระแสธารมาจากอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นพัฒนาการมาจากยุคที่ศัพท์บัญญัติใหม่ๆ มาจากสิ่งพิมพ์ เช่น วัยโจ๋

เมื่อพูดถึงอินเทอร์เน็ต เราจะนึกถึงช่องทางการสื่อสารที่ทันสมัย รวดเร็ว ซึ่งเป็นช่องทาง การสื่อสารที่คนไทย โดยเฉพาะวัยรุ่น ใช้อย่างกว้างขวางมากในปัจจุบัน อินเทอร์เน็ตเป็นแหล่งที่ มาที่สำคัญของข้อมูลข่าวสารจำนวนมาก ทั้งข้อมูลข่าวสารที่เป็นสาธารณะ ไปจนถึงข่าวสารที่เป็น เรื่องส่วนตัว การสื่อสารบนอินเทอร์เน็ตที่นิยมใช้กันมากมีทั้งที่เป็นภาษาเขียน ภาษาพูด และ ภาพถ่าย

ภาษาที่เราใช้การพูดคุย ที่เราเห็นกันอยู่ในอินเทอร์เน็ตนั้น มีทั้งภาษา ที่เราใช้กันอยู่ทั่วๆ ไปในชีวิต ประจำวันของเรา และภาษาที่หากไม่ใช่คนใช้อินเทอร์เน็ตเป็นประจำ ก็อาจจะไม่เข้าใจ หรือ หากไม่ใช่วัยรุ่นก็จะไม่เข้าใจ ภาษานี้เราอาจเรียกได้ว่าเป็น “ศัพท์เฉพาะ” ที่นำมาใช้เป็น เครื่องมือสื่อสารในอินเทอร์เน็ต เช่น เงิบ ฟิน บ่องตง กาก เกรียน ฯลฯ

ศัพท์เฉพาะใน อินเทอร์เน็ตมีที่มาที่หลากหลาย มีทั้งศัพท์ที่เป็นคำเดิม แต่นำมาขยาย ขอบเขตของการใช้ เช่น คำว่า “กาก” ซึ่งตามความหมายเดิมนั้นเป็นคำนาม หมายถึง สิ่งที่เหลือ เมื่อคั้นเอาสิ่งที่ดีออกแล้ว มาใช้เป็นคำวิเศษณ์ ที่เมื่อเติมคำว่า “กาก” ต่อท้ายคำใดก็ตาม หมายถึง สิ่งนั้นไม่ดี หรือไม่มีคุณภาพ เช่น นิสัยกากๆ หมายถึง นิสัยไม่ดี รถกากๆ รถไม่ดีไม่มีคุณภาพ

นอกจากการขยายขอบเขตของการใช้คำศัพท์แล้ว ภาษาในอินเทอร์เน็ต ยังมีการนำคำบางคำมาเพิ่มเติมความหมาย เพื่อให้เกิดความสะดวกในการสื่อสาร เช่น “เกรียน” หมายถึง สั้น เกือบติดหนังหัว มาเพิ่มเติมความหมายว่า หมายถึง การปราศจากเหตุผล ไม่รับฟังเหตุผล ทำตัว ไม่เป็นผู้ใหญ่ งี่เง่า กรณีของคำว่า “เกรียน” ในความหมายที่สองนี้ เป็นการเชื่อมโยงเอาทรงผม ของเด็กนักเรียนชาย มาเชื่อมโยงกับนิสัยของเด็กผู้ชายที่อยู่ในวัยเรียน กล่าวคือ เด็กผู้ชาย ในวัยเรียน ที่ส่วนมากจะทำตัวไม่มีเหตุผล มักจะไว้ทรงสั้นเกรียน การด่าว่า “เกรียน” จึงเป็นการด่าว่า นิสัยไม่ดี ทำตัวไม่มีเหตุผล เหมือนเด็กผู้ชายที่ไว้ผมเกรียน

ศัพท์เฉพาะในอินเทอร์เน็ตบางคำ เป็นคำที่สร้างขึ้นมาใหม่ และใส่ความหมายลงไปใน คำนั้น เช่น “เงิบ” หมายถึง อาการหมดสภาพ หมดเรี่ยวแรง งุนงง การสื่อสารความหมายของศัพท์ เฉพาะที่สร้างขึ้นมาใหม่เหล่านี้ โดยมากจะใช้วิธีการแบบ “นำมาใช้จนทำให้เกิด ความเข้าใจกัน ได้เอง” กล่าวคือ ไม่มีการบัญญัติความหมายอย่างเป็นทางการ ไม่มีการออกมาระบุความหมาย หรือคำจำกัดความให้ชัดเจน แต่คนในโลกอินเทอร์เน็ตจะเข้าใจตรงกันว่า “เงิบ” หมายถึงอะไร

คำศัพท์บางคำในโลกอินเทอร์เน็ต เกิดจากความผิดพลาดในการพิมพ์ เพราะการสื่อสาร ในอินเทอร์เน็ตส่วนมากจะใช้การพิมพ์ เช่น “เมพ” ที่เริ่มใช้อย่างแพร่หลายในกลุ่มผู้เล่นเกม online คำว่า “เมพ” มีที่มา จากความผิดพลาดในการ พิมพ์คำว่า “เทพ” กล่าวคือ บนแป้นพิมพ์ ตัว “ท” อยู่ใกล้กับตัว “ม” เมื่อต้องการความเร็ว ในการพิมพ์จึงไม่ได้มองแป้นพิมพ์ในขณะที่พิมพ์ และ ไม่มีอ่านทวนก่อนส่งสาร จึงกดส่งไปเป็นคำ ว่า “เมพ” แทนที่จะเป็นคำว่า “เทพ” ความ หมายของคำว่า “เมพ” นั้น หมายถึง สุดยอด สุดขีด ส่วนมากแล้ว ใช้สื่อสารความหมายในแง่บวก เช่น “เก่งเมพ” หมายถึง เก่งมาก เก่งสุดยอด ศัพท์เฉพาะในอินเทอร์เน็ตที่มาจากความผิดพลาดในการพิมพ์นี้ ค่อนข้างมีมาก ไม่ว่าจะเป็นคำว่า “เบย” (มาจากคำว่า “เลย”) หรือ “ขิง” (มาจากคำว่า “จิง” ซึ่งเพี้ยนมาจากคำว่า “จริง” อีกทอด “หนึ่ง”) ก็เกิดจากความผิดพลาดในขั้นตอนการพิมพ์ทั้งนั้น

คำศัพท์เฉพาะในอินเทอร์เน็ตนั้น มีหน้าที่เหมือนคำศัพท์เฉพาะทั่วๆ ไปที่เราใช้ในโลกจริง กล่าวคือ เป็นคำศัพท์ที่ใช้เพื่อสื่อสารความหมายถึงแนวคิดบางอย่าง หรือเพื่ออธิบายอะไรสักอย่าง ที่หากใช้ศัพท์เฉพาะแล้วจะสามารถลดทอนเวลาในการสื่อสารได้ หรือสื่อสารได้ง่ายขึ้น และทำให้เกิดความเข้าใจได้ง่ายขึ้นระหว่างคนพูดและคนฟัง เช่น หากต้องการสื่อสารว่า “จะเอาเรื่องเอาราวใครสักคนอย่างรุนแรง” ก็อาจจะพูดว่า “เดี๋ยวจะเล่นให้เงิบเลย” พูดเพียง เท่านี้ ก็สามารถสื่อสารความหมายได้อย่างตรงไปตรงมา และมีอรรถรส

ในงานสื่อสารมวลชนเองก็จะเห็นได้ว่าเริ่มมีการนำคำศัพท์เหล่านี้มาใช้ ซึ่งทำให้เกิดความสนุกสนาน และถูกใจ ผู้รับสารโดยเฉพาะผู้รับสารที่เป็นวัยรุ่น ทว่าผู้ใหญ่ส่วนมากจะกังวลว่าศัพท์เหล่านี้จะทำให้ภาษาวิบัติ ยิ่งเมื่อถูกนำเสนอผ่านสื่อมวลชนแล้วก็ยิ่งกังวลใจว่าภาษาจะวิบัติกันไปใหญ่

ในงานสื่อสารมวลชน การสื่อสารด้วยคำศัพท์เฉพาะเหล่านี้อาจช่วยเพิ่มอรรถรสในการสื่อสารก็จริงอยู่ หากนำมาใช้เป็นบทพูดในละครก็น่าจะพออนุโลมได้แต่หากนำมาใช้โดยพิธีกร รายการใดรายการหนึ่งที่น่าจะใช้รูปแบบการสนทนาแบบเป็นทางการก็เป็นสิ่งที่ควรระมัดระวัง สิ่งที่น่ากังวลใจไม่ใช่เรื่องความวิบัติของภาษา แต่น่าจะเป็นเรื่องของการใช้ภาษาให้ถูกต้องเหมาะสมกับกาลเทศะ ไม่ว่าจะเป็นภาษาในโลกอินเทอร์เน็ต หรือ ภาษาในสื่อมวลชนก็ตาม

กระนั้น ก็อย่าไปวิพากษ์ศัพท์ที่เขาใช้และสื่อสารกันได้

บ่องตง มีเรื่องอีกมากมาย ที่ผู้ใหญ่ต้องทำมากกว่าใส่ใจเรื่องไร้สาระเหล่านี้

โดย : ดร.จิรันดา กฤษเจริญ กรุงเทพธุรกิจ
http://bit.ly/14tGvpf

เรื่องนี้ถูกเขียนใน คณะนิเทศศาสตร์, งานประชาสัมพันธ์ รับนักศึกษา และติดป้ายกำกับ , , คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น