ภาพประกอบจาก http://www.thaiall.com/cgi/gallery.pl?cat=ReadBook&file=readbook0048t.jpg
ติดตามข้อมูลข่าวสารเชิงพัฒนาในต่างประเทศ
ประทับใจแนวคิดเชิงนวัตกรรมมากมายที่ปรากฏในสื่อ
บางแนวคิดก็ได้แต่มอง บ้างก็ไม่เห็นด้วย
บ้างก็อยากนำมาใช้ เช่น การทำให้ห้องสมุดเป็นบ้านหลังที่สาม หากตีความว่าการใช้เวลาในชีวิตอยู่ที่ใดมาก ก็จะเรียกว่าบ้าน ดังนั้น นอกจากบ้านที่ใช้หลับนอนจะเป็นบ้านหลังแรก คงปฏิเสธไม่ได้ว่าบ้านหลังที่สองคือโรงเรียน เพราะตั้งแต่ประถมถึงมหาวิทยาลัย เราใช้ชีวิตไปมากกว่า 16 ปีตั้งแต่เริ่มจำความได้
ตามที่ปรากฏในสื่อของสิงคโปร์ และมีการนำมาแบ่งปันในไทย มีพาดหัวว่า The library : Your third home พบว่า สถิติการเข้าห้องสมุดจำนวน 21 ห้องสมุดในปี 2544 มีผู้เข้าไปใช้ถึง 28 ล้านครั้ง ในปี 2546 มีผู้เข้าใช้ 31.2 ล้านครั้ง ปี 2554 มีผู้เข้าใช้ 37.5 ล้านครั้งในเครือข่าย 25 ห้องสมุด ซึ่งพบว่ามีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้จำนวนประชากรจะมีเพียง 5 ล้านคน และกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรเป็นสมาชิกห้องสมุดโดยการดูแลของคณะกรรมการห้องสมุดแห่งชาติ (NLB = National Library Board) ที่สนับสนุนโดยภาครัฐอย่างจริงจัง
แม้จำนวนการเข้าใช้บริการ และยืมหนังสือจะเพิ่มขึ้น แต่ด้วยเทคโนโลยี RFID (Radio Frequency Identification) และเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้ห้องสมุดไม่จำเป็นต้องเพิ่มเจ้าหน้าที่ห้องสมุดตามจำนวนการใช้งาน ด้วยการให้บริการที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ปัจจุบันจะพบการเข้าแถวรอรับบริการมีน้อยมากด้วยระบบการจัดการห้องสมุด (EliMS = Electronic Library Management System) ที่จะช่วยตอบคำถามตามความต้องการของผู้ใช้บริการ ทำให้จำนวนผู้เข้าแถวรอรับบริการที่เคาน์เตอร์ลดลง เวลาส่วนใหญ่ก็จะใช้ไปกับการจัดหนังสือเข้าชั้น ห้องสมุดมีจุดคืนหนังสืออัตโนมัติ 24 ชั่วโมง และไม่ต้องกลับไปคืนหนังสือที่ห้องสมุดเดิม แต่สามารถคืนที่ใดก็ได้ที่เป็นจุดรับคืนหนังสือ และที่ตั้งห้องสมุดก็จะไปอยู่ในสถานที่ต่างๆ ที่สะดวกในการใช้บริการทั่วประเทศ การปรับปรุง และออกแบบให้ห้องสมุดเป็นสถานที่น่าเข้าไปใช้บริการก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ห้องสมุดมีผู้เข้าไปใช้บริการเป็นจำนวนมาก
มองย้อนกลับมาที่ประเทศไทย พบว่า สถิติการอ่านของคนไทยอยู่ในระดับต่ำ สืบเนื่องจากการไม่รักการอ่านหนังสือ หรือหนังสือที่มีอยู่ไม่น่าอ่าน หรือสถานที่อ่านหนังสือไม่น่าเข้าไปใช้บริการ ก็ล้วนรวมกันแล้วส่งผลให้ร้านหนังสือจำนวนไม่น้อยพบวิกฤติทางเศรษฐกิจ และปิดตัวเองไป สำนักพิมพ์ที่จัดทำหนังสือหรือนิตยสารก็ต้องแข่งขันกันสูง เป็นผลให้ปัจจุบันแผงจำหน่ายนิตยสารจะมีแต่ภาพหญิงสาวที่แต่งกายด้วยเสื้อผ้าน้อยชิ้นเป็นที่ชินตาเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ผ่านไปมาให้เลือกซื้อหนังสือโดยพิจารณาจากหน้าปก
ส่วนนโยบายการยุบโรงเรียนขนาดเล็กของรัฐบาลก็มีการให้เหตุผลว่า งบประมาณของภาครัฐมีจำกัดการจะให้งบประมาณสนับสนุนโรงเรียนที่มีนักเรียนไม่ถึง 60 คน เท่ากับโรงเรียนที่มีนักเรียนหลายพันคน แต่มีคุณภาพของหนังสือและห้องสมุดเท่ากันคงไม่เหมาะสม หากยุบโรงเรียนเล็กหลายโรงเรียนเป็นโรงเรียนเดียว แล้วทุ่มงบประมาณลงไปก็จะทำให้ได้ห้องสมุดที่มีคุณภาพและเป็นแหล่งเรียนรู้หลักของโรงเรียน แต่นโยบายการยุบโรงเรียนมีประเด็นละเอียดอ่อนอยู่ไม่น้อย ก็เชื่อว่าจะมีการพิจารณาในประเด็นต่างๆ รอบด้านก่อนตัดสินใจ
แต่นโยบายของภาครัฐที่จะพัฒนาห้องสมุดประชาชนในประเทศไทยยังต้องรอดูกันต่อไป เพราะยังเห็นรูปธรรมไม่ชัด เมื่อเดินเข้าไปในห้องสมุดประจำอำเภอ หรือประจำจังหวัดก็ต้องเข้าใจว่างบประมาณน้อย และกลายเป็นสถานที่ที่ไม่น่าเข้าไปใช้บริการด้วยข้อจำกัดเรื่องจำนวน และคุณภาพของหนังสือในห้องสมุด รวมถึงความสะดวกในการใช้บริการ หากจะให้คนไทยมองว่าห้องสมุดคือบ้านหลังที่สามคงต้องพัฒนาอย่างจริงจัง และใช้เวลาอีกนาน
ค่านิยมเรื่องการอ่านของคนไทยที่หวังว่าจะเพิ่มสถิติการอ่านให้สูงขึ้น เริ่มมีอุปสรรคชัดเจนตั้งแต่เริ่มมีความเชื่อว่าทุกอย่างค้นหาได้จาก google.com ทำให้ความสนใจที่จะซื้อหนังสือจากร้านหนังสือลดลง เนื่องจากทุกอย่างหาอ่านได้ในอินเทอร์เน็ต ประกอบกับค่านิยมที่มีต่อเครือข่ายสังคมจนหลายคนอาจมองว่าบ้านหลังที่สามคือโซเชียลเน็ตเวิร์ค (Social network) ที่มี facebook.com เป็นที่มั่นสำคัญหลังการเชื่อมต่อออนไลน์ทุกครั้ง ค่าสถิติเมื่อต้นปี 2556 พบว่า เมืองหลวงของประเทศไทยเป็นอันดับหนึ่งของโลกที่มีสมาชิกเฟซบุ๊คสูงที่สุด มีบัญชีผู้ใช้สูงถึง 12.8 ล้าน ในภาพรวมของประเทศมี 18.3 ล้านบัญชี คิดเป็นร้อยละ 27 ของจำนวนประชากรที่ใช้เฟซบุ๊ค และค่าสถิติการใช้เฟซบุ๊คย่อมหมายถึงการดึงความสนใจของคนไทยออกจากการอ่านหนังสือ เนื่องจากต้องให้เวลากับเฟซบุ๊คมาก ทำให้มีเวลากับการอ่านหนังสือลดลง
แล้วอนาคตของห้องสมุดไทยจะเดินไปทางใดก็ต้องฝากไว้กับรัฐบาลไทยที่จะผลักดันให้ห้องสมุดไทยอยู่ในใจคนไทย ด้วยการพัฒนาระบบการศึกษาให้คนไทยรู้ว่าการเรียนรู้ตลอดชีวิตมีความสำคัญกับการดำรงชีวิตเพียงใด ถ้าจำนวนผู้เห็นความสำคัญของการเรียนรู้ตลอดชีวิตมีเพิ่มขึ้น สถิติการอ่านหนังสือก็จะเพิ่มขึ้น จำนวนห้องสมุดที่ดี และมีชีวิตชีวาก็จะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ก็หวังว่าวันนั้นจะมาถึงในเร็ววัน
แหล่งอ้างอิง
– http://news.voicetv.co.th/global/75568.html
– http://newspapers.nl.sg/Digitised/Page/today20030306-1.1.3.aspx
– http://fbguide.kapook.com/view55860.html
โดย : ผศ.บุรินทร์ รุจจนพันธุ์ กรุงเทพธุรกิจ
http://bit.ly/17e934p
Pingback: ชวนคิดเปลี่ยนห้องสมุดเป็นบ้านหลังที่สาม | อีดู news