คณะวิทยาศาสตร์สุขภาพ การจัดการความรู้ (KM): เทคนิคการเขียนบทความทางวิชาการ

คณะวิทยาศาสตร์สุขภาพ

การจัดการความรู้ (KM): เทคนิคการเขียนบทความทางวิชาการ

                                             โดย อาจารย์ ดิลกา ไตรไพบูลย์

Tacit Knowledge **อาจารย์ผู้สอนหลักสูตรสาธารณสุขศาสตร์มหาบัณทิตและพยาบาลศาสตร์มหาบัณฑิต (สาขาพยาบาลชุมชนและสาขาพยาบาลอาชีวอนามัย) และหลักสูตรพยาบาลศาสตร์บัณฑิต(หลักสูตรนานาชาติ) ประจำคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเป็นวิทยากร ในการทำ KM และการเขียนบทความทางวิชาการ

 เรียบเรียงโดย: คณาจารย์ คณะวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเนชั่น

เป้าหมาย/ผู้ร่วมกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้(Desired State): อาจารย์ประจำสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์สุขภาพและผู้สนใจ     

เนื้อหา (Content)      

            เทคนิคการเขียนบทความทางวิชาการ เป็นหัวข้อของการจัดการความรู้ ในคณะวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเนชั่น (Nation University) โดยมีเป้าหมายของการจัดการความรู้ (Knowledge Management) ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเนชั่น และนโยบายการกำหนดประเด็นความรู้ขององค์กรคือประเด็น “การดำเนินการหลักสูตรให้เป็นไปตามกรอบมาตรฐาน คุณวุฒิระดับอุดมศึกษา” ซึ่งมีการกำหนดเป้าหมาย ของ Knowledge Management (KM) ในประเด็น “เทคนิคการเขียนบทความทางวิชาการ” โดยให้คณะต่างๆ ในมหาวิทยาลัยเป็นผู้ดำเนินการในเป้าหมายดังกล่าว ซึ่งคณะวิทยาศาสตร์สุขภาพ ได้เชิญวิทยากร จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจารย์ ดิลกา ไตรไพบูลย์ มาเป็นวิทยากรพิเศษในการให้ความรู้และหลักการการทำ KM  ตลอดจนช่วยทำให้เกิดการทำ KM  เชิงปฎิบัติการในคณะวิทยาศาสตร์สุขภาพ ม่สาระสำคัญ ดังนี้

ด้วยการใช้กระบวนการจัดการความรู้ (Knowledge Management Process)   7 ขั้นตอน เพื่อให้บุคลากรในคณะวิทยาศาสตร์สุขภาพ  สามารถแลกเปลี่ยน แบ่งปันความรู้และเกิดการเรียนรู้ โดยอาศัย Tuna Model (โมเดลปลาทูน่า) มาเป็นกรอบแนวคิดในการจัดการความรู้  ซึ่งกำหนดให้หัวปลาเป็น Knowledge Vision (KV) ด้วยการใช้เป็นส่วนของการกำหนด เป้าหมาย วิสัยทัศน์ หรือทิศทางของ KM ในคณะฯ โดยมีการกำหนดเป้าหมายการจัดการความรู้เรื่อง “เทคนิคการเขียนบทความทางวิชาการ” ร่วมกันในคณะฯ และใช้ตัวปลาเป็น KnowledgeSharing (KS) ซึ่งในคณะมี “คุณอำนวย” ทำหน้าที่เป็นวิทยากรกระบวนการ (Facilitator) มีบทบาทในการกระตุ้น ให้ “คุณกิจ” (คณาจารย์) มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เกี่ยวกับความรู้ในการเขียนบทความทางวิชาการ โดยเฉพาะความรู้ซ่อนเร้น (Tacit Knowledge) ที่มีอยู่ในตัวของคณาจารย์ พร้อมทั้งอำนวยการให้เกิดบรรยากาศในการเรียนรู้แบบเป็นทีม ให้เกิดการเรียนรู้ (Leaning) ร่วมกัน และเกิดการหมุนเวียนความรู้ จนได้ความรู้ในลักษณะ เป็นที่ยอมรับของคนในองค์กร ซึ่งสามารถนำไปสู่การปฎิบัติจริง โดยความรู้นั้นสามารถ เก็บไว้ใช้ได้ในครั้งต่อๆไป โดยใช้หางปลา เป็น KnowledgeAsset (KS) ซึ่งเกิดจากการเก็บสะสมความรู้ “ความรู้สู่การปฎิบัติ” เป็นความรู้ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) ด้วยการเก็บความรู้ด้วยวิธีต่างๆ ให้คลังความรู้คือหางปลานั่นเอง ซี่งสามารถเผยแพร่ได้ดังนี้

เทคนิคการเขียนบทความทางวิชาการ ก่อนจะลงมือเขียนบทความฯ ควรมีความเข้าใจถึงความหมายของบทความวิชาการให้ตรงกัน เพราะว่าเป็นงานเขียนหรือความเรียงที่ผู้เขียนต้องการ สื่อองค์ความรู้หรือข้อค้นพบใหม่ๆ ทางวิชาการในสาขาวิชาการสาธารณสุข หรือสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งเป็นการเฉพาะ เช่น บทความวิจัย  บทความเสนอแนวคิด หลักการ และ/หรือ แบบจำลองเป็นต้น ดังนั้นในการเขียนบทความทางวิชาการในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งเป็นการเฉพาะ  เช่น บทความวิจัย  บทความเสนอแนวคิด หลักการทางวิชาการ ซึ่งควรคำนึงถึงองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ประการได้แก่ ตัวผู้เขียน สิ่งที่จะเขียน และ ผู้อ่าน ดังต่อไปนี้

ประการแรกคือตัวผู้เขียนบทความ ควรมีศักยภาพและความพร้อมในการสร้างผลงานวิชาการ โดยอาศัยปัจจัยภายในตัวเอง (Internal factors) คือมีความรู้เรื่องที่จะเขียน และมีเวลาในการเขียนตลอดจนมีความสุขในการที่จะสร้างสรรค์งานเขียนทางวิชาการที่ตนเองประสงค์จะดำเนินการ นอกจากนี้ควรต้องอาศัยปัจจัยภายนอกตนเอง (External factors) คือการมีบรรยากาศทางวิชาการในองค์กรและมีแหล่งความรู้ รวมทั้งบุคคลที่จะช่วยเหลือสนับสนุนงานเขียน ตลอดจนการบริหารจัดการกับภาระงานของผู้เขียน เช่น งานสอน งานวิจัยฯ และภาระงานที่บ้าน เช่นการดูแลครอบครัวของตนเอง  เป็นต้น เพื่อป้องกันอุปสรรคในการเขียน

ประการที่สองคือ สิ่งที่เขียนลงในบทความ ควรเป็นสิ่งที่ทันสมัยและอยู่ในความสนใจในวงวิชาการ โดยอาศัยความรู้จากตัวผู้เขียน ที่มีประสบการณ์ และความชำนาญในเรื่องที่จะเขียนหรือผลที่เกิดจากการวิจัยของตัวผู้เขียนบทความเอง โดยสิ่งที่เขียนควรมีเนื้อหาสาระที่มีความถูกต้องเชื่อถือได้ ในทางวิชาการ และมีประโยชน์ต่อสังคมและ/หรือประเทศชาติ โดยอยู่บนพื้นฐานของคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณของนักวิชาการเอง โดยงานเขียนบทความทางวิชาการ ควรมีโครงสร้างหลัก 4  ประการของการเขียนคือ

1)        ชื่อบทความ ควรสั้นกระทัดรัด ใช้ภาษาง่ายต่อการเข้าใจ มีความหมายที่สื่อให้ผู้อ่านอยากติดตามและจูงใจในการอ่าน

2)        คำนำ/หรือบทนำ เป็นส่วนของการเปิดประเด็นเข้าสู่เนื้อหา ควรบอกถึงความสำคัญและวัตถุประสงค์ของการเขียน เพื่อจูงใจทำให้ผู้อ่านเลือกที่จะอ่าน

3)      เนื้อเรื่อง ควรแสดงองค์ความรู้ ข้อค้นพบ ที่อยู่บนฐานข้อมูลที่เป็นความจริง หรือสถิติที่ทันสมัย มีหลักฐานอ้างอิงที่ชัดเจน ควรมีภาพประกอบ หรือตารางตามความเหมาะสม

4)       บทสรุป เป็นการสรุปเชิงพรรณาจากส่วนเนื้อหา ไม่ควรยืดยาว เยิ่นเย้อ บางครั้งอาจใช้ภาษิตหรือปรัชญามาช่วยสรุป ให้เกิดข้อคิดแก่ผู้อ่านได้ด้วยก็เป็นสิ่งที่ดี และควรคำนึงถึงการใช้ภาษา การถูกหลักไวยากรณ์ รวมทั้งการอ้างอิงให้ถูกหลักการเขียน บรรณานุกรมด้วยเสมอ

 

ประการที่สาม ตัวผู้อ่านบทความ ควรรู้ว่าใครคือกลุ่มเป้าหมาย มีความสามารถในการรับรู้สิ่งที่เขียน เช่น ระดับความรู้ ความสามารถ และความสนใจในแวดวงวิชาการ รวมทั้ง ความสามารถของผู้อ่านในการเข้าถึง (Accessibility) สิ่งที่เขียน ได้แก่ ชนิดของสื่อ หรือแหล่งที่เผยแพร่บทความวิชาการเป็นต้น ดังนั้นเทคนิคการเขียนบทความทางวิชาการ จึงควรคำนึงถึงผู้อ่านเป็นสำคัญเสมอ

เรื่องนี้ถูกเขียนใน KM:ด้านการวิจัย, คณะสาธารณสุขศาสตร์ และติดป้ายกำกับ คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น