ชื่อเรื่องวิจัย การมีส่วนร่วมในการบูรณาการองค์ความรู้ด้านการใช้ สมุนไพรไทย ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น และศาสตร์การสาธารณสุข : กรณีศึกษาบ้านต้นฮ่างพัฒนา ตำบลบ้านค่า อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง
ผู้เขียน นายสกุลศักดิ์ อินหล้า
บทคัดย่อ การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมสุขภาพ เพื่อสร้างสุขภาพที่ดี ครอบครัวอบอุ่น และศึกษาการบูรณาการองค์ความรู้ด้านการใช้สมุนไพรไทย ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นและศาสตร์การสาธารณสุข บ้านต้นฮ่างพัฒนา ตำบลบ้านค่า อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เพื่อนำเสนอบริบทชุมชน การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของกลุ่มเป้าหมายด้านสุขภาพ กระบวนการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมสุขภาพของชุมชน การบูรณาการองค์ความรู้ด้านการใช้สมุนไพรไทย ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นและศาสตร์การสาธารณสุขในชุมชนบ้านฮ่างพัฒนา ตำบลบ้านค่า อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เป็นวิธีการวิจัยแบบมีส่วนร่วมและไม่มีส่วนร่วม สามารถนำเสนอผลการศึกษา ดังนี้ 1) บริบทชุมชน และสภาพที่เป็นจริงของชุมชนบ้านต้นฮ่างพัฒนา 2) กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันอย่างไร เพื่อเป็นแนวทางเสริมสร้างสุขภาพที่ดี ครอบครัวเกิดความอบอุ่นและมีความสุขร่วมกันของชุมชนบ้านต้นฮ่างพัฒนา 3) การบูรณาการองค์ความรู้ด้านการใช้สมุนไพรไทย ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นและศาสตร์การสาธารณสุขในชุมชนบ้านต้นฮ่างพัฒนา
สรุปผลการวิจัย
จากการวิจัยครั้งนี้ สรุปผลการวิจัยได้ดังนี้
ผู้วิจัยได้ดำเนินการศึกษาและการเก็บรวบรวมข้อมูล โดยการใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) เพื่อเกิดการสร้างหรือพัฒนารูปแบบเชิงคุณภาพ ดังนี้
- บริบทชุมชนบ้านฮ่างพัฒนา ตำบลบ้านค่า อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง
บ้านต้นฮ่างพัฒนาเป็นหมู่บ้านที่มีสภาพพื้นที่เป็นที่ราบเชิงเขาสูง มีป่าไม้และภูเขาล้อมรอบ มีอาณาเขตพื้นที่ส่วนใหญ่ของหมู่บ้านเป็นพื้นที่ที่มีเขตติดต่อกับอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนและเขตอุทยานแห่งชาติขุนตาล เนื้อที่ถือครองที่ดินทั้งหมดของหมู่บ้านต้นฮ่างพัฒนา มีจำนวน 2,500 ไร่ จำนวนครัวเรือนทั้งหมด 249 ครัวเรือน มีประชากรรวม 986 คน ประกอบด้วยชาย 508 คน หญิง 478 คน เด็กอายุ 0 – 6 ปี จำนวน 58 คน ผู้สูงอายุ จำนวน 148 คน ทิศเหนือจรดตำบลทุ่งกว๋าว อำเภอเมืองปาน ทิศใต้จรดตำบลบ้านเอื้อม ทิศตะวันตกจรดอำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูนทิศตะวันออก จรดอำเภอแจ้ห่ม อาชีพหลักทำเกษตรกรรม อาชีพรองเลี้ยงสัตว์ และงานรับจ้างทั่วไป มีการปกครอง โดยผู้ใหญ่บ้านเป็นแกนหลักหรือผู้นำของหมู่บ้าน โดยมีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านอีก 2 คน การดูแลของหมู่บ้านมีรูปแบบการกระจายงานโดยผ่านกลุ่มผู้นำ มีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้สั่งการ ผ่านมายังผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 2 ท่าน และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการของหมู่บ้าน 12 คน โดยมีหน้าที่ดูแลบ้านแต่ละหมวดของตัวเอง หมู่บ้านต้นฮ่างพัฒนามีทุนทางสังคม ประกอบไปด้วย ทุนวัฒนธรรม ความเชื่อ และประเพณี ทุนกลุ่มและบุคคลภายใน ทุนกลุ่มจากภายนอก ทุนทรัพยากรในชุมชน
2. การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของกลุ่มเป้าหมายด้านสุขภาพ
ปัญหาในชุมชนที่ไม่สามารถแก้ไขได้และเป็นปัญหาใหญ่ คือ ปัญหายาเสพติด แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ คนในชุมชนไม่เข้มแข็งพอ คนในชุมชนต้องช่วยกันแก้ไขสาเหตุของปัญหา สิ่งสำคัญคือ คนในชุมชนต้องร่วมมือกันด้วยความเข้มแข็งของชุมชน แสดงถึงแนวคิดวิเคราะห์ชุมชนได้ อย่างในปัจจุบัน มีการรวมกลุ่มต่าง ๆ ในชุมชนบ้านต้นฮ่าง เช่น กลุ่มเด็กและเยาวชน เพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน ให้เด็กหันมาสนใจกิจกรรมอื่น ๆ มากกว่าการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด กลุ่มสตรีแม่บ้าน รวมตัวเพื่อหารายได้เข้าหมู่บ้านและครอบครัว กลุ่มสมุนไพรไทย และกลุ่มผู้สูงอายุ
3. กระบวนการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมสุขภาพของชุมชน
ชุมชนบ้านต้นฮ่างพัฒนา มีกระบวนการการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมสุขภาพของชุมชนต่าง ได้แก่ การรวมกลุ่มทำแปรงผักเกษตรอินทรีย์ การลดการใช้สารเคมี การตรวจเลือดหาสารพิษตกค้างในเลือด การออกกำลังกายของกลุ่มเยาวชนในชุมชน และแผนงานที่ชุมชนบ้านต้นฮ่างพัฒนาจะผลักดันไปสู่อนาคต คือ โครงการลูกโลกสีเขียว และผลักดันชุมชนให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงระบบนิเวศในอนาคต โดยในชุมชนมีคณะทำงานเครือข่ายพันธมิตรสร้างสุขภาพของชุมชน คือ กลุ่ม อสม. และชมรมผู้สูงอายุ
4. การบูรณาการองค์ความรู้ด้านการใช้สมุนไพรไทย ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นและศาสตร์การสาธารณสุขในชุมชน
การบูรณาการองค์ความรู้ด้านการใช้สมุนไพรไทย ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น ปราชญ์ชุมชน บ้านต้นฮ่างพัฒนาได้รับสืบทอดตำราสมุนไพรเป็นลักษณะของปริศนาสมุนไพรหรือยาผีบอก ซึ่งตัวของปราชญ์ชุมชนได้รับสืบทอดมาจากคุณพ่อของตน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันการใช้สมุนไพรไม่ได้มีการเผยแพร่และไม่เคยใช้รักษาให้คนในชุมชนนอกจากนำมาใช้ในครอบครัวตนเองเท่านั้น
ทั้งนี้ หลังจากได้มีการศึกษาการบูรณาการองค์ความรู้ด้านการใช้สมุนไพรไทย ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น ปราชญ์ชุมชนบ้านต้นฮ่างพัฒนาจึงได้คัดลอกตำรายาสมุนไพรส่วนหนึ่งนำมาให้กลุ่มเยาวชน ได้ศึกษาเรียนรู้ถึงชนิดและวิธีการใช้ประโยชน์ของสมุนไพร และผนวกกับองค์ความรู้ทางด้านสมุนไพรไทย ในชุมชนที่กลุ่มเยาวชนได้ทำการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อที่จะได้สืบสานเป็นองค์ความรู้ของชุมชนสืบไป
การอภิปรายผลการศึกษา
- บริบทชุมชน และสภาพที่เป็นจริงของชุมชนบ้านต้นฮ่างพัฒนาเป็นอย่างไร
บ้านต้นฮ่างพัฒนาเป็นหมู่บ้านที่มีสภาพพื้นที่เป็นที่ราบเชิงเขาสูง มีป่าไม้และภูเขาล้อมรอบ เป็นพื้นที่ต้นน้ำ มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีป่าไม้และสัตว์ป่าอยู่มากมายหลายชนิดเหมาะสมกับการประกอบอาชีพเกษตรกรรมและเลี้ยงสัตว์ ลักษณะโครงสร้างทางสังคม ประชาชนส่วนใหญ่ มีความสัมพันธ์แบบชนบท ความผูกพันแบบญาติมิตร มีความเอื้ออาทรช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในครอบครัวและเพื่อนบ้าน ประชาชนยังคงรักษาประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเพณีพิธีกรรมทางศาสนา สอดคล้องกับงานวิจัย (กนกรัตน์ ทิพนี, 2552) ว่า “ประชาชนให้ความร่วมมือร่วมใจในการดำรง รักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมและประเพณีอย่างมั่นคง ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพก็ตาม”
- กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันอย่างไร เพื่อเป็นแนวทางเสริมสร้างสุขภาพที่ดี ครอบครัว เกิดความอบอุ่นและมีความสุขร่วมกันของชุมชนบ้านต้นฮ่างพัฒนา
นโยบายด้านสาธารณสุขยังเป็นนโยบายในภาพรวมเป็นส่วนใหญ่ ยังไม่เป็นนโยบายที่ชัดเจน ไม่มีการดำเนินงานร่วมกับชุมชน มีเพียงแต่ความร่วมมือกับ อสม. เท่านั้น เรื่องสุขภาพของคนในชุมชนเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ต้องร่วมมือร่วมใจทำให้คนในชุมชนมีสุขภาพที่ดี นำไปสู่การมีส่วนร่วมในการส่งเสริมสุขภาพของชุมชน คนในชุมชนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมยังไม่ให้ความสำคัญและไม่ตระหนักถึงอันตรายจากการใช้สารเคมีเท่าที่ควร ปัญหาในชุมชนที่ไม่สามารถแก้ไขได้และเป็นปัญหาใหญ่ คือ ปัญหายาเสพติด คนในชุมชนต้องช่วยกันแก้ไขปัญหา ต้องร่วมมือกันด้วยความเข้มแข็งของชุมชน สอดคล้องกับประโยชน์ของการมีส่วนร่วมของเฉลียว บุรีภักดี และคณะ (จีระศักดิ์ เจริญพันธ์, 2550)และสอดคล้องกับงานวิจัย (กนกรัตน์ ทิพนี, 2552) ว่า “วิถีชีวิตประจำวันของคนในชุมชน หลังเลิกงานในตอนเย็นก็จะมีการแวะดื่มที่ร้านเหล้าในชุมชนประจำ จับกลุ่มคุยกันเฮฮาทุกเย็น”
การเสริมสร้างครอบครัวอบอุ่น เกิดจากการรวมกลุ่มของเยาวชนซึ่งทำให้เกิดกิจกรรมต่าง ๆ หรือการที่เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาหรือทำประโยชน์ให้แก่ชุมชน ทำให้เกิดการยอมรับจากคนในชุมชนและครอบครัวของกลุ่มเยาวชนเองว่าพวกเขาก็สามารถสร้างสิ่งที่ดีและมีประโยชน์แก่ชุมชนได้ จุดเด่นของการทำกิจกรรมที่ทำให้คนในชุมชนและคนในครอบครัวของกลุ่มเยาวชนยอมรับและเห็นคุณค่าตลอดจนความสามารถของกลุ่มเยาวชน คือ กิจกรรมสร้างฝายชะลอน้ำ และการปลูกผักโดยใช้แนวทางของเกษตรอินทรีย์รวมถึงการเลี้ยงหมูหลุม โดยยึดตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เนื่องจากเป็นการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพที่มีในกลุ่มเยาวชนให้คนในชุมชนได้เห็นคุณค่าในตัวของเยาวชน ซึ่งจะทำให้กลุ่มเยาวชนเกิดการตระหนักรู้ถึงคุณค่าของตัวเองเช่นกัน เนื่องจากได้รับการยอมรับจากบุคคลในครอบครัว เยาวชนจึงอยากที่จะรักษาคุณค่าของตัวเองไว้ ส่งผลให้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องในการทำให้ครอบครัวอบอุ่นคือ เยาวชนเกิดกระบวนการมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งส่วนหนึ่งของกิจกรรมสามารถส่งเสริมให้เกิดรูปแบบครอบครัวที่ดีได้ เช่น เกิดการรับฟังซึ่งกันและกันเพราะการได้พูดคุยกันภายในครอบครัว การทำกิจกรรมของกลุ่มเยาวชนตลอดจนเรื่องของการประกอบอาชีพเพื่อหาเลี้ยงชีพอย่างสุจริต เพื่อให้ได้มาซึ่งรายได้ในการจุนเจือครอบครัวอยู่ดีมีสุข และ เป็นครอบครัวที่อยู่รวมกันเพราะสมาชิกภายในครอบครัวรู้บทบาทหน้าที่ของตน โดยพ่อแม่เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูก เช่น ไม่ได้สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า ไม่เล่นการพนัน ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ไม่สนใจแต่การทำงานจนไม่มีเวลาอบรมเลี้ยงดูบุตรของตัวเอง ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่ดึงให้เยาวชนห่างไกลจากยาเสพติด เพราะปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาที่สำคัญอีกหนึ่งปัญหาสำหรับเยาวชนและเมื่อเยาวชนห่างไกลจากยาเสพติดแล้วเยาวชนก็จะมีความใกล้ชิดกับครอบครัว เมื่อครอบครัวได้ปะทะสังสรรค์กันมากขึ้นก็จะก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ในครอบครัวมากขึ้น เพราะเยาวชนไม่ไปรวมกลุ่มมั่วสุมเรื่องยาเสพติด ทำให้เยาวชนถูกมองในแง่ดี คนในชุมชนก็เห็นความสำคัญของเยาวชนจากกิจกรรมที่เยาวชนทำซึ่งจะส่งผลเกิดความรักสามัคคีกันในชุมชนและจะส่งผลต่อยอดไปทำให้ชุมชนเข้มแข็งโดยมีครอบครัวที่อบอุ่นเป็นพื้นฐานของความเข้มแข็งในที่สุด
- การบูรณาการองค์ความรู้ด้านการใช้สมุนไพรไทย ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นและศาสตร์ การสาธารณสุขในชุมชนอย่างไร
พืชสมุนไพรที่มีอยู่ในชุมชนบ้านต้นฮ่างพัฒนานั้นสามารถสำรวจได้ 91 ชนิด ซึ่งแต่ละชนิด มีสรรพคุณที่ใช้ในการรักษาความเจ็บป่วยที่แตกต่างกันออกไปโดยที่มาขององค์ความรู้ในเรื่องพืชสมุนไพรในชุมชนบ้านต้นฮ่างพัฒนาได้มีการสืบทอดต่อกันมาจากบรรพบุรุษ ส่วนในการเสาะแสวงหาพืชสมุนไพรเพื่อนำมาใช้นั้นส่วนใหญ่จะเสาะหาจากแหล่งธรรมชาติภายในชุมชน สอดคล้องกับทฤษฎีต้นทุนทางสังคมของครูเตอร์และเลซิน (ณรงค์ศักดิ์ หนูสอน, 2553) เนื่องจากมีพื้นที่อยู่ในเขตต้นน้ำ ทำให้มีสภาพป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ทำให้พบพืชสมุนไพรหลากหลายชนิดในบริเวณป่าชุมชนและภายในบริเวณหมู่บ้านเอง สอดคล้องกับงานวิจัย (พัชทิชา กุลสุวรรณ์, 2554) ว่า “องค์ความรู้ในเรื่องพืชสมุนไพรการเรียนรู้เริ่มจากครอบครัวและเครือญาติที่มีการใช้สมุนไพรในการดูแลสุขภาพ หากมีผู้ใดในครอบครัวเจ็บป่วยผู้ที่มีความรู้ในการใช้พืชสมุนไพรภายในครอบครัวจะเป็นผู้ดูแลรักษาและเสาะหาสมุนไพร เพื่อนำมารักษาผู้ป่วยบุคคลภายในครอบครัวจะเกิดการเรียนรู้ จดจำ และเมื่อเกิดการทำหลาย ๆ ครั้ง ก็เกิดเป็นประสบการณ์และสามารถปฏิบัติเองได้”