โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศิริพร เสริตานนท์ เป็นวิทยากร
เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 ณ ห้องประชุม ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์
การวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนในปัจจุบันนิยมใช้แบบทดสอบเป็นเรื่องมือในการวัดและประเมิน ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ แบบทดสอบปรนัย เป็นแบบทดสอบที่ให้เลือกตอบจากสิ่งที่กำหนดมาให้แล้ว โดยคำตอบของแบบทดสอบแบปรนัยจะมีความถูกต้องและชัดเจน เข้าใจตรงกันทั้งผู้สอบและผู้ตรวจ รวมทั้งมีความเชื่อถือได้ มีความยุติธรรม ในขณะที่แบบทดสอบอัตนัยจะมีลักษณะตรงกันข้าม ผู้สอบจะต้องเรียบเรียงแนวความคิดและความรู้ของตนเองเป็นสำคัญ หรือแม้แต่ผู้ตรวจคนเดียวกันอาจให้คะแนนคำตอบแต่ละคนไม่ยุติธรรม ขาดความเที่ยงตรง เพราะขาดกรอบของการตอบคำถาม ไม่มีเกณฑ์การให้คะแนนที่ชัดเจน ทำให้มีตัวแปรอื่นๆ เข้ามามีอิธิพลต่อคะแนนที่ให้มากกว่า ซึ่งส่งผลต่อความเป็นปรนัย ความยุติธรรม และความเที่ยงตรงของการประเมิน
ข้อดีของแบบทดสอบอัตนัย
- ผู้ตอบมีโอกาสใช้ความรู้ ความสามารถในการใช้ภาษาแสดงความคิดเห็น
- ผู้ตอบที่ไม่มีความรู้ในเรื่องนั้น จะไม่สามารถเดาคำตอบได้เลย ซึ่งจะช่วยลดความคลาดเคลื่อนในการวัดได้เป็นอย่างดี
- ข้อสอบอัตนัยเหมาะกับการวัดผลทักษะในการเรียนทั้ง 6 ด้าน คือ วัดการจำรายละเอียดของเนื้อหา วัดความเข้าใจ วัดการนำไปใช้ วัดการวิเคราะห์ วัดการสังเคราะห์ และวัดการประเมิน
- ข้อสอบอัตนัยเป็นแบบทดสอบที่มีคุณสมบัติสามารถจำแนกผู้เรียนได้ตามความแตกต่างของบุคคลว่าใครเก่ง ปานกลาง อ่อน รอบรู้-ไม่รอบรู้
คุณภาพของแบบทดสอบอัตนัย
คุณภาพของแบบทดสอบอัตนัยมีลักษณะเช่นเดียวกับแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนชนิดอื่น ซึ่งมีคุณลักษณะสำคัญที่ต้องตรวจสอบ ได้แก่
- ความเที่ยงตรง (Validity) แบบทดสอบอัตนัยสามารถวัดผล วัดคุณลักษณะที่ต้องการจะวัดได้หรือไม่ ทั้งในด้านเนื้อหา โครงสร้าง และสภาพผู้เรียน
- ความเชื่อมั่น (Reliability) ใช้วัดความแน่นอนของแบบทดสอบอัตนัย ผลของการวัดแบบทดสอบ ไม่ว่าจะวัดกี่ครั้งผลจะต้องเท่ากัน ภายใต้เงื่อนไขและสถานการณ์เดียวกัน และค่าของความเชื่อมั่นจะอยู่ในเกณฑ์ 0.7 ≥ 1 ถือว่าเป็นข้อสอบที่เชื่อถือได้
- ความยากง่าย (Difficulty: P) ใช้วัดความยากง่ายของแบบทดสอบอัตนัย ซึ่งแบบทดสอบอัตนัยที่ดีควรมีความยากง่ายพอเหมาะ ไม่ยากหรือง่ายเกินไป ข้อสอบฉบับหนึ่ง ควรมีผู้ตอบถูก ไม่ต่ำกว่า 20 คนและไม่เกิน 80 คนจากผู้สอบ 100 คน นั่นคือค่า P อยู่ระหว่าง 0.2 – 0.8 จึงถือว่าเป็นข้อสอบที่มีค่าความยากง่ายพอเหมาะ
- อำนาจจำแนก (Discrimination)คือลักษณะของแบบทดสอบ อัตนัยที่สามารถแบ่งเด็กออกเป็นประเภทต่างๆ ได้ทุกระดับตั้งแต่อ่อนสุดจนถึงเก่งสุด แม้ว่าจะเก่งอ่อนกว่ากันเพียงเล็กน้อยก็สามารถชี้จำแนกให้เห็นได้ ค่าอำนาจจำแนกอยู่ระหว่าง 0.2 – 0.8 ถือว่าเป็นข้อสอบที่มีค่าอำนาจจำแนกพอเหมาะ