ศึกษาการมอบหมายงานจัดทำสื่อวีดีทัศน์แบบกำหนดพื้นที่ทำงาน

ผลการคัดสรร วิเคราะห์และสังเคราะห์ความรู้จากผลงานวิจัยและงานสร้างสรรค์
คณะวิทยาศาสตร์สุขภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเนชั่น ปีการศึกษา 2554

ชื่องานวิจัย ศึกษาการมอบหมายงานจัดทำสื่อวีดีทัศน์แบบกำหนดพื้นที่ทำงานในรายวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสืบค้นข้อมูลเบื้องต้น (COMP 100)
ประเภทการวิจัย การวิจัยในชั้นเรียน
ผู้วิจัย หัวหน้าโครงการ ผศ.บุรินทร์ รุจจนพันธุ์
หน่วยงาน สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์
ผู้สนับสนุนทุนวิจัย มหาวิทยาลัยเนชั่น
วัตถุประสงค์การวิจัย เพื่อศึกษาผลการมอบหมายงานกลุ่มในการจัดทำสื่อวีดีทัศน์แบบกำหนดพื้นที่ทำงาน ประกอบการสอนการใช้โปรแกรม Powerpoint ที่มีต่อสัมฤทธิ์ผลทางการเรียน และเพื่อสนับสนุนให้นักศึกษามีความเข้าใจในการใช้ระบบอีเลินนิ่งเป็นเครื่องมือส่งเสริมการเรียนรู้
สรุปผลการวิจัย นักศึกษากลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มนักศึกษาที่ทำการลงทะเบียนเรียนรายวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสืบค้นข้อมูลเบื้องต้น (COMP 100) ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2554 โดยใช้ประชากรทั้งหมดเป็นกลุ่มตัวอย่าง จำนวนทั้งสิ้น 50 คน เก็บข้อมูลจากแบบสอบถาม (Questionnaire) เพื่อประเมินความพึงพอใจ ซึ่งมี 15 คำถามตามแบบฟอร์มประเมินความพึงพอใจต่อการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย และใช้ค่าสถิติเชิงปริมาณ คือ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน โดยมีผลสรุปที่มีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ และสมมติฐาน คือ นักศึกษาที่ได้รับการมอบหมายงานให้จัดทำสื่อวีดีทัศน์นอกมหาวิทยาลัยมีความพึงพอใจมากกว่าในมหาวิทยาลัย สำหรับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน พบว่า ไม่แปรผันไปตามความพึงพอใจ โดยกลุ่มที่มีความพึงพอใจในภาพรวมสูงกว่า มีร้อยละของจำนวนนักศึกษาที่มีผลการเรียนในระดับ A B+ และ B เพียงร้อยละ 64.29 น้อยกว่ากลุ่มที่มีความพึงพอใจรองลงมา ซึ่งมีระดับผลการเรียนสูงคิดเป็นร้อยละ 83.3 ของจำนวนนักศึกษา
ผลการสังเคราะห์งานวิจัย
(องค์ความรู้จากการวิจัย) การมอบหมายงานกลุ่มที่ให้ทำงานนอกมหาวิทยาลัย จะส่งผลให้นักศึกษามีความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนการสอนสูงกว่าการมอบหมายงานกลุ่มให้ทำงานในมหาวิทยาลัย เพราะส่งเสริมให้นักศึกษาได้ทำกิจกรรมร่วมกัน และเห็นโลกทัศน์ภายนอกกว้างขึ้น นอกจากนั้น ความแตกต่างของพื้นที่ในการมอบหมายงานกลุ่ม อาจไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อระดับผลการเรียนของนักศึกษา เพราะกลุ่มตัวอย่างทั้งสองกลุ่มซึ่งมีความแตกต่างกันในเรื่องของความมีเอกภาพภายในกลุ่ม เช่น มาจากสาขาวิชาเดียวกันและมีจำนวนที่มากกว่ากลุ่มที่มาจากหลากหลายสาขาวิชาที่มีจำนวนน้อยกว่า แต่กลับมีผลการเรียนในกลุ่ม A B+ และ B ในจำนวนร้อยละที่มากกว่า
ข้อเสนอแนะเพื่อการศึกษาวิจัย ควรทดลองใช้ขนาดของกลุ่มตัวอย่างที่มีขนาดประชากรใกล้เคียงกันของทั้ง 2 กลุ่ม นอกจากนั้น งานวิจัยยังขาดผลการศึกษาการใช้งานระบบอีเลินนิ่ง และเครือข่ายสังคม เป็นเครื่องมือประกอบการจัดการเรียนการสอน
การใช้ประโยชน์ต่อการเรียนการสอน วิชาพื้นฐานในหมวดศึกษาทั่วไปทุกรายวิชา

เกี่ยวกับ บุรินทร์ รุจจนพันธุ์

เป็นอาจารย์ฺประจำสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะบริหารธุรกิจและรัฐประศาสนศาสตร์ สอนด้านสื่อและเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ ระบบปฏิบัติการ ระบบฐานข้อมูล การโปรแกรม การพัฒนาระบบสารสนเทศ รับผิดชอบงานบริการวิชาการ สนใจงานวิจัยเกี่ยวกับ การวิจัยเพื่อท้องถิ่น การประกันคุณภาพการศึกษา การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม การวิจัยในชั้นเรียน และระบบสารสนเทศ
เรื่องนี้ถูกเขียนใน ทั่วไป และติดป้ายกำกับ , , คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น