ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการเกิดโรคมะเร็งของประชาชนในเขตพื้นที่รับผิดชอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านฮ่องห้า ตำบลน้ำโจ้ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง

10485378_793292337382628_1642523949_n

10514993_793292340715961_1269704288_n

10559122_793292344049294_848723760_n

ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการเกิดโรคมะเร็งของประชาชนในเขตพื้นที่รับผิดชอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านฮ่องห้า ตำบลน้ำโจ้ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง

ฉัตรชัย หมื่นก้อนแก้ว*­,ธนัชพร มณีวรรณ, สุภา ศรีรุ่งเรือง, กรุณา ยะสะโน,นภดล แนบนิล,วัชรินทร์ พุกอุด, อรุณี ทวีชีพ,ณัฐวรรณ ตันชะและอรพิมล ดวงติ๊บ

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาวิจัยเชิงพรรณนา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง และเปรียบเทียบปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งระหว่างกลุ่มผู้ป่วยกับกลุ่มญาติผู้ป่วย รวมทั้งเปรียบเทียบปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งระหว่างกลุ่มผู้ป่วยกับกลุ่มประชาชนที่อยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านฮ่องห้า ตำบลน้ำโจ้ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปางกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ กลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็ง กลุ่มญาติผู้ป่วยโรคมะเร็ง และกลุ่มประชาชนทั่วไป จำนวน 341 คน ซึ่งได้จากกลุ่มตัวอย่างโดยใช้ตารางของ Hendelที่ระดับความเชื่อมั่น 95% เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาคือแบบสอบถาม ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ ข้อมูลทั่วไป ปัจจัยด้านบุคคล ประกอบด้วย ปัจจัยเสี่ยงด้านอาหาร และปัจจัยเสี่ยงด้านการใช้ชีวิต และปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย ปัจจัยเสี่ยงด้านภายในบ้าน และปัจจัยเสี่ยงด้านภายในสถานที่ทำงาน ซึ่งทดสอบคุณภาพของเครื่องมือ โดยการหาความเที่ยงตรงของเครื่องมือจากผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน และหาความเชื่อมมั่นของเครื่องมือโดยไปทดสอบ กับกลุ่มที่คล้ายคลึงตัวอย่างจำนวน 30 คน ได้ค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาคอนบรากเท่ากับ 0.79 สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการเปรียบเทียบค่าเฉลี่ย แบบ t-test

ผลการวิจัยเกี่ยวกับปัจจัยด้านบุคคลที่มีผลต่อการเกิดโรคมะเร็งพบว่าปัจจัยเสี่ยงด้านพฤติกรรมการรับประทานอาหาร มีระดับความเสี่ยงปานกลาง มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.18 +1.01โดยพฤติกรรมพบมากที่สุด คือการรับประทานอาหารแห้งในกลุ่มพืชที่ใช้สำหรับเครื่องปรุงอาหารและปัจจัยเสี่ยงด้านการใช้ชีวิต พบว่า มีระดับความเสี่ยงปานกลาง มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.76 +1.14 โดยพฤติกรรมพบมากที่สุด คือวิธีการจัดการความเครียดด้วยตนเอง ในส่วนของด้านสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อการเกิดโรคมะเร็ง พบว่าปัจจัยเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน มีระดับความเสี่ยงปานกลาง มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.20 +1.24 โดยพฤติกรรมพบมากที่สุด คือการใช้เคมีทำความสะอาดอุปกรณ์ และปัจจัยเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมภายในสถานที่ทำงาน มีระดับความเสี่ยงต่ำ มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 1.44 +0.84 โดยพฤติกรรมพบมากที่สุด คือการทำงานที่สัมผัสกับควัน

สำหรับผลการเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มผู้ป่วยกับกลุ่มญาติผู้ป่วย พบว่า มีความแตกต่างทางอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 (P < 0.033) คือปัจจัยเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมภายในบ้านโดยกลุ่มผู้ป่วยมีค่าเฉลี่ยความเสี่ยงสูงกว่ากลุ่มญาติผู้ป่วย (2.21 + 0.93> 2.12 + 0.97) และผลการเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มผู้ป่วยกับกลุ่มบุคคลทั่วไป พบว่า มีความแตกต่างทางอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 (P < 0.001) คือปัจจัยเสี่ยงด้านพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยกลุ่มผู้ป่วยมีค่าเฉลี่ยความเสี่ยงน้อยกว่ากลุ่มบุคคลทั่วไป (1.90 + 0.50 < 2.24 + 0.51)

สรุปจากผลการวิจัยครั้งนี้พบว่าประชาชนในพื้นที่ ที่ทำการศึกษายังคงมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง ดังนั้นข้อมูลที่ได้จากการศึกษาดังกล่าวสามารถนำไปเป็นฐานข้อมูลในการกำหนดนโยบายและวางแผนส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคมะเร็งในพื้นที่รับผิดชอบให้เหมาะสมได้

 

การอภิปรายผล

การศึกษาเรื่องปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งในเขตพื้นที่รับผิดชอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านฮ่องห้า ตำบลน้ำโจ้ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงด้านต่างๆ ประกอบด้วยปัจจัยด้านบุคคลเกี่ยวกับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ปัจจัยด้านบุคคลพฤติกรรมการใช้ชีวิต ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน และปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมภายในสถานที่ทำงาน

จากการสอบถามข้อมูลทั่วไปจากกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ กลุ่มผู้ป่วย กลุ่มญาติผู้ป่วย และกลุ่มบุคคลทั่วไป ในเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านฮ่องห้า พบว่าประชาชนส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง คิดเป็นร้อยละ 59.90 และประชาชนที่มีช่วงอายุ 49-56 ปี คือกลุ่มตัวอย่างที่พบมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 19.76 โดยมีการศึกษาส่วนใหญ่อยู่ในระดับประถมศึกษา คิดเป็นร้อยละ 59.88 และประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก คิดเป็นร้อยละ 31.43 ทั้งนี้ประชาชนร้อยละ 80.88 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่า 9,000 บาท และส่วนใหญ่ร้อยละ 58.98 เข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี สำหรับประวัติการป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในครอบครัว พบว่ามีครอบครัวที่ป่วยด้วยโรคมะเร็ง แล้วยังมีชีวิตอยู่ คิดเป็นร้อยละ 6.58 และเป็นผู้ป่วยที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง คิดเป็นร้อยละ 16.76 โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่เคยมีญาติที่เคยป่วย และเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งซึ่งเป็นญาติสายตรง คิดเป็นร้อยละ 96.10

สำหรับการศึกษาปัจจัยเสี่ยงด้านบุคคล ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยด้านบุคคลเกี่ยวกับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และปัจจัยด้านบุคคลพฤติกรรมการใช้ชีวิต ผลการศึกษาปัจจัยเสี่ยงด้านบุคคลเกี่ยวกับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร พบว่าประชาชนส่วนใหญ่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคมะเร็งในเรื่องของการรับประทานอาหารแห้ง ได้แก่ พริกแห้ง หอม กระเทียม ถั่วลิสง และเครื่องเทศต่างๆ เนื่องจากเป็นวัตถุดิบที่ประชาชนนิยมนำมาใช้เป็นเครื่องปรุงในการประกอบอาหารรับประทานเป็นประจำ ซึ่งอาหารกลุ่มนี้อาจมีสาเหตุของความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง คือการได้รับสารเคมีตกค้างจากการเพาะปลูกทางการเกษตรสะสมในร่างกาย เนื่องจากเป็นวัตถุดิบที่ใช้สารเคมีเพื่อเพิ่มผลผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคส่วนใหญ่ จึงส่งผลให้วัตถุดิบดังกล่าวไม่มีความปลอดภัย สำหรับความเสี่ยงอีกด้านหนึ่ง คืออาจได้รับสารพิษ และสารก่อมะเร็ง จากวัตถุดิบที่มีการเก็บรักษาไม่เหมาะสม เช่น การเก็บรักษาอาหารไว้ในที่ที่มีความชื้นสูง อาจทำให้มีเชื้อราเกิดขึ้นในอาหารได้ง่าย ทำให้อาหารไม่มีความปลอดภัยเนื่องจากมีการสร้างสารพิษจากเชื้อราตกค้างในอาหาร และหากอาหารนั้นถูกเก็บรักษาไว้เป็นเวลานานยิ่งทำให้อาหารเกิดสารพิษตกค้างมากขึ้น โดยเฉพาะสารอะฟลาทอคซิน ซึ่งเป็นสารพิษชนิดหนึ่งที่เป็นความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง สำหรับความเสี่ยงรองลงมา พบว่าประชาชนนิยมรับประทานผักชนิดต่างๆ ซึ่งมีความเสี่ยงที่แฝงคือการมีสารเคมีตกค้างเช่นเดียวกับการรับประทานอาหารแห้ง เนื่องจากประชาชนนิยมซื้อผักมารับประทานแต่อาจมีวิธีการลดสารเคมีตกค้างในผักที่ไม่เหมาะสม จึงทำให้ได้รับการสะสมสารเคมีตกค้างในร่างกายเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งได้ในระยะยาว เมื่อพิจารณาจากกลุ่มตัวอย่างเป็นรายกลุ่ม พบว่าทั้ง 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ป่วย กลุ่มญาติผู้ป่วย และกลุ่มบุคคลทั่วไป มีความเสี่ยงสูงในเรื่องของการรับประทานอาหารแห้ง ทั้งนี้ความเสี่ยงที่แต่ละกลุ่มจะได้รับจะแตกต่างกันไป โดยในกลุ่มผู้ป่วยอาจมีโอกาสที่โรคจะมีความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้น หรือในกลุ่มผู้ที่หายจากโรคแล้วอาจกลับมาเป็นโรคใหม่ได้อีกครั้ง เนื่องจากการได้รับสารเคมีทางการเกษตร และสารพิษจากเชื้อราในอาหารสะสมในร่างกาย ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการดังกล่าว ซึ่งผลการวิจัยคล้ายคลึงกับงานของ กนกกาญจน์ บำรุงกิจ (2555) ศึกษาเกี่ยวกับการกลายพันธุ์ของยีน ทีพี 53 ของผู้ป่วยมะเร็งปอดในภาคเหนือของประเทศไทย และความสัมพันธ์กับปัจจัยเสี่ยงผลจากการศึกษา พบว่าการใช้ยาฆ่าแมลง หรือสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และการอาศัยอยู่ในบ้านที่มีอากาศถ่ายเทไม่ดี ได้แก่ บ้านซีเมนต์ หรือบ้านที่มีห้องครัวอยู่ภายในบ้าน มีผลต่อการกลายพันธุ์ของยีนทีพี 53 ในผู้ป่วยมะเร็งปอด ทางด้านกลุ่มญาติผู้ป่วย อาจได้รับสารเคมีทางการเกษตร และสารพิษจากเชื้อราในอาหารสะสมในร่างกาย และทำให้เกิดเป็นโรคมะเร็งขึ้นได้ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเกี่ยวเนื่องทางพันธุกรรมกับผู้ป่วยโรคมะเร็ง จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งสูงกว่าบุคคลทั่วไป และในกลุ่มบุคคลทั่วไป หากได้รับการสะสมของสารเคมีทางการเกษตร และสารพิษจากเชื้อราในอาหารสะสมในร่างกายอย่างต่อเนื่องอาจมีโอกาสเกิดเป็นโรคมะเร็งขึ้น

เมื่อพิจารณาผลการศึกษาปัจจัยเสี่ยงด้านบุคคลเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้ชีวิต พบว่าประชาชนส่วนใหญ่มีวิธีการจัดการความเครียดที่ไม่เหมาะสม เช่น การสูบบุหรี่ การรวมกลุ่มกันดื่มสุราหลังจากเลิกงาน และการรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ วนิดา โชควาณิชย์พงษ์ (2552) ศึกษาเกี่ยวกับการสำรวจพฤติกรรม และทัศนคติการบริโภคปลาดิบ และการเกิดมะเร็งท่อน้ำดี พบว่ามีการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ ที่เกิดจากการบริโภคปลาน้ำจืด ทั้งเพศชาย และเพศหญิง ส่วนใหญ่นิยมบริโภคปลาดิบ เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคพยาธิใบไม้ในตับ มีผลเสี่ยงต่อปัจจัยที่ก่อให้เกิดเป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดี อีกทั้งขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้เมื่อทำเป็นประจำมีโอกาสกระตุ้นการเกิดโรคมะเร็งขึ้นได้ เพราะร่างกายเสื่อมโทรมจากการดื่มสุรา การสะสมสารพิษจากการสูบบุหรี่ และร่างกายกำจัดสารพิษออกจากร่างกายไม่เพียงพอเพราะออกกำลังกายไม่สม่ำเสมอ เป็นสาเหตุทำให้เซลล์ในร่างกายเสื่อมโทรม มีการทำงานผิดปกติ และส่งผลให้เกิดเป็นเซลล์ก่อโรคมะเร็งขึ้นได้ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ สุพรรณี พรหมเทศ (2553) ศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งในคนไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่าการสูบบุหรี่ และการดื่มสุรา มีความสัมพันธ์ต่อความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งปอดในเพศชาย โดยเมื่อมีอายุเพิ่มมากขึ้นยิ่งมีความเสี่ยงสูงต่อการทำให้เกิดเป็นโรคมะเร็งปอดมากขึ้นตามไปด้วย เมื่อพิจารณาจากกลุ่มตัวอย่างเป็นรายกลุ่ม พบว่าทั้ง 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ป่วย กลุ่มญาติผู้ป่วย และกลุ่มบุคคลทั่วไป มีการจัดการความเครียดที่ไม่เหมาะสม รวมไปถึงขาดการออกกำลังกายอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะกลุ่มบุคคลทั่วไปมีพฤติกรรมในการใช้ชีวิตที่มีความเสี่ยงสูง คือสูบบุหรี่และมีการรวมกลุ่มกันดื่มสุราหลังจากเลิกงานเป็นประจำ รับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ เป็นประจำ รวมถึงขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอด้วย ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้จะเป็นตัวกระตุ้นทำให้ร่างกายเกิดความเสื่อมโทรม และมีโอกาสเกิดเป็นโรคมะเร็งได้ในที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ Kiyomi Sakata and et all. (2005). ศึกษาเกี่ยวกับการดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคมะเร็งหลอดอาหารในคนญี่ปุ่น พบว่าเพศชาย ในประชากรทั่วไปวัย 40-79 ปี โดยเครื่องมือที่ใช้ คือแบบสอบถามเกี่ยวกับปัจจัยต่างๆ ในวิถีการดำรงชีวิตเกี่ยวกับอัตราการตายด้วยการสูบบุหรี่ และการดื่มสุรา พบผู้ที่สูบบุหรี่ และผู้ที่หยุดสูบบุหรี่แล้ว มีอัตราเสี่ยงต่อการตายสูงกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ รวมทั้งผู้ที่ดื่มสุรา และผู้ที่หยุดดื่มสุราแล้ว มีอัตราเสี่ยงต่อการตายสูงกว่าผู้ที่ไม่ดื่มสุรา จะมีปริมาณที่มากขึ้นก่อให้เกิดเป็นโรคมะเร็งหลอดอาหารจากการสูบบุหรี่และดื่มสุราเพิ่มมากขึ้น สำหรับกลุ่มผู้ป่วย และกลุ่มญาติผู้ป่วย มีการจัดการความเครียดบางอย่างที่ไม่เหมาะสม เช่น ยังมีการสูบบุหรี่ รวมถึงดื่มแอลกอฮอล์เป็นบางครั้ง ทั้งนี้หากกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งยังมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม อาจมีโอกาสที่อาการของโรคมะเร็งจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น และในกลุ่มของญาติผู้ป่วย ความเสี่ยงที่จะเกิดเป็นโรคมะเร็งมากกว่ากลุ่มบุคคลทั่วไป เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเกี่ยวเนื่องทางพันธุกรรมกับผู้ป่วยโรคมะเร็ง ทั้งนี้หากมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งรวมด้วย มีโอกาสทำให้บุคคลกลุ่มนี้เกิดเป็นโรคมะเร็งสูงขึ้นตามไปด้วย

ในส่วนของการศึกษาปัจจัยเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน และปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมภายในสถานที่ทำงาน ผลการศึกษาปัจจัยเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน พบว่าประชาชนส่วนใหญ่มีการใช้สารเคมีที่เกี่ยวข้องกับการทำความสะอาดอุปกรณ์ที่สัมผัสกับอาหาร และสารเคมีที่ใช้ในการทำความสะอาดภายในบ้าน เช่น ผงซักฟอก น้ำยาทำความสะอาดพื้น น้ำยาล้างห้องน้ำ เป็นต้น ความเสี่ยงที่จะได้รับจากการใช้สารเคมีเหล่านี้ โดยเฉพาะสารเคมีที่ใช้ในการทำความสะอาดอุปกรณ์ที่สัมผัสกับอาหาร เกิดจากมีสารเคมีตกค้างในภาชนะ ทำให้เกิดการปนเปื้อนสารเคมีลงสู่อาหาร เมื่อบุคคลภายในบ้านรับประทานอาหารเข้าไปทำให้เกิดการสะสมสารเคมีในร่างกายได้ ซึ่งสอดคล้องกับ Ami R Zota (2010) ศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยด้านเคมี และสิ่งแวดล้อมจากการใช้สารเคมีทำความสะอาดภายในบ้านที่มีผล และเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านม พบว่าการใช้สารเคมีทำความสะอาดภายในบ้านและสารเคมีที่ใช้สำหรับปรับอากาศภายในบ้านมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น

เมื่อพิจารณาจากกลุ่มตัวอย่างเป็นรายกลุ่ม พบว่าทั้ง 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ป่วย กลุ่มญาติผู้ป่วย และกลุ่มบุคคลทั่วไป มีการใช้สารเคมีที่เกี่ยวข้องกับการทำความสะอาดอุปกรณ์ที่สัมผัสกับอาหาร และสารเคมีที่ใช้ในการทำความสะอาดภายในบ้านในปริมาณสูง โดยเฉพาะในกลุ่มบุคคลทั่วไป มีการใช้สารเคมีเหล่านี้ในปริมาณสูงจึงมีโอกาสที่สารเคมีจะสะสมในร่างกายได้สูงตามไปด้วย หากไม่มีการตระหนักในเรื่องการปนเปื้อนของสารเคมีที่ใช้ทำความสะอาดอุปกรณ์ที่สัมผัสกับอาหาร ทั้งนี้การที่บุคคลได้รับการสะสมสารเคมีในร่างกายอย่างต่อเนื่อง และมีพฤติกรรมเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งต่างๆ ร่วมด้วยไม่ว่าจะเป็น การรับประทานอาหารที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง หรือพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม ยอมมีโอกาสที่เป็นสาเหตุในการก่อให้เกิดโรคมะเร็งสูงขึ้น สำหรับในกลุ่มผู้ป่วย และกลุ่มญาติผู้ป่วย ความเสี่ยงที่ได้รับเช่นเดียวกับกลุ่มบุคคลทั่วไป แต่มีโอกาสเกิดโรคมะเร็งได้ง่ายในกลุ่มของญาติผู้ป่วย ซึ่งมีความเสี่ยงในเรื่องของการเกิดโรคมะเร็งที่แฝงมากับยีนทางพันธุกรรม และในกลุ่มของผู้ป่วยอาจเกิดการกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงของโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นในบุคคลที่เป็นโรคมะเร็งอยู่ หรืออาจทำให้เกิดเป็นโรคมะเร็งได้ ใหม่ในบุคคลที่เป็นโรคมะเร็งมาก่อน

ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมภายในสถานที่ทำงาน พบว่าประชาชนส่วนใหญ่มีโอกาสสัมผัสกับควันไฟ เนื่องจากประชาชนประกอบอาชีพทางการเกษตรกรรมเป็นหลัก และมีการประกอบอาหารโดยใช้วัสดุที่เป็นเชื้อเพลิงทางธรรมชาติ ดังนั้นจึงมีโอกาสสัมผัสกับควันไฟตลอดเวลา เช่น ควันไฟจากการเผาถ่าน การประกอบอาหารโดยใช้ฟืน การเผาขยะภายในบ้าน รวมถึงการเผาฟางข้าวเพื่อทำการเกษตร จากการที่ประชาชนสัมผัสกับควันไฟมีโอกาสได้รับสารพิษจากควันไฟที่เกิดจากการเผาไหม้วัสดุต่างๆ สะสมภายในร่างกายตลอดเวลาส่งผลให้เกิดเป็นโรคระบบทางเดินหายใจชนิดต่างๆ ขึ้นได้ และหากมีอาการอย่างต่อเนื่องอาจส่งผลต่อการเกิดโรคมะเร็งระบบทางเดินหายใจขึ้นได้ โดยเฉพาะโรคมะเร็งปอด ทั้งนี้หากมีพฤติกรรมเสี่ยงอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การสูบบุหรี่เป็นประจำ และการทำงานในสถานที่ที่มีฝุ่นละอองสูง ยอมทำให้มีโอกาสเกิดโรคมะเร็งได้สูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งได้ผลการวิจัยคล้ายคลึงกับงานของ Dario Consonni and et all. (2009) ศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงในการก่อให้เกิดเป็นโรคมะเร็งปอดจากการสูบบุหรี่ รวมทั้งสารเคมีต่างๆในสถานที่ทำงาน พบว่ากลุ่มที่ทำงานในอาชีพที่มีความเสี่ยงสูง คือกลุ่มที่ทำงานที่สัมผัสกับสารเคมีเป็นประจำ เช่น งานที่เกี่ยวกับการผลิต เซรามิค และงานที่เกี่ยวกับสารเคมีเป็นสารระเหย ร่วมกับการมีพฤติกรรมเสี่ยง คือการสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอร์ ทำให้มีโอกาสเกิดโรคมะเร็งสูงขึ้น เมื่อพิจารณาจากกลุ่มตัวอย่างเป็นรายกลุ่ม พบว่าทั้ง 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ป่วย กลุ่มญาติผู้ป่วย และกลุ่มบุคคลทั่วไป มีความเสี่ยงจากการได้รับสารพิษจากควันไฟของการเผ้าไหม้วัสดุต่างๆ สะสมในร่างกาย โดยเฉพาะของกลุ่มบุคคลทั่วไป และกลุ่มญาติผู้ป่วย ซึ่งมีโอกาสได้รับควันไฟจากแหล่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ควันไฟจากการเกษตร ควันไฟจากการประกอบอาหาร ทำให้ร่างกายได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกายอย่างต่อเนื่องมีโอกาสเกิดโรคระบบทางเดินหายใจได้ง่าย และหากเป็นโรคในระบบทางเดินหายใจเรื้อรังอาจเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งขึ้นได้ ทั้งนี้ในกลุ่มของญาติผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการเกิดเป็นโรคมะเร็งได้สูงกว่ากลุ่มบุคคลทั่วไปด้วย เนื่องจากมียีนแฝงของการเกิดโรคมะเร็งอยู่ภายในร่างกาย สำหรับกลุ่มผู้ป่วยมีโอกาสสัมผัสกับควันไฟจากการประกอบอาหารเป็นส่วนใหญ่ แต่หากได้รับการสัมผัสอย่างต่อเนื่องอาจกระตุ้นโรคมะเร็งให้มีความรุนแรงสูงขึ้น หรือมีโอกาสเกิดเป็นโรคมะเร็งที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจได้

ในส่วนของการเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยระหว่างกลุ่มผู้ป่วยกับกลุ่มญาติผู้ป่วยทั้งหมด พบว่าปัจจัยที่มีค่าความแตกต่างกันมากที่สุดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 (P < 0.033) คือปัจจัยเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน โดยค่าเฉลี่ยรวมปัจจัยเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมภายในบ้านของกลุ่มผู้ป่วย มีค่าเท่ากับ 2.21 + 0.93 และกลุ่มญาติผู้ป่วย มีค่าเท่ากับ 2.12 + 0.97 หากพิจารณาจากค่าความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งจะเห็นได้ว่ากลุ่มของผู้ป่วยมีค่าเฉลี่ยสูงกว่ากลุ่มญาติผู้ป่วย ดังนั้นกลุ่มผู้ป่วยอาจมีโอกาสที่โรคจะทวีความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้น หรือในกลุ่มผู้ที่หายจากโรคแล้วอาจกลับมาเป็นโรคใหม่ได้อีกครั้ง ซึ่งสอดคล้องกับ Ami R Zota (2010) ศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยด้านเคมี และสิ่งแวดล้อมจากการใช้สารเคมีทำความสะอาดภายในบ้านที่มีผล และเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านม พบว่าการใช้สารเคมีทำความสะอาดภายในบ้านและสารเคมีที่ใช้สำหรับปรับอากาศภายในบ้านมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น ร้อยละ30 และในกลุ่มที่ใช้เป็นประจำมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านม ร้อยละ 50

สำหรับการเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยระหว่างกลุ่มผู้ป่วยกับกลุ่มบุคคลทั่วไปทั้งหมด พบว่าปัจจัยที่มีค่าความแตกต่างกันมากที่สุดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 (P < 0.001) คือปัจจัยเสี่ยงด้านพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยค่าเฉลี่ยรวมปัจจัยเสี่ยงด้านพฤติกรรมการรับประทานอาหารของกลุ่มผู้ป่วย มีค่าเท่ากับ 1.90 + 0.50 และกลุ่มบุคคลทั่วไป มีค่าเท่ากับ 2.24 + 0.51 หากพิจารณาจากค่าความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งจะเห็นได้ว่ากลุ่มของบุคคลทั่วไปมีค่าเฉลี่ยสูงกว่ากลุ่มผู้ป่วย ดังนั้นกลุ่มบุคคลทั่วไปอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งสูงขึ้น หากมีพฤติกรรมเสี่ยงด้านการรับประทานอาหาร ได้แก่ การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา และการได้รับสารเคมีร่วมกับปัจจัยเสี่ยงด้านอื่นๆ อาทิเช่น พฤติกรรมเสี่ยงจากการทำงานในสถานที่ที่มีฝุ่นละออง หรือไอระเหยของสารเคมีเป็นประจำ ซึ่งได้ผลการวิจัยคล้ายคลึงกับงานของ Dario Consonni (2009) ศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงในการก่อให้เกิดเป็นโรคมะเร็งปอดจากการสูบบุหรี่ รวมทั้งสารเคมีต่างๆในสถานที่ทำงาน พบว่ากลุ่มที่ทำงานในอาชีพที่มีความเสี่ยงสูง คือกลุ่มที่ทำงานที่สัมผัสกับสารเคมีเป็นประจำ เช่น งานที่เกี่ยวกับการผลิต เซรามิค และงานที่เกี่ยวกับสารเคมีเป็นสารระเหย ร่วมกับการมีพฤติกรรมเสี่ยง คือการสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอร์ ทำให้มีโอกาสเกิดโรคมะเร็งสูงขึ้น

เรื่องนี้ถูกเขียนใน คณะสาธารณสุขศาสตร์ และติดป้ายกำกับ , คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น