โดย ดร.ธีร์ คันโททอง
ความสำคัญการตีพิมพ์บทความสำหรับอาจารย์
การตีพิมพ์บทความสำหรับผู้ที่เป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรนั้นมีความสำคัญมาก ซึ่งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือกระทรวงศึกษาธิการในอดีตจึงได้ประกาศเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี พ.ศ. ๒๕๕๘ และประกาศ ก.พ.อ. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ พ.ศ. ๒๕๖๐ ซึ่งประกาศทั้งสองฉบับนี้ได้ชี้ให้เห็นว่า อาจารย์ทุกท่านควรจะต้องมีการตีพิมพ์บทความเพื่อใช้ประกอบการดูแลหลักสูตรและพัฒนาตนเองในการขอตำแหน่งทางวิชาการต่อไป ซึ่งมีรายละเอียดบางส่วนดังนี้
ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี พ.ศ. ๒๕๕๘
๑๐. จำนวน คุณวุฒิ และคุณสมบัติของอาจารย์
๑๐.๑ หลักสูตรปริญญาตรีทางวิชาการประกอบด้วย
๑๐.๑.๑ อาจารย์ประจำหลักสูตร มีคุณวุฒิขั้นต่ำปริญญาโทหรือเทียบเท่าหรือมีตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ และต้องมีผลงานทางวิชาการที่ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของการศึกษาเพื่อรับปริญญา และเป็นผลงานทางวิชาการที่ได้รับการเผยแพร่ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในการพิจารณาแต่งตั้งให้บุคคลดำรงตำแหน่งทางวิชาการอย่างน้อย ๑ รายการ ในรอบ ๕ ปีย้อนหลัง
ประกาศ ก.พ.อ. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ พ.ศ. ๒๕๖๐
๕ การแต่งตั้งอาจารย์ประจำผู้ใดให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการโดยวิธีปกติให้ดำเนินการ ดังนี้
๕.๑ การแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์
๕.๑.๑ คุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง
ในกรณีที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ผู้นั้นต้องดำรงตำแหน่งอาจารย์ และทำการสอนมาแล้วไม่น้อยกว่าหกปี หรือ
ในกรณีที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทหรือเทียบเท่า ผู้นั้นต้องดำรงตำแหน่งอาจารย์ และทำการสอนมาแล้วไม่น้อยกว่าสี่ปี หรือ
ในกรณีที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกหรือเทียบเท่า ผู้นั้นต้องดำรงตำแหน่งอาจารย์ และทำการสอนมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี และพ้นระยะทดลองการปฏิบัติงานที่กำหนดโดยสถาบันนั้น ๆ
๕.๑.๓ ผลงานทางวิชาการต้องประกอบด้วยผลงานซึ่งมีคุณภาพดี และมีปริมาณอย่างน้อย ดังต่อไปนี้
(๑) ผลงานวิจัย ๒ เรื่อง หรือ
(๒) ผลงานวิจัย ๑ เรื่อง และผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่น ๑ รายการ หรือ
(๓) ผลงานวิจัย ๑ เรื่อง และผลงานวิชาการรับใช้สังคม ๑ เรื่อง หรือ
(๔) ผลงานวิจัย ๑ เรื่อง และตําราหรือหนังสือ ๑ เล่ม
สำหรับการเสนอขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการสาขาวิชาทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์นั้น ผู้ขออาจใช้ผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่น หรือผลงานวิชาการรับใช้สังคมหรือบทความทางวิชาการซึ่งมีคุณภาพดีมาก แทนงานวิจัย ตาม (๒) – (๔) ได้
๕.๒ การแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์
๕.๒.๑ คุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง ผู้ขอต้องดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์และปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปี
๕.๒.๒ ผลการสอน ให้นําความในข้อ ๕.๑.๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ต้องมีความชํานาญพิเศษในการสอน
๕.๒.๓ ผลงานทางวิชาการ ผู้ขออาจเสนอผลงานทางวิชาการ ได้ ๒ วิธี ดังนี้
วิธีที่ ๑ ผลงานทางวิชาการต้องประกอบด้วยผลงานซึ่งมีคุณภาพดี และมีปริมาณอย่างน้อย ดังต่อไปนี้
(๑) ผลงานวิจัย ๒ เรื่อง หรือ
(๒) ผลงานวิจัย ๑ เรื่อง และผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่น ๑ รายการ หรือ
(๓) ผลงานวิจัย ๑ เรื่อง และผลงานวิชาการรับใช้สังคม ๑ เรื่อง และ
(๔) ตํารา หรือ หนังสือ ๑ เล่ม
วิธีที่ ๒ ผลงานทางวิชาการต้องประกอบด้วยผลงานซึ่งมีคุณภาพ และมีปริมาณอย่างน้อย ดังต่อไปนี้
(๑) ผลงานวิจัยอย่างน้อย ๓ เรื่อง ซึ่งมีคุณภาพดีมาก อย่างน้อย ๒ เรื่อง และมีคุณภาพดี ๑ เรื่อง หรือ
(๒) ผลงานวิจัยซึ่งมีคุณภาพดีมาก อย่างน้อย ๒ เรื่อง และผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่นซึ่งมีคุณภาพดี หรือ
(๓) ผลงานวิจัยซึ่งมีคุณภาพดีมาก อย่างน้อย ๒ เรื่อง และผลงานวิชาการรับใช้สังคมซึ่งมีคุณภาพดี
สำหรับการเสนอขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการสาขาวิชาทางสังคมศาสตร์
และมนุษยศาสตร์ โดยวิธีที่ ๒ นั้น ผู้ขออาจใช้ตําราหรือหนังสือซึ่งมีคุณภาพดีมาก อย่างน้อย ๒ เล่ม และมีคุณภาพดี ๑ เล่ม แทนผลงานตาม (๑) – (๓) ได้
การนำงานวิจัยหรืองานใด ๆ ที่ทำเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเพื่อรับปริญญาประกาศนียบัตร หรือเพื่อสำเร็จการศึกษา มาเสนอเป็นผลงานทางวิชาการ ตามข้อนี้จะกระทำมิได้ เว้นแต่ผู้ขอได้แสดงหลักฐานว่าได้ทำการศึกษาหรือวิจัยเพิ่มเติมขยายผลต่อจากเรื่องเดิม จนปรากฏความก้าวหน้าทางวิชาการอย่างเห็นได้ชัด ในกรณีเช่นนี้ให้พิจารณาเฉพาะผลการศึกษาหรือวิจัยที่เพิ่มขึ้นจากเดิมเท่านั้น
ดังนั้นแล้วการตีพิมพ์บทความจึงเป็นส่วนหนึ่งและเป็นส่วนสำคัญที่อาจารย์ทุกท่านจะต้องพัฒนาตนเองซึ่งก็จะเป็นประโยชน์ต่อหลักสูตรและตนเองต่อไป
จากการอบรมเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ การผลิตและพัฒนาผลงานวิจัยให้ได้รับการตีพิมพ์ วันที่ 14 กันยายน 2563 จัดโดยมหาวิทยาลัยเนชั่น โดยมีรศ. ดร.ประทุม สร้อยวงค์ Ph.D., Dip. APMSN คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาเป็นวิทยากร ซึ่งก็ได้ช่วยให้ผู้เข้าร่วมอบรมเกิดความรู้และความเข้าใจในการเตรียมบทความเพื่อการตีพิมพ์เป็นอย่างยิ่งซึ่งมีสาระสำคัญที่พอจะสรุปได้ดังนี้
การเตรียมบทความเพื่อตีพิมพ์
ประการแรก ต้องตอบคำถามก่อนว่า ทำไมต้องเผยแพร่บทความด้วย?
- แบ่งปันความคิดและความเชี่ยวชาญ โดยปกติแล้วมีวัตถุประสงค์เพื่อการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างเพื่อประโยชน์สาธารณะ
- ก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์หรือทฤษฎี
- ผลการวิจัยจะเป็นการแจ้งหรือมีผลต่อนโยบายสาธารณะของรัฐได้
- การนำไปใช้เพื่อการดำรงตำแหน่งทางวิชาการ
- ก้าวหน้าในอาชีพการงาน
- พัฒนาของตัวเองด้านความรู้และทักษะ
ประการที่สอง เราควรมีวิธีการเขียนบทความอย่างไร?
- การจัดสรรเวลาในการเขียน เราต้องปกป้องเวลาเขียนของคุณอย่างไร้ความปรานี
- ความลับของความสำเร็จในการเขียนบทความ คือ ความสม่ำเสมอไม่ใช่จำนวนวันหรือจำนวนชั่วโมง
- มีความต่อเนื่องและตั้งเป้าหมายที่เป็นรูปธรรมสำหรับการเขียนในแต่ละวัน
ประการที่สาม การเลือกวารสารอย่างไรให้เหมาะสมกับบทความ ซึ่งต้องพิจารณาอะไรบ้าง?
- ใครเป็นผู้อ่าน หมายถึง เราเขียนบทความที่ต้องการให้ใครได้อ่าน วารสารแต่ละวารสารก็จะผู้ที่สนใจอ่านแตกต่างกันไป
- บทความที่เราเขียนตรงกับ Aim & scope ของวารสารที่จะตีพิมพ์หรือไม่
- วารสารนั้นตีพิมพ์ตรงกับประเภทของบทความที่เราเขียนหรือไม่
- ดูคำแนะนำหรือเกี่ยวกับการตีพิมพ์ของวารสารที่เลือก หรือ author guideline
- พิจารณาค่า Impact factor (IF) ด้วยว่ามีค่าเท่าไหร่
- วารสารมี peer-reviewed ด้วยหรือไม่และพิจารณาลักษณะของ reviewer ด้วย
- ใครหรือหน่วยงานใดเป็น editorial board
- วารสารนั้นอยู่ในฐานข้อมูลอะไร
การพิจารณาค่า Impact factor และฐานข้อมูลของวารสารเพื่อตีพิมพ์
- ดัชนีชี้วัดชนิดต่าง ๆ ของวารสาร (Journal Metrics)
- ค่า Impact factor หมายถึง จำนวนครั้งโดยเฉลี่ยที่บทความของวารสารนั้นได้รับการอ้างอิงในปีปัจจุบัน หลังจากที่ตีพิมพ์ไปแล้ว 2 ปี
- ค่า 5-year Impact factor หมายถึง จำนวนครั้งโดยเฉลี่ยที่บทความของวารสารนั้นได้รับการอ้างอิงในปีปัจจุบัน หลังจากที่ตีพิมพ์ไปแล้ว 5 ปี
- ค่า Immediacy Index หมายถึง จำนวนครั้งโดยเฉลี่ยที่บทความของวารสารนั้นได้รับการอ้างอิงภายในปีเดียวกัน กับปีพิมพ์ (วัดความเร็วของการถูกอ้างอิง)
- ค่า Impact factor คือ
เป็นค่าที่ใช้วัดและจัดอันดับวารสารทั้งหมดที่อยู่ในฐานข้อมูลสากล Web of Science (WOS) ซึ่งประกอบด้วยฐานข้อมูลย่อย 3 ฐานข้อมูล ได้แก่
– ฐานข้อมูล Science Citation Index (SCI) Expanded
– ฐานข้อมูล Social Science Citation Index (SSCI) และ
– ฐานข้อมูล Arts & Humanities Citation Index (A&HCI)
- ค่าควอไทล์ (Q) คือ
เป็นดัชนีอีกชนิดหนึ่งซึ่งกำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน เป็นการนำวารสารที่อยู่ในกลุ่มสาขาวิชานี้มาเรียงลำดับตามค่า Impact factor จากน้อยไปหามาก และสามารถแบ่งวารสารออกเป็น 4 กลุ่มเท่า ๆ กัน คือ กลุ่ม Q1, Q2, Q3, และ Q4
Q4 = เป็นกลุ่มของวารสารที่อยู่ต่ำกว่าเปอร์เซ็นไทล์ ที่ 25
Q3 = เป็นกลุ่มของวารสารที่อยู่ระหว่างเปอร์เซ็นไทล์ที่ 25 และค่ามัธยฐาน (median)
Q2 = เป็นกลุ่มของวารสารที่อยู่ระหว่างค่ามัธยฐาน (median) และเปอร์เซ็นไทล์ที่ 75
Q1 = เป็นควอไทล์สูงสุด เป็นกลุ่มของวารสารที่อยู่เหนือเปอร์เซ็นไทล์ที่ 75
- ค่า SJR และค่าควอไทล์ (Q) คือ
SJR ย่อมาจาก SCImago journal rank ให้บริการฟรีบนเว็บไซต์ SCImago Journal & Country Rank (http://www.scimagojr.com) เป็นดัชนีที่ครอบคลุมบทความวารสารสาขาวิชา ต่าง ๆ จำนวนกว่า 18,000 ชื่อจากฐานข้อมูล Scopus ของบริษัท Elsevier ซึ่งจะมีการใช้วิธีในการคำนวณหาค่า SJR ที่แตกต่างจากการคำนวณหาค่า Impact factor กล่าวคือ การคำนวนณจะอาศัยหลักการอัลกอริทึมของ Google PageRank โดยมีลักษณะสำคัญดังนี้
1) สาขาวิชาและชื่อเสียงของวารสารมีผลโดยตรงต่อจำนวนการอ้างอิง
2) มีการ Normalize หรือปรับค่าการอ้างอิงวารสารตามสาขา
3) วารสารที่ได้รับการอ้างอิงจากวารสารที่มีค่า SJR สูงอยู่แล้วจะมีผลทำให้วารสารนั้นมีค่า SJR สูงตามไปด้วย
ปัจจุบัน SJR ได้เริ่มมีความสำคัญในประเทศไทย เมื่อ สมศ. หรือสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) กำหนดเกณฑ์การประเมินคุณภาพงานวิจัยที่ตีพิมพ ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ โดย
ให้น้ำหนักคุณภาพของวารสารตามค่าควอไทล์ Q1, Q2, Q3, Q4 จากฐานข้อมูลการจัดอันดับวารสารของ SJR
การเลือกวารสารสำหรับตีพิมพ์
ควรพิจารณาวารสารที่เหมาะสมกับบทความของเรานั้น ควรพิจารณาค่า Impact factor เป็นส่วนประกอบสำคัญเพราะจะเป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพของวารสาร ซึ่งวัดจำนวนครั้งโดยเฉลี่ยที่บทความในวารสารนั้นจะได้รับการอ้างอิงในแต่ละปีและยังมีผลต่อคะแนนในการใช้ประกอบการประกันคุณภาพ (QA) ของหลักสูตรอีกด้วย
เคล็ดลับ 5 อย่างของการเขียนเพื่อเผยแพร่ในเชิงปฏิบัติ
- การเลือกชื่อเรื่องที่ดี
– ดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน ?
– ทำให้ชัดเจนว่าบทความนี้เกี่ยวกับอะไร ?
– สั้นที่สุดโดยไม่สูญเสียข้อความ ?
– แนวคิดหลักการวางไว้ที่จุดเริ่มต้น
2. คำสำคัญ ส่วนสำคัญของการค้นหาบทความ
– คำหลักติดแท็กบทความของคุณในวรรณกรรมค้นหาผ่านเครื่องมือค้นหาและดัชนี
– ผู้เขียนเลือกคำสำคัญที่ส่ง (ปกติ 5-8 คำ / วลี)
– ตรวจสอบ National Library of Medicine -Medical หัวเรื่อง (MeSHterms) สำหรับมาตรฐานตัวอธิบาย (https://meshb.nlm.nih.gov)
– เลือกคำหลักที่เหมาะสม แต่ไม่ซ้ำซ้อนกับชื่อเรื่อง
3. บทคัดย่อ (ส่วนที่สำคัญมาก)
– เป็นการให้ข้อมูลที่เพียงพอสำหรับการทำความเข้าใจในสิ่งที่ทำและวิธีการดำเนินงานของบทความ
– ต้องมีข้อมูลสำคัญครบทุกประเด็น (เช่น ตัวอย่าง วัตถุประสงค์ ขนาดหรือตัวแปร ระเบียบวิธีวิจัย ผลการวิจัย)
– บทคัดย่อโดยทั่วไปควรใช้คำประมาณ 250-350 คำ
– ต้องมีเนื้อหาครบเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของวารสารที่ต้องการตีพิมพ์
– ควรระวังข้อมูลที่เกินความจำเป็น
– ควรมีข้อสรุปที่ได้จากการวิจัย
– ควรระวังข้อผิดพลาดด้านไวยากรณ์ การสะกดคำ หรือเครื่องหมายวรรคตอน
4. เขียนซับซ้อนข้อมูลในเงื่อนไขที่ต้องเข้าใจง่าย ๆ
– บทความที่ดีที่สุด คือ บทความที่มีความซับซ้อนข้อมูลในรูปแบบที่เรียบง่ายและเข้าใจได้ง่าย ๆ
– ผู้อ่านกับประเภทของข้อมูลในบทความนั้น ควรที่จะคล้ายคลึงกันและตรงตามความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย
– การเขียนบทความนั้นเป็นทักษะที่สามารถพัฒนาได้และต้องใช้การปฏิบัติ
5. ตั้งเป้าให้สูงคาดว่าจะมีการแก้ไข
– การแก้ไขตามเพื่อนที่มีคุณภาพสูงตรวจสอบผลผลิตผลิตภัณฑ์ที่แข็งแกร่งที่สุด
– วารสารที่มีคุณภาพสูงสุดมักจะให้การทบทวนโดยเพื่อนที่มีประโยชน์ที่สุดโดยไม่คำนึงถึงของการตัดสินใจของกองบรรณาธิการ
เอกสารอ้างอิง
รศ. ดร.ประทุม สร้อยวงค์ Ph.D., Dip. APMSN คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การอบรมเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ การผลิตและพัฒนาผลงานวิจัยให้ได้รับการตีพิมพ์ วันที่ 14 กันยายน 2563 จัดโดยมหาวิทยาลัยเนชั่น
ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี พ.ศ. ๒๕๕๘ ค้นหาเมื่อ 21 มิถุนายน 2564 จาก http://www.mua.go.th/users/bhes/front_home/criterion58/criterion%20_m58.PDF
ประกาศ ก.พ.อ. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ พ.ศ. ๒๕๖๐ ค้นหาเมื่อ 21 มิถุนายน 2564 จาก http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/E/265/43.PDF
อ่านเอกสารเพิ่มเติม:
BasicStatistics_1 BasicStatistics_2 ExperimentalResearch HowToWriteAnArticle NonExperimentalResearch