การเตรียมความพร้อมในการยื่นขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ

อาจารย์อดิศักดิ์ จำปาทอง เรียบเรียง

แนวปฏิบัติในการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ เรียบเรียงมาจาก การประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การเตรียมความพร้อมในการยื่นขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 เดือน พฤศจิกายน 2564 เวลา 09.00-16.00 น. ผ่านระบบ Google Meet จัดโดย สำนักวิชาการ มหาวิทยาลัยเนชั่น และมหาวิทยาลัยเวสเทิร์น วิทยากรโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดาวรุ่งรตา วงษ์ไกร ผู้ช่วยอธิการบดี ผู้อำนวยการสำนักวิชาการ และเลขานุการคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น

กรอบเนื้อหา

1. ระเบียบคณะกรรมการการอุดมศึกษาเกี่ยวกับมาตรฐานหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งคณาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ
2. แนวปฏิบัติการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ
3. แนวปฏิบัติในการเสนอขอให้พิจารณากลั่นกรอง
4. การยื่นขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ และปัญหา อุปสรรคในการดำเนินการ

องค์ประกอบในการกำหนดตำแหน่งวิชาการ ประกอบด้วย

1. คุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง

1.1 ผู้ช่วยศาสตราจารย์
ปริญญาตรี ต้องเป็นอาจารย์มาแล้ว 6 ปี
ปริญญาโท ต้องเป็นอาจารย์มาแล้ว 4 ปี
ปริญญาเอก ต้องเป็นอาจารย์มาแล้ว 1 ปี และพ้นการทดลองงานแล้ว

1.2 รองศาสตราจารย์
ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์มาแล้ว 2 ปี

1.3 ศาสตราจารย์
ดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์มาแล้ว 2 ปี

2. การประเมินผลการสอน

2.1 มีชั่วโมงสอนประจำวิชาใดวิชาหนึ่งที่กำหนดไว้ในหลักสูตรของสถาบัน ซึ่งเทียบค่าได้ไม่น้อยกว่า 3 หน่วยกิต ในระบบทวิภาค

2.2 เสนอเอกสารหลักฐานเพื่อประกอบการประเมิน

2.3 คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการของสถาบันทำหน้าที่ประเมินผลการสอนตามข้อบังคับของสภาสถาบัน

2.4 กรณีที่สถาบันเห็นว่ามีระบบการประเมินผลการสอนของคณาจารย์ประจาปีที่ครอบคลุมประเด็นที่กำหนดอาจใช้ระบบประเมินดังกล่าวแทนได้

2.5 อาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อประเมินผลการสอนได้

3. การประเมินผลงานทางวิชาการ จะพิจารณาจาก

3.1 ประเภทของผลงานวิชาการ

3.2 การเผยแพร่

3.3 การมีส่วนร่วมในผลงานวิชาการ

3.4 ความสอดคล้องกับสาขาวิชาที่เสนอขอ

4. วางแผนขอตำแหน่งวิชาการ ประกอบด้วยผลงานดังนี้

4.1 เอกสารประกอบการสอน/เอกสารคำสอน

4.2 งานวิจัย

4.3 หนังสือ/ตารา

4.4 ผลงานใช้สังคมและอื่น ๆ

สิ่งที่ควรพิจารณา

1. ผลงานทางวิชาการทุกประเภท ต้องเป็นผลงานหลังจากได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการเดิมและได้รับการเผยแพร่ตามหลักเกณฑ์ที่ ก.ก.อ.กำหนด

2. แหล่งเผยแพร่ทุกกรณี ต้องผ่านการประเมินคุณภาพโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (peer reviewer) ที่มาจากหลากหลายสถาบัน

3. การกำหนดสาขาวิชาที่แต่งตั้งต้องสอดคล้องกับผลงานที่เสนอขอ โดยพิจารณาจาก 1) ภาระงานสอน 2) ผลงานทางวิชาการที่ใช้ขอ 3) เป็นสาขาที่เป็นระบบสากล แสดงให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญ ได้รับการยอมรับในวงวิชาการและวิชาชีพสาขาวิชานั้น ๆ ไม่ใช่พิจารณาจาก 1) วุฒิการศึกษา/วิชาเอก/สาขาที่สำเร็จการศึกษา 2) ภาควิชา คณะ หลักสูตรที่สังกัด

4. การขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการในระดับตำแหน่งและสาขาวิชาเดียวกับที่เคยเสนอขอ หากมีการนำผลงานทางวิชาการเดิมที่เคยเสนอขอมาขออีกครั้ง ทั้งนี้ไม่ว่าจะโดยผู้ขอคนเดิมหรือคนใหม่ ให้ใช้ผลการพิจารณาเดิมแต่ละชิ้นที่ผ่านการพิจารณามาแล้วโดยไม่ต้องพิจารณาใหม่ เว้นแต่คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเห็นว่าเป็นผลงานที่ล้าสมัย โดยต้องระบุเหตุผลทางวิชาการโดยชัดแจ้งด้วย

5. จริยธรรมและจรรยาบรรณ

5.1 ต้องมีความซื่อสัตย์ทางวิชาการ ไม่นำผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตน ไม่ลอกเลียนผลงานของผู้อื่น ไม่นำผลงานของตนเองในเรื่องเดียวกันไปเผยแพร่ในวารสารวิชาการมากกว่า 1 ฉบับในลักษณะที่จะทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นผลงานชิ้นใหม่ ไม่คัดลอกข้อความใด ๆ จากผลงานของตนโดยไม่อ้างอิง ทั้งนี้ ในลักษณะที่จะทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นผลงานใหม่

5.2 ให้เกียรติและอ้างถึงบุคคลหรือแหล่งที่มาของข้อมูลที่นำมาใช้

5.3 ต้องไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ทางวิชาการจนละเลยหรือละเมิดสิทธิ์ส่วนบุคคลของผู้อื่น

5.4 ผลงานวิชาการต้องได้มาจากการศึกษาโดยใช้หลักวิชาการเป็นเกณฑ์ ไม่มีอคติ เสนอผลงานตามความเป็นจริง ไม่จงใจเบี่ยงเบนผลการวิจัยโดยหวังประโยชน์ส่วนตัวหรือต้องการสร้างความเสียหายแก่ผู้อื่น ไม่ขยายข้อค้นพบโดยปราศจากการตรวจสอบยืนยันในทางวงวิชาการ

5.5 ต้องนำผลงานไปใช้ประโยชน์ในทางที่ชอบธรรมและชอบด้วยกฎหมาย

5.6 หากมีการใช้ข้อมูลจากการทำวิจัยในคนหรือสัตว์ ต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการวิจัยในมนุษย์

6. วันที่แต่งตั้ง

6.1 วันที่สภารับเรื่อง = คุณสมบัติและผลงานครบถ้วนตั้งแต่วันที่รับเรื่อง

6.2 วันที่สภาได้รับผลงานฉบับปรับปรุง = กรณีที่มีการปรับปรุงผลงาน (ยกเว้นงานวิจัยและบทความวิชาการ)

6.3 วันที่สภาได้รับผลงานเพิ่มเติม = กรณีที่ส่งผลงาน หลักฐานแหล่งอ้างอิง และหลักฐานความเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการเพิ่มเติม

6.4 วันที่สภาได้รับงานวิจัยหรือบทความวิชาการฉบับเผยแพร่แล้ว = กรณีงานวิจัยหรือบทความวิชาการได้รับหนังสือรับรองจากบรรณาธิการวารสารว่าจะเผยแพร่ให้เมื่อใด ฉบับใด

6.5 วันที่สภารับเรื่องและก่อนวันลาศึกษาต่อ = กรณียื่นขอแล้วและต่อมาได้รับอนุมัติให้ลาศึกษาต่อ หากคุณสมบัติและผลงานอยู่ในเกณฑ์โดยไม่มีการปรับปรุงแก้ไข

6.6 วันที่สภารับเรื่องหรือได้รับผลงานฉบับปรับปรุง/เพิ่มเติม = กรณียื่นขอไว้แล้วและต่อมาถึงกำหนดเกษียณอายุ

โพสท์ใน KM:ด้านการวิจัย, คณะนิเทศศาสตร์, แนวทางการผลิตงานวิจัยเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ | ใส่ความเห็น

Upskill, Reskill และ Transferable skills ในโลกการทำงานยุคใหม่

อาจารย์อดิศักดิ์ จำปาทอง เรียบเรียง

การเรียนรู้ตามหลักสูตรจากในรั้วมหาวิทยาลัยนั้น เข้าใจว่าทุกคนคงเรียนมาเหมือนกันหมด หรือไม่แตกต่างกันมากมาย และความรู้ในแต่ละด้านนี้ บัณฑิตใหม่คงได้เรียนมามากเพียงพอเเล้ว แต่อย่าลืมว่า ในการทำงานจริงนั้น ไม่ได้ใช้ความสามารถเพียงด้านเดียว เราต้องลองหาความรู้ใหม่ ๆ ให้เราสามารถสร้างจุดเด่นให้ตัวเราเอง ซึ่งการลงทุนลองหาความรู้ใหม่ ๆ จะพาให้เราได้ทำอะไรใหม่ ๆ เสมอ เสมือนเป็นโอกาสดี ๆ ที่เราหาได้ นอกจากนี้ เวลาในชีวิตของเเต่ละคนนั้นมีจำกัด เราไม่ควรทำตามความฝันของคนอื่น เราต้องเดินตามฝันของตัวเอง จงคิดไว้เสมอว่า ความรู้ในมหาวิทยาลัยเป็นเพียงจุดเริ่มต้น เเต่ความรู้อื่น ๆ ที่เราต้องเรียนรู้ยังมีอีกมาก

บัณฑิตใหม่จึงควรที่จะเรียนรู้ 3 คำนี้ไว้ ได้แก่ Upskill, Reskill และ Transferable skills เพื่อเตรียมความพร้อมในโลกการทำงานยุคใหม่

1. Upskill 

เป็นการฝึกทักษะที่มีอยู่แล้วหรือทักษะใหม่ของสายอาชีพที่เรียนมา เพื่อให้เก่งขึ้นและพร้อมทำงานในสายนั้นทันที และเพิ่มโอกาสในการได้งานทำ

2. Reskill 

เป็นการเรียนรู้ทักษะใหม่ เพื่อทำงานนอกสายอาชีพที่เรียนมา เช่น เรียบจบด้านนิเทศศาสตร์ และ Reskill ด้านการตลาด เพื่อเปลี่ยนสายงานไปทำงานด้านการตลาด เป็นต้น

2.1 การสำรวจ Skill ของตนเอง

2.1.1 ในกรณีที่เลือกทำงานในสายที่เรียนมา ต้องถามตัวเองว่า

๐ อยากทำงานในตำแหน่งอะไร หรือตำแหน่งอะไรที่เราสามารถทำได้?
๐ ตำแหน่งดังกล่าว หน่วยงานต้องการคนที่มีทักษะอะไร? เรามีทักษะดังกล่าวหรือไม่?
๐ ถ้าเรามีทักษะไม่เพียงพอ ก็ควรต้อง Upskill นั้น แต่ถ้าไม่มีเลยก็ต้อง Reskill เทียบเท่ากับการเรียนรู้ใหม่ แม้จะเป็นสายที่เรียนมา แต่เรายังไม่เคยเรียนมาก่อน

2.2.2 ในกรณีที่เลือกทำงานนอกสายที่เรียน ต้องถามตัวเองว่า

๐ อยากทำงานสายไหน? ในตำแหน่งอะไร?
๐ ตำแหน่งที่อยากทำ ต้องมีทักษะอะไรบ้าง? และเรามีทักษะเหล่านั้นหรือไม่?
๐ ถ้าเรามีทักษะไม่เพียงพอ ก็ควรต้อง Upskill นั้น แต่ถ้าไม่มีเลย ก็ต้อง Reskill ทั้งหมด ให้พร้อมทำงานในตำแหน่งดังกล่าว

2.2 การสำรวจว่า ตำแหน่งงานที่เราอยากทำ หน่วยงานต้องการทักษะใดบ้าง?

2.2.1 ดูที่ประกาศงานของบริษัทในตำแหน่งที่ต้องการสมัคร ว่าคุณสมบัติที่ต้องการเป็นอย่างไร? ต้องมีทักษะอะไรบ้าง? รวมถึงหน้าที่ในงานนั้นต้องใช้เครื่องมือใดทำงาน ซึ่งเราควรต้องมีทักษะในการใช้เครื่องมือนั้น

2.2.2 การสอบถามรุ่นพี่ที่ทำงานในตำแหน่งนั้น หรือในสายอาชีพนั้น เพื่อทราบข้อมูลที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น เช่น ตำแหน่งนักประชาสัมพันธ์ เน้นการใช้โปรแกรมใด คำสั่งไหนในการทำงาน ถ้าเราเตรียมพร้อมและทำได้อย่างคล่องแคล่ว โอกาสได้งานก็สูงมาก

การเตรียมทักษะในการทำงาน บัณฑิตใหม่ควรมีทักษะที่พร้อมทำงานในตำแหน่งนั้น ก่อนไปสมัครงาน เพื่อหน่วยงานจะได้ลดภาระในการสอนงานลงไป

3. Transferable Skills

คือ ทักษะในการทำงานที่สามารถนำไปใช้ต่อหรือต่อยอดได้เรื่อย ๆ ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไร หรือเปลี่ยนสายงานไปทำอย่างอื่น ก็ยังจะสามารถนำ Transferable Skills ไปใช้ในการทำงานให้มีประสิทธิภาพและโดดเด่นขึ้นได้ มีความพิเศษตรงที่จะทำให้เราเป็นคนที่ยืดหยุ่นสูง และเป็นที่ต้องการอยู่เสมอ ซึ่งแต่ก่อนมักจะเป็นสกิลที่จำเป็นสำหรับผู้บริหารและเจ้าของธุรกิจ แต่เดี๋ยวนี้ที่เทคโนโลยีทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ได้ง่าย ทำให้ Transferable Skills เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคนที่ต้องการสร้างความโดดเด่นให้กับตัวเอง

Transferable Skills ได้แก่ทักษะอะไรบ้าง?

3.1 Creativity หรือ ทักษะความคิดสร้างสรรค์ ที่สามารถนำไปสู่การสร้างแก้ปัญหาที่ฉลาดมากขึ้น หรืออาจเลยไปถึงการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมาได้

3.2 Critical Thinking หรือ ทักษะการคิดเป็นเหตุเป็นผล สามารถคิดวิเคราะห์ ลำดับความสำคัญได้ดี 

3.3 Problem Solving หรือ ทักษะการแก้ปัญหา ทั้งการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แล้วปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้น สามารถวางแผนจัดการกับปัญหาและควบคุมอารมณ์ตัวเองได้

3.4 Communication หรือ ทักษะการสื่อสารที่สามารถสื่อสารได้เข้าใจง่าย และครบถ้วน ตรงประเด็น เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับทุกคน

3.5 Presentation Skills หรือ ทักษะการนำเสนอ ทั้งการนำเสนอและไอเดีย เพื่อให้คนอื่นสามารถเข้าถึงได้และเข้าใจได้ง่าย และน่าสนใจ

3.6 Teamwork หรือ ทักษะการทำงานเป็นทีม ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันกับคนอื่นได้ดี ที่จะนำไปสู่การเสริมจุดเด่น และลบจุดด้อยให้กับทีม เพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด

3.7 Digital Literacy หรือ ทักษะความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งในแง่ของอุปกรณ์ เช่น คอนพิวเตอร์ มือถือ แท็บเล็ต รวมถึงโปรแกรมและ Social Media ต่าง ๆ โดยสามารถเข้าใจการทำงาน และนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการทำงาน

3.8 Ability to learn new things หรือ ทักษะการเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่เสมอ ไม่หยุดที่จะเรียนรู้ พร้อมเปิดรับความรู้ใหม่ ๆ เทคโนโลยีใหม่ ๆ มีความใส่ใจ และหมั่นหาความรู้ Upskill และ Reskill ของตัวเองอยู่เสมอ

เรียบเรียงจาก:

1. ประสบการณ์ของผู้เรียบเรียง

2. เทคนิคการ Upskill & Reskill ให้ตรงความต้องการนายจ้าง ฉบับเด็กจบใหม่

https://www.jobbkk.com/variety/detail/5899/เทคนิคการ Upskill&Reskill ให้ตรงความต้องการนายจ้าง ฉบับเด็กจบใหม่

3. เด็กจบใหม่ต้องฟัง Transferable skills สกิลจำเป็นที่ไม่มีสอน แต่บริษัทต้องการ

เด็กจบใหม่ต้องฟัง Transferable skills สกิลจำเป็นที่ไม่มีสอน แต่บริษัทต้องการ

โพสท์ใน KM:ด้านการผลิตบัณฑิต, การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ, คณะนิเทศศาสตร์ | ใส่ความเห็น

แนวทางการนําเสนอผลงานวิจัยด้วยวาจา (Oral Presentation)

อาจารย์อดิศักดิ์ จำปาทอง เรียบเรียง

เป็นงานที่นักวิจัยต้องเตรียมตัวให้มีความพร้อมทั้งด้านความเชื่อมั่นในตนเอง ความลึกซึ้งในสาระที่จะนําเสนอ และต้องมีทักษะของการนําเสนอ การเตรียมตัวที่ดีจะช่วยให้นักวิจัยประสบความสําเร็จได้ โดยการนําเสนอที่มีประสิทธิภาพ พิจารณาจากความสามารถของใช้เทคนิควิธีการสื่อสารที่ทําให้ผู้ฟังสนใจ ผู้ฟังเข้าใจในเรื่องที่นักวิจัยนําเสนอ ภายในเวลาที่กําหนด

การฝึกซ้อมการนําเสนอ เป็นเรื่องจําเป็นสําหรับนักวิจัยมือใหม่ทุกคน และการซักซ้อมเตรียมการนําเสนอแต่ละครั้ง ก็เป็นเรื่องจําเป็นมากสําหรับนักวิจัยทุกคน ไม่ว่าจะเป็นมือใหม่หรือมือเก่า ทั้งนี้ เพราะสิ่งที่นําเสนอคือการค้นพบความรู้ใหม่ หรือวิธีใหม่ หรือการประยุกต์ความรู้ในสถานการณ์ใหม่ และเหนือสิ่งอื่นใดคือ กลุ่มคนฟังเป็นกลุ่มใหม่ นักวิจัยจึงไม่ควรมองข้ามความจําเป็นของการเตรียมพร้อมเพื่อให้การนําเสนอเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น การนําเสนอผลงานวิจัยอย่างมีประสิทธิภาพจะต้องดําเนินการอย่างน้อย 3 ประการ ดังนี้

1. การเตรียมการนําเสนอ

สถานการณ์ในการนําเสนอผลงานวิจัย เสมือนการประชุมที่ผู้เข้าประชุมมาด้วยความตั้งใจ เขามาเพื่อฟังผลงานของเรา ฟังในเวลาที่กําหนด ดังนั้น ผู้นําเสนอจําเป็นต้องเตรียมให้พร้อม ไม่ให้ผู้ฟังผิดหวัง นั่นหมายถึง ผู้รายงานเองจะได้รับเกียรติและสมหวัง โดยมีการเตรียมตัว ดังนี้

1.1 การวางแผนการนําเสนอที่ดี ทบทวนงานวิจัยที่จะนําเสนออย่างเข้าใจ คํานึงถึงเวลาที่กําหนดให้ในการนําเสนอ

1.2 การเตรียมการพูด เช่น กล่าวแนะนําตัว กล่าวแนะนําโครงการวิจัย ให้มีสาระเพียงพอที่จะให้ผู้ฟังเข้าใจว่า โครงการที่นําเสนอ คือเรื่องที่อะไร เกี่ยวกับอะไร มีความสําคัญอย่างไรที่ทําให้นักวิจัยทําวิจัยเรื่องนี้ คําถามวิจัยที่ต้องการหา คําตอบคืออะไร นักวิจัยคาดหวังจะนําคําตอบหรือผลการวิจัยไปทําให้เกิดประโยชน์อย่างไร

1.3 การเตรียมเนื้อหาของการนําเสนอ เช่น วัตถุประสงค์ของการวิจัย กรอบความคิดเชิงทฤษฎี สรุปการค้นคว้า อ้างอิงหลักการหรือทฤษฎีที่คัดสรร คําศัพท์เฉพาะ กระบวนการวิจัยในการหาคําตอบทําอย่างไร การจัดการข้อมูล มีวิธีการอย่างไรที่จะตอบคําถามวิจัย ได้ผลการสรุปการวิเคราะห์อย่างไร

1.4 การเตรียมรายงานถึงสรุปผลการวิจัย เป็นการสรุปผลวิจัยเป็นองค์ความรู้ที่ได้จากการใช้ข้อมูลมาอธิบาย หรือเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ การเสนอความเชื่อมโยงระหว่างผลการวิจัยกับวัตถุประสงค์หรือสมมุติฐานของการวิจัย การชี้ประเด็นให้เห็นประโยชน์ที่น่าจะได้จากผลการวิจัย และเสนอแนวทางการค้นหาความรู้ที่ยังขาด เพื่อเติมเต็มความรู้และประโยชน์ เป็นแนวทาง การวิจัยครั้งต่อไปอย่างเหมาะสม และเป็นไปได้ ทั้งนี้ควรมีความเชื่อมโยงกับหลักการหรือทฤษฎี และความ คาดหวังที่ได้กล่าวมาแล้ว

1.5 การเตรียมการตั้งคําถาม หรือ เชิญชวนให้ผู้ฟังตั้งคําถาม ซึ่งจําเป็นต้องมีแผนจัดการกับเวลาที่กําหนด จึงจะมีโอกาสให้ตั้งคําถามได้

1.6 การเตรียมสื่อการนําเสนอ โดยสื่อที่นักวิจัยใช้มีหลายชนิด เช่น เครื่องฉายข้ามศีรษะ สไลด์-คอมพิวเตอร์ วิดีโออุปกรณ์ และเอกสารสรุปย่อ เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้วิจัยต้องเลือกให้เหมาะสมกับความถนัดของตน และ สามารถจัดหาได้ใน เวลาที่นําเสนอ โดยมีหลักว่า เรียบง่าย ชัดเจน และเหมาะสม และนักวิจัยต้องซ้อมจนคล่อง ต้องมั่นใจว่า เวลานําเสนอ สามารถจัดการหากมีปัญหาต้อง สามารถแก้ไขได้

ในปัจจุบันสื่อที่ใช้ในการนำเสนอผลงานส่วนใหญ่ใช้ไลด์ PowerPoint โดยนักวิจัยจะต้องเตรียม ดังนี้

1.6.1 ออกแบบรูปแบบของสไลด์ โดยเลือกเนื้อหาสาระที่สําคัญไปนําเสนอเท่านั้น โดยปกติหากใช้เวลานําเสนอ 10-30 นาที สไลด์ไม่ควรเกิน 20 แผ่น ซึ่งประกอบด้วย 1. ชื่อเรื่องและชื่อผู้วิจัย 2. ความเป็นมาหรือปัญหาการวิจัย 3. ความสําคัญและประโยชน์ของการวิจัย 4. วัตถุประสงค์การวิจัย 5. ระเบียบวิธีวิจัย กลุ่มตัวอย่าง เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล 6. ผลการวิจัย 7. อภิปรายผล 8. ข้อเสนอแนะจากการวิจัย

1.6.2 ภาพเคลื่อนไหว (Animation) หรือรูปภาพ ต้องใช้ภาพเคลื่อนไหว (Animation) หรือรูปภาพบ้าง เพื่อดึงดูดความสนใจ แต่ไม่ควรมีมากเกินไป ผู้วิจัยต้องตระหนักว่าผู้ฟังต้องการฟังเนื้อหามากกว่า

1.6.3 ตัวอักษร ควรเลือกชนิดและขนาดตัวอักษรให้เหมาะสมกับตําแหน่งที่ผู้เข้าประชุมจะเห็นได้ชัด หากใช้ภาษาอังกฤษ ไม่ใช้ตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมด เพราะทําให้อ่านยาก และไม่ควรใช้ชนิดของตัวอักษรมากกว่า 2 ชนิด หากต้องการ เน้นคําให้ใช้ตัวหนาดีกว่าใช้สีตัวอักษรที่แตกต่างกัน ควรใช้สัญลักษณ์ให้น้อยที่สุด และควรพิสูจน์อักษรอย่าให้มีคําผิด

1.6.4 ใช้สีพอเหมาะ ไม่มากไม่น้อยเกินไป และใช้โทนสีพื้นที่ช่วยให้สามารถตัวอักษรได้เด่นชัด

1.6.5 ข้อความ จํานวนข้อความต่อหนึ่งสไลด์ ไม่ควรมีมากเกินไปและหลีกเลี่ยงการนําตารางหรือข้อความจากบทความวิจัยมาวางลงบนสไลด์

1.6.6 ตรวจทานความถูกต้อง ควรมีการตรวจทานการสะกดคําในทุกสไลด์ให้ถูกต้องโดยไม่ให้มีคําผิดปรากฏอยู่

2. การนําเสนอ

2.1 การควบคุมสติ มีความเชื่อมั่น ไม่ประหม่า ทั้งนี้ เป็นภาวะที่เกี่ยวข้องกับผลการฝึกซ้อมมาก บางคนที่รู้ตัวว่ามักขาดความเชื่อมั่นเมื่อมีผู้ฟังจํานวนมาก ก็จําเป็นต้องฝึกซ้อมกับสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกัน หรือหาประสบการณ์จากการเข้าประชุมหลายที่ผู้เขียนรู้จักนักวิจัยที่มีประสบการณ์การนําเสนอหลายเวที มีความเชื่อมั่นมาก และมีทักษะมาก

2.2 การวางตัว วางท่าทาง โดยเฉพาะการวางมือเช่นเดียวกับบุคลิกภาพที่สง่า ย่อมเกิดจากความเชื่อมั่นในตนเอง ดังนั้นการฝึกซ้อมที่มากพอจะสร้างบุคลิกภาพที่สง่าได้

2.3 การแต่งกาย เป็นเรื่องที่มักละไว้ในฐานที่เข้าใจว่า นักวิจัยรู้เรื่องนี้แล้ว ไม่จําเป็นต้อง กล่าวถึง แต่หลายครั้งที่พบว่า การที่ผู้นําเสนอไม่ได้ให้ความสําคัญกับการแต่งตัว ก็ลดทอนความสง่าได้ นอกจากนี้ มีกรณีที่พบว่า ความไม่พิถีพิถันและรอบคอบอาจทําให้กระทบกับความเชื่อมั่นได้

2.4 การควบคุมเวลา ถึงแม้นักวิจัยจะเตรียมการในการวางแผนอย่างดีแล้วก็ตาม ในสถานการณ์ จริงของการนําเสนอ นักวิจัยจําเป็นต้องควบคุมเวลา ให้สามารถพูดในสาระสําคัญได้ครบถ้วน

3. การประเมินเพื่อพัฒนาการนําเสนออย่างมีประสิทธิภาพ

นักวิจัยมักจะประเมินด้วยการสังเกตตนเอง และปฏิกิริยาของผู้ฟัง และบรรยากาศโดยรอบ ในห้องประชุม แต่การประเมินมักมีการประเมินอย่างเป็นระบบเพื่อประโยชน์ต่อผู้นําเสนอ ควรออกแบบการ ประเมินที่จะได้สารสนเทศสนองต่อนักวิจัยที่จะนําไปพิจารณาปรับปรุงการนําเสนอครั้งต่อไป

ข้อพึงปฏิบัติการนําเสนอที่มีประสิทธิภาพ

1. การเตรียมนําเสนอ ควรมีการวางแผน กําหนด โครงสร้างสาระที่จะนําเสนอ มีลําดับและความสอดคล้องตลอด เรื่องที่นําเสนอ

2. เวลา ควรวางแผนเวลาที่ใช้ในการนําเสนอ แต่ละหัวข้อประมาณ 1-2 นาที

3. การเตรียมตัว มีการเตรียมการนําเสนอ ฝึกฝน การพูดให้กระชับ ชัดเจน ซ้อมพูดและจับเวลาในทุกหัวข้อ ปรับ สาระและการพูดให้ตรงประเด็น กระชับ

4. สื่อการนําเสนอ วางแผนการใช้สื่อให้พอเหมาะ กับสาระ ทั้งจํานวนและเวลาในการนําเสนอ

5. เนื้อหา ควรปรับเนื้อหาให้ตรงประเด็น กระชับ อ่านง่ายและควรคํานึงถึงคนฟังด้วย

6. การพูด ควรออกเสียงชัดเจน จังหวะเหมาะสม ไม่รีบร้อนและลนลานจนเกินไป

7. จุดหมาย ควรชี้แจงถึงจุดหมายของการนําเสนอ อธิบายถึงเหตุผลของการวิจัยอย่างชัดเจน

8. ผู้ฟัง การนําเสนอควรเน้นการสร้างความเข้าใจแก่ผู้ฟัง มีวิธีที่ให้ผู้ฟังเข้าใจในเรื่องที่ซับซ้อน

ข้อไม่พึงปฏิบัติที่การนําเสนอที่ไม่มีประสิทธิภาพ

1. การอ่าน อย่าอ่านเอกสารแทนการพูด ควรเตรียมการพูดก่อนการนําเสนอ

2. อุปกรณ์ ควรมีการฝึกนําเสนอในอุปกรณ์ที่ตนเองถนัด หรือฝึกฝนจนเกิดความคล่องแคล่ว

3. ข้อมูล อย่านําเสนอตารางที่มีข้อมูลมากมายที่ยังไม่ได้วิเคราะห์ หรือมีรายละเอียดเกิน ความจําเป็นของการอธิบายสาระ

4. ความซับซ้อน อย่านําเสนอเนื้อหาที่มีความซับซ้อน ควรแสดงเฉพาะส่วนที่เข้าใจได้ง่าย และได้สรุปตีความที่ตรงประเด็น

5. สื่อ อย่าใช้สื่อหลายอย่างที่ไม่เกิดประโยชน์แก่ผู้ฟัง รวมถึงลูกเล่นต่าง ๆ ใช้เท่าที่จําเป็น

6. การพูด ไม่ควรใช้วาจายกตน ชมตนเอง หรือดูถูกผู้ฟัง

7. เวลา อย่าใช้เวลาเกินกําหนด เพราะเป็นการแสดงถึงการไม่เตรียมพร้อมในการนําเสนอ

ข้อมูลจาก:

1. ประสบการณ์ของผู้เรียบเรียง

2. กลุ่มพัฒนาบุคคล กองการเจ้าหน้าที่ กรมพัฒนาที่ดิน

http://www1.ldd.go.th/WEB_PSD/knowledge/knowledge/2556/bt-bc/3/2.pdf

3. แนวปฏิบัติที่ดีในการนำเสนอผลงานวิจัยด้วยวาจาในที่ประชุมวิชาการนานาชาติ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สายวรุณ จำปาวัลย์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุสาห์ภรณ์ สุขารมณ์ ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

http://west.hu.swu.ac.th/Portals/13/files/action57_1.pdf

โพสท์ใน KM:ด้านการวิจัย, คณะนิเทศศาสตร์, แนวทางการผลิตงานวิจัยเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ | ใส่ความเห็น

การเขียนรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์

อาจารย์อดิศักดิ์ จำปาทอง เรียบเรียง

เมื่อได้ดำเนินการวิจัยจนเสร็จสิ้นแล้ว ขั้นตอนสุดท้ายคือ การเขียนรายงานวิจัย การเขียนรายงานหมายถึง การเสนอผลงานที่ได้ศึกษา ค้นคว้ามาแล้ว และได้พบความจริง หรือได้รับความรู้ใหม่ ๆ ประการใดบ้าง การรายงานเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้อื่นได้รู้ว่า ในการทำวิจัยนั้น มีปัญหาอะไร และมีประโยชน์อย่างไรแทนการที่จะต้องไปศึกษาใหม่ทั้งหมด

การเขียนรายงานนั้นแตกต่างจากการเขียนเรียงความ หรือบทความเพื่อแสดงความคิดเห็น แต่การเขียนรายงานการวิจัยนั้นจะต้องเป็นไปตามระเบียบปฎิบัติของการวิจัย เป็นการเตรียมการ และเผยแพร่ผลงานวิจัย เพื่อให้ผู้สนใจอื่น ๆ ศึกษาหรือทำซ้ำได้ การเขียนวิจัยจะต้องเขียนตามรูปแบบ ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย ถูกต้อง และรวบรวมอย่างมีระบบ ดังนั้น การเขียนรายงานวิจัยจึงควรเขียนบรรยายตามข้อเท็จจริง ตามที่ได้ศึกษามา โดยการใช้ภาษาง่าย ๆ และตรงไปตรงมา มีการลำดับเหตุการณ์ และกระบวนการอย่างชัดเจน ข้อความนั้น ๆ จะต้องสามารถทำให้ผู้อ่านเห็นภาพได้อย่างชัดเจน

การเขียนรายงานวิจัยนั้น เป็นการเขียนอย่างมีแบบแผนที่เป็นสากลนิยม ซึ่งผู้เขียนจะต้องใช้เวลาศึกษาให้เข้าใจเป็นอย่างดี และทำได้ถูกต้อง มีรายละเอียดปลีกย่อยที่เป็นกฎเกณฑ์ของการทำวิจัย เช่น การกำหนดบท การย่อหน้า การเว้นขอบ การเขียนตาราง การอ้างอิง การเขียนเชิงอรรถ และการใช้การอ้างอิงอย่างมีเหตุผล และเป็นระบบมีการวิจารณ์ วิเคราะห์ และเสนอแนะ และนำเสนอผลการวิจัย ซึ่งผู้วิจัยจะต้องพิจารณาว่าจะเขียนรายงาน และสำเสนอผลในรูปแบบใด ที่จะทำให้งานวิจัยนั้นน่าสนใจมากที่สุด และทำให้ผู้อื่น หรือผู้สนใจอ่านเข้าใจได้ง่าย ความจริงแล้ววิธีการเขียนรายงานวิจัยนั้น สามารถเขียนได้หลายวิธีสุดแล้วแต่ว่าผู้วิจัยจะกำหนดออกมาในลักษณะใด อย่างไรก็ตามถึงแม้นว่ารูปแบบ และโครงสร้าง ของการเขียนในแต่ละบุคคล และแต่ละสถาบันจะแตกต่างกันตามความนิยม แต่ส่วนใหญ่แล้วจะต้องมีมาตรฐานร่วมกันอยู่บ้าง ซึ่งผู้วิจัยจะต้องพิจารณาว่าจะเขียนรายงาน และนำเสนอผลในรูปแบบใด ที่จะทำให้งานวิจัยนั้นน่าสนใจมากที่สุด และทำให้ผู้อื่น หรือผู้สนใจอ่านเข้าใจได้ง่าย ความจริงแล้ววิธีการเขียนงานวิจัยนั้น สามารถเขียนได้หลายวิธีสุดแล้วแต่ว่า ผู้วิจัยจะกำหนดออกมาในลักษณะใด อย่างไรก็ตามถึงแม้นว่ารูปแบบ และโครงสร้างของการเขียนในแต่ละบุคคล และแต่ละสถาบัน

โดยทั่วไปจะยึดตามหลักสากลว่า ส่วนประกอบของรายงานการวิจัยแบบฉบับสมบูรณ์ มักจะประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน ดังนี้

1. ส่วนนำ

ส่วนนำเป็นส่วนที่ให้รายละเอียดก่อนที่จะเข้าสู่ส่วนของเนื้อความ ซึ่งประกอบด้วย

1.1 ปกนอก เป็นส่วนแสดงรายละเอียดของชื่อเรื่องงานวิจัย ชื่อผู้วิจัย สถานที่ทำวิจัย และปีที่ทำวิจัย

1.2 ปกใน แสดงรายละเอียดเหมือนกับปกนอกทุกประการ

1.3 หน้าอนุมัติ (เฉพาะวิทยานิพนธ์/ การค้นคว้าอิสระ) เป็นส่วนแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับการอนุมัติให้งานวิจัยที่เป็นวิทยานิพนธ์/ การค้นคว้าอิสระเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร ในหน้านี้จะมีคณะกรรมการควบคุมการทำวิทยานิพนธ์/ การค้นคว้าอิสระ และคณะกรรมการสอบ ปรากฏชื่อพร้อมลายเซ็น

1.4 คำนำ หรือกิตติกรรมประกาศ เป็นส่วนแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับการขอบคุณผู้ที่มีส่วนช่วยเหลือในการทำวิทยานิพนธ์/ การค้นคว้าอิสระ โดยทั่วไปการเขียนคำนำ หรือกิตติกรรมประกาศ ผู้วิจัยควรขอบคุณผู้ที่มีส่วนช่วยเหลือในการทำวิจัยตามลำดับความสำคัญจากมากไปน้อย

1.5 บทคัดย่อ เป็นส่วนแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อเรื่อง ชื่อผู้วิจัย ชื่อที่ปรึกษา (ถ้ามี) แหล่งทุน (ถ้ามี) วัตถุประสงค์การวิจัย วิธีดำเนินการวิจัยแบบย่อ และผลของการวิจัยซึ่งส่วนใหญ่จะเขียนประมาณ 1–2 หน้า และต้องเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษประกอบกัน

1.6 สารบัญ สารบัญตาราง และสารบัญภาพประกอบ เป็นส่วนแสดงรายละเอียดของหัวข้อเนื้อหา ตาราง และภาพประกอบ พร้อมกับมีการระบุหมายเลขหน้าที่มีหัวเรื่อง ตาราง และภาพประกอบเหล่านี้ปรากฏอยู่

1.7 อักษรย่อและสัญลักษณ์ เป็นส่วนแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับอักษรย่อและสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการวิจัย

อย่างไรก็ตาม หากอักษรย่อและสัญลักษณ์ที่ใช้ในการวิจัยเหล่านี้ไม่ปรากฏในส่วนบทที่ 1 (บทนำ) บทที่ 2 (เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง) และบทที่ 3 (วิธีดำเนินการ) ผู้วิจัยอาจนำอักษรย่อและสัญลักษณ์ที่ช่วยในการแปลผลการวิจัยไปไว้ในบทที่ 4 ก่อนแสดงเนื้อหาผลการวิเคราะห์ข้อมูล ก็ได้

2. ส่วนเนื้อความ

ส่วนเนื้อความเป็นส่วนสำคัญที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการทำวิจัยทั้งหมด โดยส่วนใหญ่งานวิจัยจะแบ่งเป็น 5 บท ดังนี้

2.1 บทที่ 1 บทนำ จะแสดงรายละเอียดตามหัวข้อต่าง ๆ ดังนี้

2.1.1 ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา เป็นส่วนที่แสดงต้นตอของปัญหาในการวิจัยว่าเกิดจากอะไร โดยอาจจะเขียนจากมุมกว้างไปสู่มุมที่แคบลง เขียนอย่างสมเหตุสมผล และสำคัญที่สุด ควรใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย

2.1.2 วัตถุประสงค์ หรือความมุ่งหมายของการวิจัย เป็นส่วนที่บอกวัตถุประสงค์ว่างานวิจัยเรื่องนี้ต้องการศึกษาอะไร

2.1.3 ขอบเขตของการวิจัย เป็นส่วนแสดงขอบเขตของประชากร และขอบเขตของเนื้อหาหรือตัวแปรที่เราสนใจศึกษา

2.1.4 ข้อตกลงเบื้องต้น (ถ้ามี) เป็นส่วนที่แสดงความเชื่อ แนวคิด และทฤษฎีที่นำมาใช้ในการทำวิจัยครั้งนี้

2.1.5 สมมติฐาน (ถ้ามี) เป็นส่วนที่แสดงว่า ก่อนลงมือปฏิบัติการวิจัยนั้น ผู้วิจัยได้คาดเดาคำตอบการวิจัยไว้ว่าอย่างไร ถ้างานวิจัยเป็นงานเชิงเปรียบเทียบ เชิงหาความสัมพันธ์/ สาเหตุ จำเป็นที่ผู้วิจัยจะต้องกำหนดสมมติฐานไว้ล่วงหน้า แต่หากเป็นงานวิจัยเชิงสำรวจผู้วิจัย ก็ไม่จำเป็นต้องใส่สมมติฐาน

2.1.6 นิยามศัพท์เฉพาะ เป็นส่วนที่แสดงการอธิบายศัพท์บางคำที่ใช้กับงานวิจัยเรื่องนี้ โดยทั่วไปจะเป็นศัพท์เฉพาะสาขาวิชาที่ผู้อื่นไม่ค่อยรู้จัก หรือเป็นศัพท์ที่ใช้เฉพาะในการวิจัยเรื่องนี้

2.1.7 ประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัย เป็นส่วนที่แสดงประโยชน์ที่ได้จากงานวิจัย เรื่องนี้ ประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัย แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ (ก) ประโยชน์ในเชิงวิชาการ คือ ประโยชน์ที่ได้ค้นพบจากการทำวิจัยเรื่องนี้ ซึ่งสามารถดูได้จากวัตถุประสงค์ของงานวิจัยว่า เราได้องค์ความรู้อะไรบ้าง และ (ข) ประโยชน์ในการนำไปใช้ คือ ประโยชน์สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องว่าจะนำผลการวิจัยไปใช้ในด้านใดบ้าง

2.2 บทที่ 2 เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

เป็นส่วนที่แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับแนวคิดและทฤษฎีในเนื้อหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยเรื่องนี้ ส่วนใหญ่ในการเขียนจะเขียนส่วนที่เป็นแนวคิดและทฤษฎีก่อน แล้วจึงตามด้วยส่วนที่เป็นงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการทำวิจัยเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม การเขียนเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง หัวข้อต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ต้องสัมพันธ์กับงานวิจัย ผู้วิจัยควรเขียนในแนวการวิเคราะห์สังเคราะห์โดยในการเขียนต้องมีการอ้างอิงแหล่งที่มาและเขียนการอ้างอิงที่ถูกต้องตามหลักการเขียนการอ้างอิง และควรใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย ๆ

2.3 บทที่ 3 วิธีดำเนินการวิจัย

เป็นส่วนที่แสดงรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินการวิจัยตามหัวข้อต่อไปนี้

2.3.1 ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง/ แหล่งข้อมูล เป็นส่วนแสดงรายละเอียดว่า ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้หมายถึงใครบ้าง ขอบเขตถึงไหน หากมีการใช้กลุ่มตัวอย่างต้องแสดงว่าได้กลุ่มตัวอย่างมาโดยการสุ่มแบบใด และมีจำนวนหน่วยตัวอย่างเท่าไร และต้องพิจารณาว่ากลุ่มตัวอย่างที่ใช้สามารถให้ข้อมูลตามตัวแปร หรือวัตถุประสงค์ที่สนใจศึกษาครบทั้งหมดหรือยัง

2.3.2 เครื่องมือในการวิจัย เป็นส่วนแสดงรายละเอียดว่ามีเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยกี่ชนิด แต่ละชนิดมีลักษณะเป็นอย่างไร มีวิธีการดำเนินการสร้างอย่างไร มีการหาคุณภาพและได้ผลเป็นอย่างไร
อย่างไรก็ตาม เครื่องมือในการวิจัยผู้วิจัยอาจใช้วิธียืมจากงานวิจัยอื่นที่มีการสร้างและมีคุณภาพมาใช้ในงานวิจัยได้ โดยอาจมีการหาคุณภาพซ้ำอีกครั้งก่อนนำไปรวบรวมข้อมูลจริงต่อไป

2.3.3 การเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นส่วนแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับการรวบรวมข้อมูลว่า ผู้วิจัยได้เก็บรวบรวมข้อมูลในแต่ละขั้นตอนอย่างไร ในแต่ละขั้นตอนใช้เครื่องมือชุดไหนในการเก็บรวบรวมข้อมูล และใครเป็นผู้เก็บรวบรวมข้อมูล ซึ่งการรวบรวมข้อมูลต้องครอบคลุมวัตถุประสงค์ที่ต้องการศึกษาทั้งหมดด้วย

2.3.4 การวิเคราะห์ข้อมูลและสถิติที่ใช้ เป็นส่วนแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดในการทำวิจัยเรื่องนี้ ผู้วิจัยอาจแบ่งการวิเคราะห์ข้อมูลและสถิติที่ใช้เป็น 2 ส่วน คือ (ก) การวิเคราะห์ข้อมูลและสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์คุณภาพเครื่องมือ และ (ข) การวิเคราะห์ข้อมูลและสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ผลการวิจัย

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยบางเรื่องอาจมีเกณฑ์ในการแปลผลการวิเคราะห์ ผู้วิจัยสามารถเขียนต่อท้ายจากหัวข้อการวิเคราะห์ข้อมูลและสถิติที่ใช้ได้เลย

2.4 บทที่ 4 ผลการวิเคราะห์ข้อมูล

จะเป็นการแสดงรายละเอียดการวิเคราะห์ข้อมูลในการวิจัยตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยที่ตั้งไว้ การนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลจะเขียนตามลำดับวัตถุประสงค์ในการวิจัย

ในการนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูล อาจนำเสนอในรูปข้อความ ข้อความกึ่งตาราง หรือตาราง หรือรูปภาพก็ได้ตามความเหมาะสม อย่างไรก็ตามในการนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูล ผู้วิจัยจะต้องนำเสนอผลการวิเคราะห์ไปตามความจริง การแปลผลควรแปลผลเฉพาะประเด็นสำคัญ ไม่เขียนวกวนซ้ำซ้อน ต้องระมัดระวังการคัดลอกตัวเลขและการแปลความ และที่สำคัญห้ามนำความคิดเห็นของผู้วิจัยเข้าไปอธิบายประกอบ

บางครั้งในการวิเคราะห์ข้อมูลอาจมีอักษรย่อและสัญลักษณ์จำนวนมาก ผู้วิจัยอาจนำเสนออักษรย่อและสัญลักษณ์ก่อนที่จะนำเข้าสู่การนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลก็ได้

2.5 บทที่ 5 บทสรุป

เป็นส่วนแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับบทสรุปผลการวิจัย อภิปรายผล และข้อเสนอแนะ ซึ่งเป็นบทสุดท้ายในส่วนของเนื้อความ รายละเอียดของบทนี้ ประกอบด้วย

2.5.1 สรุปผลการวิจัย เป็นส่วนแสดงบทสรุปความสำคัญจากงานวิจัย โดยส่วนใหญ่จะแสดงวัตถุประสงค์งานวิจัย วิธีดำเนินการวิจัย และผลการวิจัยที่ค้นพบ ในหัวข้อนี้จะเป็นการเขียนด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ไม่นำเสนอตัวเลขทางสถิติที่ซับซ้อน โดยถือว่าเป็นสรุปสาระสำคัญของการทำวิจัยเรื่องนั้นจริง ๆ

2.5.2 อภิปรายผล เป็นส่วนแสดงการให้เหตุผลว่าทำไมงานวิจัยจึงได้ผลเช่นนั้น ข้อค้นพบเป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้หรือไม่ ในการอภิปราย ผู้วิจัยควรอภิปรายผลการวิจัยโดยอาศัยแนวคิด ทฤษฎี และผลการวิจัยต่าง ๆ ที่ได้สรุปไว้ในบทที่ 2 ว่าผลการวิจัยมีความเหมือนความต่างจากงานวิจัย หรือจากแนวคิดทฤษฎีของผู้อื่นที่ได้สรุปไว้ในบทที่ 2 อย่างไรในการอภิปรายผลผู้วิจัยสามารถใช้ความคิดเห็นส่วนตัวประกอบได้

2.5.3 ข้อเสนอแนะ เป็นส่วนของการนำเสนอความคิดเห็นของผู้วิจัยให้ผู้อ่านทราบว่าเมื่อนำงานวิจัยเรื่องนี้ไปใช้ ผู้วิจัยจะมีข้อเสนอแนะอะไรบ้าง และหากจะวิจัยในครั้งต่อไปผู้วิจัยจะเสนอแง่มุมให้นักวิจัยคนอื่นอย่างไร โดยทั่วไปหัวข้อของข้อเสนอแนะจะแบ่งเป็น 2 หัวข้อ คือ (ก) ข้อเสนอแนะสำหรับการนำผลการวิจัยไปใช้ และ (ข) ข้อเสนอแนะสำหรับการวิจัยครั้งต่อไป

3. ส่วนประกอบตอนท้าย

เป็นส่วนอ้างอิงและสนับสนุนเพื่อให้งานวิจัยเรื่องนี้ให้มีความน่าเชื่อถือ มีรายละเอียดตามหัวข้อต่าง ๆ

เรียบเรียงจาก:

1.ประสบการณ์ของผู้เรียบเรียง

2. การเขียนรายงานการวิจัย

http://pioneer.netserv.chula.ac.th/~jaimorn/re10.htm

3. สน สุวรรณ

https://www.researcherthailand.co.th/การเขียนรายงานการวิจัย/

โพสท์ใน KM:ด้านการวิจัย, คณะนิเทศศาสตร์, แนวทางการผลิตงานวิจัยเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ | ใส่ความเห็น

อัพเดท DaVinci Resolve version 17

อาจารย์สิทธิโชค โควาบุญพิทักษ์ เรียบเรียง


DaVinci Resolve version 17 ได้สร้างแอปพลิเคชันรวบรวมการแก้ไข การจัดระดับสี การตัดต่อภาพยนตร์ การตกแต่งเสียง การทำกราฟฟิก  โดยการสร้างรวมไว้ในแอปพลิเคชันเดียว

DaVinci Resolve 17

มีการแก้ไขคุณสมบัติใหม่ที่สำคัญ ได้แก่

Fairlight Audio Core เป็นเอ็นจิ้นที่ล้ำสมัย ใช้เวลารวดเร็วที่จัดการเวิร์กโหลด โดยใช้คอร์และเธรด CPU ทั้งหมดรวมถึงการ์ด Fairlight Audio Accelerator ที่เป็นอุปกรณ์เสริม สิ่งนี้ช่วยให้เราสามารถจัดการแทร็ก EQ ได้มากถึง 2000 แทร็ก, มีโปรเซสเซอร์ไดนามิกและ 6 ปลั๊กอินสำหรับแต่ละแทร็กในระบบเดียว

  • การจัดการสีขั้นสูง
  • การซิงค์คลิปกล้องหลายตัวที่ง่ายขึ้น
  • สำหรับเวอร์ชันฟรี ให้การทำงานกับพร็อกซีได้ เพิ่มเครื่องมือการทำงานร่วมกันที่ช่วยให้หลายๆ คนสามารถมีส่วนร่วมพร้อมกันในการดำเนินโครงการเดียวกัน

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือในไฟล์ มีเครื่องมือการไล่ลำดับสี พร้อม Graticule นี้ให้ ให้แก้ไขสองพารามิเตอร์พร้อมกัน ตัวอย่างเช่น สีและความอิ่มตัว หรือ ส่วนของความสว่าง  การปรับเปลี่ยนทำได้โดยการลากจากจุดควบคุม จึงให้ความสามารถในการค่อยๆจางลงเพื่อให้ดูคมชัดและเป็นธรรมชาติมากขึ้น เป็นวิธีเปลี่ยนสีในภาพที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

  • การรวมแผงการตรวจสอบ
  • แก้ไขอย่างรวดเร็วด้วยเมาส์และคีย์บอร์ด FlexBus ซึ่งรองรับได้ถึง 26 ช่องสัญญาณ
  • ความสามารถในการประมวลผลเพลงได้มากถึง 2000 แทร็กแบบเรียลไทม์ โหมดแสดงวิดีโอสด (Live VDO)
  • คุณสมบัติของมาสก์ที่กำหนดโดยอิงตามอัลกอริทึมของเครื่อง

การเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ที่โดดเด่น

      สามารถกำหนดการลดทอนสีในวงกลมสี HDR เฉพาะเพื่อการควบคุมที่สร้างสรรค์มากขึ้นเมื่อทำการปรับแต่งอย่างละเอียด

      นอกจากนี้ ยังสามารถใช้การผสมภาพ เปลี่ยนแปลง การแก้ไขชื่อเรื่อง ที่เน้นเอฟเฟกต์

ตัวเลือกเพิ่มเติมใหม่จะถูกเน้นสำหรับเสียงหลังการประมวลผล ในแฟร์ไลท์ รวมถึงการปรับปรุงเครื่องมือและคุณสมบัติที่เป็นนวัตกรรมใหม่เพื่อมอบคุณภาพที่โปรแกรมอื่นไม่สามารถเทียบได้ในระหว่างขั้นตอนหลังการผลิตเสียง

     ใน DaVinci Resolve 17 มีปลั๊กอิน Resolve FX ใหม่ 11 ตัว  โดดเด่นในการปรับปรุงพื้นผิว กู้คืนรายละเอียดดำเนินการอินเลย์ 3D, HSL และลูมา, การแปลงวิดีโอและการลดสัญญาณรบกวน, สร้างลูปการเคลื่อนไหว, เบลอ, และการเชื่อมต่อภาพ

     DaVinci Resolve 17 มีการอัปเกรดครั้งใหญ่ของโปรแกรม  มีฟังก์ชั่นใหม่มากกว่า 100 รายการและการปรับปรุง 200 รายการ

  • ปรับขนาดรูปคลื่นให้พอดีกับแทร็กเสียง
  • ปรับปรุงเครื่องมือตัดต่อและสร้างวิดีโอ
  • แป้นพิมพ์เพื่อเร่งความเร็วในการประมวลผลเสียง
  • พื้นที่สี DaVinci Wide Gamut, แผนภูมิมาตรวัดที่อัปเดต
  • แยกการแสดงข้อมูล และการจัดประเภทคลิป
  • แก้ไขการควบคุมสำหรับการแก้ไขสีหลัก

เวอร์ชันฟรีจะเพิ่มเครื่องมือการทำงานร่วมกันที่ช่วยให้หลาย ๆ คนสามารถมีส่วนร่วมพร้อมกันในการดำเนินโครงการเดียวกัน

  • โหมดหน้าจอแยกใหม่
โพสท์ใน KM:ด้านการผลิตบัณฑิต, การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ, คณะนิเทศศาสตร์ | ใส่ความเห็น

พิธีประสาทปริญญาบัตร ครั้งที่ 24 มหาวิทยาลัยเนชั่น

พิธีประสาทปริญญาบัตร ครั้งที่ 24 ณ อัฒจันทร์กลางแจ้ง มหาวิทยาลัยเนชั่น เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 เป็นพิธีประสาทปริญญาบัตรริมอ่างตระพังดาว ที่สวยงาม และเป็นธรรมชาติ เป็นพิธีที่ครู อาจารย์ รุ่นพี่ รุ่นน้องพร้อมใจกัน ร่วมแสดงความยินดีกับบัณฑิตและมหาบัณทิต โดยกำหนดการจัดขึ้น 2 วัน คือ ฝึกซ้อมรับปริญญาบัตร ในวันอังคารที่ 25 มกราคม 2565 และพิธีประสาทปริญญาบัตร ในวันพุธที่ 26 มกราคม 2565 ติดตามภาพบรรยากาศได้จาก

คลิปพิธี
ที่ https://www.facebook.com/ju.kudle.ang/posts/10217547064783433
ชุด 32 ภาพ
ที่ https://www.facebook.com/NTUnationuniversity/posts/4703810329696015
มีสูจิบัตรให้อ่านในกลุ่ม NationU staff

มีประกาศเกียรติคุณผู้ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ได้แก่
– นายบุญเกียรติ โชควัฒนา
– นายมลฑล มานิตย์

โดย ศ.(วุฒิคุณ) ดร.นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์
นายกสภามหาวิทยาลัยเนชั่น มาเป็นประธานในพิธี

https://www.facebook.com/ju.kudle.ang/posts/10217547064783433

ซึ่งปีนี้ มีบัณฑิตที่มีคะแนนสะสมเฉลี่ยตลอดหลักสูตร
เข้ารับเกียรติบัตรหน้าเวที มีดังนี้
ปีการศึกษา 2562
นายพิทวัส วงค์ม่าน ปริญญารัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต
ปีการศึกษา 2563
นางสาวกวินนา แซ่ท้าว ปริญญาสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต
ปีการศึกษา 2564
นางสาวธีร์ตา มาเก็ต ปริญญารัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต

โพสท์ใน งานประชาสัมพันธ์ รับนักศึกษา, ทั่วไป | ติดป้ายกำกับ , | ใส่ความเห็น

กลุ่มระบบที่เสมือนอีกกลุ่มแนวทางการดำเนินงานของหลักสูตร

ฟังกรรมการประเมินหลักสูตรแล้ว และได้ให้ข้อเสนอแนะเรื่องระบบ
ทำให้นึกถึงคุณต่าย กาญจนา ที่จัดทำคู่มือฯ
และมีระบบต่าง ๆ ให้ดำเนินการ
ถือว่าเป็น “กลุ่มระบบที่เสมือนอีกกลุ่มแนวทางการดำเนินงานของหลักสูตร”
พบใน คู่มือการประกันคุณภาพการศึกษาภายใน มหาวิทยาลัยเนชั่น
ได้ให้แนวทางเป็นระบบ หรือกระบวนการทำงาน
ที่สอดรับกับองค์ประกอบ และตัวบ่งชี้การประกันคุณภาพการศึกษาระดับหลักสูตร
ไว้ทั้งหมด 8 ระบบ ดังนี้
1. ระบบการรับและการแต่งตั้งอาจารย์ประจำหลักสูตรและบุคลากร p.155 [k4.1]
2. ระบบการส่งเสริมและพัฒนาอาจารย์และบุคลากร p.156 [k4.1]
3. ระบบกลไกการรับนักศึกษา p.161 [k3.1]
4. ระบบการส่งเสริมและพัฒนานักศึกษาด้านกิจกรรม p.165 [k3.2]
5. ระบบการพัฒนา/ออกแบบหลักสูตร p.183 [k5.1]
6. ระบบผู้สอนและกระบวนการจัดการเรียนการสอน p.184 [k5.2]
7. ระบบการประเมินผู้เรียน p.185 [k5.3]
8. ระบบการดำเนินงานการจัดสิ่งสนับสนุนการเรียนรู้ p.192 [k6.1]
http://it.nation.ac.th/intranet/handbooks/
ซึ่งคู่มือต่าง ๆ คุณเปรม อุ่นเรือน รวบรวมไว้ให้ใช้อ้างอิงประกอบการทำงาน

 

โพสท์ใน งานประกันคุณภาพการศึกษา | ใส่ความเห็น

รายงานสืบเนื่องจากการประชุมทางวิชาการและนำเสนอผลงานวิจัยระดับชาติ ครั้งที่ 18

Proceeding คือ การตีพิมพ์ในรายงานสืบเนื่องจากการประชุม
ซึ่งในการประชุมทางวิชาการและนำเสนอผลงานวิจัยระดับชาติ ครั้งที่ 18
เรื่อง ก้าวนำสังคมวิถีชีวิตใหม่ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม
วันที่ 3 – 4 กรกฎาคม 2564
ผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (Yealink Meeging) มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น
http://it.nation.ac.th/download/Proceeding_WTU_18_1.pdf
พบว่า มีผลงานวิชาการที่น่าสนใจหลายเรื่อง ที่อ่านทบทวนวรรณกรรมได้
เช่น 1) การคัดแยกแบคทีเรียจากข้าวแต๋นน้ำแตงโมราดน้ำอ้อย จังหวัดลำปาง
2) ความผูกพันของนิสิตระดับปริญญาตรีต่อมหาวิทยาลัยเนชั่น กรณีศึกษา
นิสิตที่ได้รับทุนการศึกษาโครงการทุนการศึกษาปริญญาตรีเฉลิมพระเกียรติ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเพื่อเยาวชนจังหวัดน่าน
โดยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเนชั่น และธนาคารกสิกรไทย
3) ประสิทธิผลของโปรแกรมการสร้างเสริมสุขภาพด้วยการใช้สมาธิบำบัด SKT
ในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ที่ควบคุมไม่ได้และมีความเครียดร่วมด้วย
ที่มารักษาในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพบ้านศรีหมวดเกล้า
ตำบลชมพู อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง
4) ความรอบรู้ด้านสุขภาพและพฤติกรรมสุขภาพตามหลัก 3อ. 2ส.
ของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านโทกหัวช้าง
ตำบลพระบาท อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง
5) การพัฒนาหุ่นจำลองโทษพิษภัยบุหรี่
6) การออกแบบตราสินค้าของกลุ่มผู้สูงอายุองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งกว๋าว
อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง
7) การสำรวจการบริหารจัดการองค์กรสาธารณประโยชน์และองค์กร
สวัสดิการชุมชนในจังหวัดลำปาง
8) ผู้บริหารสถานศึกษากับการพัฒนาครูผู้สอนในยุคดิจิทัล
9) การจัดการศึกษากับเศรษฐกิจและสังคมไทย

โพสท์ใน KM:ด้านการวิจัย | ติดป้ายกำกับ | ใส่ความเห็น

อธิการบดี แนะนำมหาวิทยาลัยเนชั่น

หลังจากท่านดูคลิปนี้แล้ว

จงตอบคำถามต่อไปนี้
1. มหาวิทยาลัยเนชั่น เป็นมหาวิทยาลัยแห่งอะไร
……………………………………………………….
2. ปี 2564 มหาวิทยาลัยเนชั่นมีอายุเท่าไร
……………………………………………………….
3. มหาวิทยาลัยเนชั่น พัฒนาหลักสูตรให้เป็นที่ต้องการของสังคม โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับด้านใด
……………………………………………………….
4. เชื้อไวรัสอะไรที่มีผลต่อคนทั้งโลก
……………………………………………………….
5. มหาวิทยาลัยมุ่งเน้นให้ทุกคนปลอดภัยจากอะไร
……………………………………………………….
6. มหาวิทยาลัยจะมีส่วนที่จะนำอะไรมาฉีดให้กับนิสิตทุกคน
……………………………………………………….
7. นโยบายหลักด้านความเป็นอยู่คืออะไร
……………………………………………………….
8. นอกจากจบไปเป็นบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถแล้ว ยังจะต้องมีอะไร
……………………………………………………….
9. มหาวิทยาลัยเนชั่น ตั้งอยู่ที่ตำบลอะไร
……………………………………………………….
10. Line ID คืออะไร
……………………………………………………….

เฉลย
1. มหาวิทยาลัยแห่งโอกาส
2. 33 ปี
3. วิทยาศาสตร์สุขภาพ
4. Covid-19
5. Covid-19
6. วัคซีน
7. ให้นิสิตทุกคนได้อยู่ในสถาบันการศึกษา
8. เครือข่ายพี่และน้อง
9. ตำบลพระบาท
10. @nation_official

โพสท์ใน KM:ด้านการผลิตบัณฑิต | ติดป้ายกำกับ | ใส่ความเห็น

การชี้แจง กรอบการวิจัยและนวัตกรรม และผลสําเร็จ

ผลสําเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรม

ผลสําเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรม

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ขอเชิญเข้าร่วมรับฟังการชี้แจง กรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจําปีงบประมาณ 2565 และแถลงผลสําเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรม NRCT Open House 2021 ระหว่างวันที่ 18 – 25 กรกฎาคม 2564 ผ่านระบบออนไลน์ ใน 8 ด้าน ดังนี้
1) ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (18 กรกฎาคม 2564)
2) ด้านการพัฒนาเส้นทางอาชีพนักวิจัยและนวัตกรรม และการวิจัยเพื่อฐานทางวิชาการ (19 กรกฎาคม 2564)
3) ด้านเศรษฐกิจและการเกษตร และด้านสัตว์เศรษฐกิจ (20 กรกฎาคม 2564)
4) ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม (21 กรกฎาคม 2564)
5) ด้านการรองรับสังคมสูงวัย (22 กรกฎาคม 2564)
6) ด้านสังคมและความมั่นคง (23 กรกฎาคม 2564)
7) ด้านการรองรับการระบาดของโรคโควิด-19และรองรับโรคติดต่ออุบัติใหม่ (24 กรกฎาคม 2564)
8) ด้านการจัดการความรู้การวิจัยและถ่ายทอดเพื่อการใช้ประโยชน์ (25 กรกฎาคม 2564)

https://www.facebook.com/nrctofficial/videos
https://www.scribd.com/document/516552580/

โพสท์ใน KM:ด้านการวิจัย | ติดป้ายกำกับ , | ใส่ความเห็น